คำถามที่พบบ่อย
หน้าแรก > เกี่ยวกับเรา > คำถามที่พบบ่อย
คำถามที่พบบ่อย
frequently asked questions
การซื้อขายอ้อยตามค่าความหวานเป็นอย่างไร
การซื้อขายอ้อยตามค่าความหวานเริ่มใช้ตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2535/36 เป็นต้นมา โดยกำหนดให้ซื้อขายอ้อยตามคุณภาพความหวานวัดเป็น ซี.ซี.เอส. (Commercial Cane Sugar : C.C.S.) ซึ่งหมายความว่า ราคาอ้อยจะผันแปรไปตามคุณภาพหรือความหวาน ดังนั้น หากอ้อยมีความหวานมาก คือมีค่า ซี.ซี.เอส. สูง ชาวไร่อ้อยจะได้รับราคาอ้อยสูงขึ้นด้วย
C.C.S. คืออะไร
ย่อมาจากคำว่า Commercial Cane Sugar เป็นระบบการคิดคุณภาพของอ้อย ซึ่งได้นำแบบอย่างมาจากระบบการซื้อขายอ้อยของประเทศออสเตรเลีย
คำว่า C.C.S. หมายถึง ปริมาณของน้ำตาลที่มีอยู่ในอ้อย ซึ่งสามารถหีบสกัดออกมาได้เป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ซึ่งตามมาตรฐาน C.C.S. กำหนดวิธีคิดว่า ในระหว่างผ่านกรรมวิธีการผลิต ถ้ามีสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ที่ละลายอยู่ในน้ำอ้อย 1 ส่วน จะทำให้สูญเสียน้ำตาลไป 50% ของจำนวนสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ อ้อย 10 C.C.S. จึงหมายถึง เมื่อนำอ้อยมาผ่านกระบวนการผลิต จะได้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 10% ดังนั้น อ้อย 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม จะได้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 100 กิโลกรัม
สูตรการคิดคำนวณราคาอ้อยเป็นอย่างไร
ราคาอ้อย = รายได้ส่วนที่ 1 + (รายได้ส่วนที่ 2 X ค่า ซี.ซี.เอส. ที่ได้) + รายได้จากกากน้ำตาล
รายได้ส่วนที่ 1 = รายรับจากการขายน้ำตาลที่คิดตามน้ำหนัก (สัดส่วน ร้อยละ 40)
รายได้ส่วนที่ 2 = รายรับจากการขายน้ำตาลที่คิดตามค่าความหวาน (สัดส่วน ร้อยละ 60)
ยกตัวอย่าง
รายได้ส่วนที่ 1 = รายรับจากการขายน้ำตาลที่คิดตามน้ำหนัก คือ 200 บาท/ตันอ้อย
รายได้ส่วนที่ 2 = รายรับจากการขายน้ำตาลที่คิดตามค่าความหวาน คือ 40 บาท/ตันอ้อย/ 1 C.C.S.
ค่า ซี.ซี.เอส = 12 C.C.S.
รายได้จากกากน้ำตาล = 20 บาท/ตันอ้อย
ราคาอ้อย = 200 + (40 X 12) + 20 = 700 บาท/ตันอ้อย
พันธุ์อ้อยที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแนะนำ
ตามประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง กำหนดพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยปลูกในท้องที่ที่คณะกรรมการกำหนด พ.ศ.2548 มีจำนวน 35 พันธุ์ ซึ่งจะมีความเหมาะสมแตกต่างกันไปตามพื้นที่เพาะปลูกของแต่ละภาค ผู้สนใจสามารถติดต่อขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- สำนักพัฒนาอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โทร 0 2202 3069
- ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคต่าง ๆ 4 แห่ง ได้แก่
- ภาค 1 กาญจนบุรี โทร 0 3469 8189
- ภาค 2 กำแพงเพชร โทร 0 5585 0844 – 5
- ภาค 3 ชลบุรี โทร 0 3834 1981 – 2
- ภาค 4 อุดรธานี โทร 0 4239 8544
มูลค่าการผลิตและรายได้ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นแหล่งสร้างงานแก่เกษตรชาวไร่อ้อยและแรงงานเก็บเกี่ยวอ้อยในชนบทกว่า 600,000 คน ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกและจำหน่ายน้ำตาลทรายให้ประเทศกว่าปีละ 80,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าการบริโภคภายในประเทศ ประมาณ 2 ใน 3 ของผลผลิตน้ำตาล
น้ำตาลโควตา ก. โควตา ข. โควตา ค คือ อะไร
น้ำตาลโควตา ก. คือ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ และน้ำตาลชนิดอื่นๆ ที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดให้ผลิตสำหรับบริโภคภายในประเทศ สำหรับปี 2550/2551 กำหนดไว้ที่จำนวน 19 ล้านกระสอบ (กระสอบละ 100 กิโลกรัม)
น้ำตาลโควตา ข. คือ น้ำตาลทรายดิบที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดให้ผลิตเพื่อส่งมอบให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ส่งออกและจำหน่ายไปยังต่างประเทศ จำนวน 8 แสนตันเพื่อใช้ทำราคาในการคำนวณราคาน้ำตาลส่งออก
น้ำตาลโควตา ค. คือ ปริมาณน้ำตาลส่งออกไปต่างประเทศ เป็นส่วนที่เหลือโดยหักน้ำตาลโควตา ก และโควตา ข ออกจากปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ทั้งหมด
ราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ
ราคาน้ำตาลภายในประเทศมีกระทรวงรับผิดชอบทั้งหมด 2 กระทรวง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นผู้กำหนดราคาน้ำตาลทราย ณ หน้าโรงงาน ส่วนกระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและบริการ เป็นผู้กำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายขายปลีก
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา ราคาขายส่ง ณ หน้าโรงงานสำหรับน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กำหนดไว้ที่ 1,100 และ 1,200 บาทต่อกระสอบ ส่วนราคาขายปลีกกำหนดไว้ที่ 12 และ 13 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ และมีการปรับขึ้นราคาเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาที่สำคัญ ดังนี้
- พ.ศ. 2541 ได้มีการปรับเพิ่มราคาขายปลีกเป็น 12.50 และ 13.50 บาทต่อกิโลกรัม
- พ.ศ. 2543 ได้มีการบวกภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าทุกประเภท 7% เป็นผลให้ราคาขายส่งน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาล ทรายขาวบริสุทธิ์ปรับเป็น 1,177 และ 1,284 บาทต่อกระสอบ ตามลำดับ ส่วนราคาขายปลีกอยู่ที่ 13.25 และ 14.25 บาทต่อกิโลกรัม
- พ.ศ. 2549 คณะรัฐมนตรีอนุมัติปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานอีก 3 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เนื่องจากต้นทุนการผลิตอ้อยของไทยสูงขึ้น และราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เกิดการลักลอบนำน้ำตาลทรายไปขายประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ราคาน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงานอยู่ที่ 14 บาทต่อกิโลกรัม ราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม และราคาขายปลีกอยู่ที่ 17.50 บาท และ 18.50 บาทต่อกิโลกรัมตามลำดับ
- ครั้งล่าสุดเมื่อ เมษายน 2551 คณะรัฐมนตรีอนุมัติปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานอีก 5บาทต่อกิโลกรัมเพื่อแก้ปัญหาราคาอ้อยให้แก่ชาวไร่อ้อยที่มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงานอยู่ที่ 19 บาทต่อกิโลกรัม ราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ 20 บาทต่อกิโลกรัม และราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ระดับ 21.50 บาทและ 22.50 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ
- การจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศปัจจุบัน (พ.ศ.2555) เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดราคาและหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการจำหน่ายน้ำตาลทราย ปี 2555 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งจะเป็นผลให้ราคาน้ำตาลทรายในแต่ละสถานที่ส่งมอบ และพื้นที่จำหน่ายมีราคาขายแตกต่างกัน ดังนี้
- ราคาจำหน่ายส่ง (ราคารวมกระสอบ) ส่งมอบ ณ โรงงาน ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
(ก) น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กระสอบละ (ปริมาณน้ำตาลทรายสุทธิห้าสิบกิโลกรัม) 1,070.00 บาท
(ข) น้ำตาลทรายขาวเกรด 1 และเกรด 2 กระสอบละ (ปริมาณน้ำตาลทรายสุทธิห้าสิบกิโลกรัม) 1,016.50 บาท
(ค) น้ำตาลทรายขาวเกรด 3 กระสอบละ (ปริมาณน้ำตาลทรายสุทธิห้าสิบกิโลกรัม) 1,016.50 บาท - ราคาจำหน่ายส่ง (ราคารวมกระสอบ) ส่งมอบ ณ สถานที่จำหน่ายของผู้จำหน่ายส่ง ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
(ก) น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กระสอบละ (ปริมาณน้ำตาลทรายสุทธิห้าสิบกิโลกรัม) 1,104.75 บาท
(ข) น้ำตาลทรายขาวเกรด 1 และเกรด 2 กระสอบละ (ปริมาณน้ำตาลทรายสุทธิห้าสิบกิโลกรัม) 1,051.25 บาท
(ค) น้ำตาลทรายขาวเกรด 3 กระสอบละ (ปริมาณน้ำตาลทรายสุทธิห้าสิบกิโลกรัม) 1,038.00 บาท - ราคาจำหน่ายจำหน่ายปลีก ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
(ก) น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กิโลกรัมละ (ปริมาณน้ำตาลทรายสุทธิหนึ่งกิโลกรัม) 22.85 บาท
(ข) น้ำตาลทรายขาวเกรด 1 และเกรด 2 กิโลกรัมละ (ปริมาณน้ำตาลทรายสุทธิหนึ่งกิโลกรัม) 21.85 บาท
(ค) น้ำตาลทรายขาวเกรด 3 (น้ำตาลทรายสีรำ) กิโลกรัมละ (ปริมาณน้ำตาลทรายสุทธิหนึ่งกิโลกรัม) 21.35 บาท
- ราคาจำหน่ายส่ง (ราคารวมกระสอบ) ส่งมอบ ณ โรงงาน ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
นอกจากนี้ หากมีการแบ่งบรรจุภาชนะเป็นถุงย่อยปริมาณน้ำตาลทรายสุทธิหนึ่งกิโลกรัมจะมีการคิดค่าภาชนะบรรจุได้ไม่เกินกิโลกรัมละ
0.70 บาท และ 0.75 บาทสำหรับกรณีจำหน่ายส่งและจำหน่ายปลีกตามลำดับ
กรณีตัวอย่าง ราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์บรรจุถุงสำเร็จรูปปริมาณน้ำตาลทรายสุทธิหนึ่งกิโลกรัมในเขตกรุงเทพมหานครจะเท่ากับ 22.85 + 0.75 = 23.60 บาท ซึ่งทั่วไปจะจำหน่ายที่ราคา 23.50 บาท
องค์กรและสถาบันชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล
ปัจจุบัน สถาบันชาวไร่อ้อยมีหลายสถาบัน ส่วนสถาบันชาวไร่อ้อยตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 (ณ มกราคม 2552) มีทั้งสิ้น 29 สถาบัน ซึ่งทุกสถาบันต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน กล่าวคือมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 600 คน ต้องมีปริมาณอ้อยส่งเข้าโรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 และทั้ง 29 สถาบัน ได้รวมตัวเป็น 3 องค์กรชาวไร่อ้อยประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน
โรงงานน้ำตาลในประเทศมีรวม 47 โรงงาน (ฤดูการผลิต 2552/53 ทำการผลิต 46 แห่ง) ได้ก่อตั้งเป็น 3 สมาคมโรงงานได้แก่ สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล สมาคมการค้าผู้ผลิตน้ำตาลไทย สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย
หัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย / หัวหน้าโควตา
คือ บุคคลที่โรงงานน้ำตาลทำสัญญาให้รวบรวมจัดหาอ้อยส่งให้กับโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่มักเป็นชาวไร่อ้อยที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยจำนวนมาก หัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยเป็นผู้ติดต่อกับโรงงานและรับจัดสรรปริมาณอ้อยที่จะส่งให้โรงงานในแต่ละฤดูหีบ โควตาที่ได้รับถ้าเกินกำลังปริมาณที่ตนผลิตได้ ก็จะนำส่วนเกินนี้ไปจัดสรรและทำสัญญากับชาวไร่อ้อยขนาดเล็กที่ตนรู้จัก ให้ครบตามจำนวนโควตาที่ได้รับจากโรงงานและดูแลควบคุมชาวไร่อ้อยรายเล็กแต่ละราย เพื่อให้ผลิตอ้อยได้ตามปริมาณที่ได้รับการจัดสรร
เงินเกี๊ยวหรือเงินบำรุงอ้อย
ในทางนิติกรรม คือ เงินมัดจำในการขายอ้อยล่วงหน้านั่นเอง โดยชาวไร่ทำสัญญาขายอ้อยให้โรงงานและโรงงานจ่ายเงินมัดจำเป็นเช็คล่วงหน้า ซึ่งชาวไร่มักนำไปขายลดกับธนาคารที่โรงงานมีเครดิตอยู่ แต่ก็มีชาวไร่บางรายที่เก็บเช็คไว้รอเข้าบัญชีเมื่อเช็คครบกำหนดในช่วงที่มีการส่งอ้อยเข้าโรงงาน สำหรับการให้เงินเกี๊ยวผ่านหัวหน้าโควตานั้น หัวหน้าโควตามักจะนำเงินเกี๊ยวไปปล่อยต่อให้ลูกไร่ของตนในลักษณะเดียวกัน
พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เป็นกฎหมายที่กำกับดูแลระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตั้งแต่การบริหารจัดการในไร่อ้อย การผลิตในโรงงานน้ำตาล และการส่งออก ตลอดจนการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รักษาการให้เป็นไปตามกฎหมาย
โครงสร้างการบริหารระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จะประกอบด้วยคณะกรรมการ 5 คณะ ดังนี้
- คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีหน้าที่กำหนดนโยบายเพื่อบริหารจัดการระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย กำหนดระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติและมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการคณะอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด กอน. ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายราชการ 5 คน ผู้แทนฝ่ายชาวไร่อ้อย 9 คน และผู้แทนฝ่ายโรงงาน 7 คน
- คณะกรรมการบริหาร (กบ.) มีหน้าที่หลักในการให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อ กอน. และควบคุมการปฏิบัติงานของคณะกรรมการอ้อยและคณะกรรมการน้ำตาลทรทราย กบ. ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายราชการ 3 คน ผู้แทนฝ่ายชาวไร่อ้อย 5 คน ผู้แทนฝ่ายโรงงาน 4 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน
- คณะกรรมการอ้อย (กอ.) มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อ กอน. และ กบ. ในกิจการเกี่ยวกับเรื่องอ้อย กอ. ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายราชการ 4 คน ผู้แทนฝ่ายชาวไร่อ้อย 6 คน และผู้แทนฝ่ายโรงงาน 4 คน มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อ กอน. และ กบ. ในกิจการเกี่ยวกับเรื่องอ้อย กอ. ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายราชการ 4 คน ผู้แทนฝ่ายชาวไร่อ้อย 6 คน และผู้แทนฝ่ายโรงงาน 4 คน
- คณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อ กอน. และ กบ. ในกิจการเกี่ยวกับเรื่องน้ำตาลทราย กน. ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายราชการ 5 คน ผู้แทนฝ่ายชาวไร่อ้อย5 คน และผู้แทนฝ่ายโรงงาน 5 คน
- คณะกรรมการบริหารกองทุน (กท.) มีหน้าที่กำหนดระเบียบว่าด้วยการเก็บรักษา การหาผล ประโยชน์และการใช้จ่ายเงินกองทุน และ บริหารควบคุมการปฏิบัติงานกองทุนให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด กท. ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายราชการ 6 คน ผู้แทนฝ่ายชาวไร่อ้อย 3 คน และผู้แทนฝ่ายโรงงาน 3 คน
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งนี้ สอน. มีภารกิจเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายกำกับดูแล ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีเสถียรภาพ โดยการกำหนดนโยบายส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งสร้างความเป็นธรรมและรักษาผลประโยชน์ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและผู้บริโภค
เปรียบเทียบปริมาณวัตถุดิบระหว่าง อ้อย มันสำปะหลังและข้าวฟ่างหวาน เมื่อนำมาผลิตเอทานอล
- ปริมาณอ้อย 14.3 กิโลกรัม ผลิตเอทานอลได้ 1 ลิตร
- ปริมาณมันสำปะหลัง 6 กิโลกรัม ผลิตเอทานอลได้ 1 ลิตร
- ปริมาณข้าวฟ่างหวาน 14.3 กิโลกรัม ผลิตเอทานอลได้ 1 ลิตร
จำนวนโรงงานน้ำตาลที่ผลิตเอทานอล
โรงงานน้ำตาลที่ขออนุญาตผลิตเอทานอล ปัจจุบันมีทั้งสิ้น จำนวน 13 โรงงาน คือ
- โรงงานน้ำตาลรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จ.ชัยภูมิ
- โรงงานน้ำตาลอุตสาหกรรมอ่างเวียน จ.นครราชสีมา
- โรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จ.เพชรบูรณ์
- โรงงานน้ำตาลสระบุรี จ.สระบุรี
- โรงงานอุตสาหกรรมโคราช จ.นครราชสีมา
- โรงงานน้ำตาลราชบุรี จ.ราชบุรี
- โรงงานน้ำตาลตะวันออก จ.สระแก้ว
- โรงงานน้ำตาลขอนแก่น จ.ขอนแก่น
- โรงงานน้ำตาลครบุรี (N Y Sugar) จ.นครราชสีมา
- โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์
- โรงงานน้ำตาลไทยกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี
- โรงงานน้ำตาลมิตรผล จ.สุพรรณบุรี
- โรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม จ.อุดรธานี
สภาวะการผลิตอ้อย และน้ำตาลทรายในอดีตถึงปัจจุบัน
ฤดูการผลิตปี 2550/2551 ประเทศไทยผลิตน้ำตาลทรายได้ 78.165 ล้าน กระสอบ จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 73.308 ล้านตัน และระดับคุณภาพอ้อยที่ 12.09 CCS เปรียบเทียบกับฤดูการผลิต 2549/50 ที่ผลิตน้ำตาลทรายได้ 72.995 ล้านกระสอบ จากปริมาณอ้อย 63.797 ล้านตันที่ระดับคุณภาพอ้อย 11.91 CCS
ฤดูการผลิตปี 2551/2552 ผลิตน้ำตาลทรายได้ 71.865 ล้าน กระสอบ จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 66.463 ล้านตัน และระดับคุณภาพอ้อยที่ 12.28 CCS
ฤดูการผลิตปี 2552/2553 สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ถึง 69.287ล้าน กระสอบ จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 68.485 ล้านตัน และระดับคุณภาพอ้อยที่ 11.58 CCS
ในฤดูการผลิตปี 2553/2554 ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้มากถึง 96.630 ล้านกระสอบ จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 95.358 ล้านตัน และระดับคุณภาพอ้อยที่ 11.78 CCS
การแก้ไขปัญหาภัยแล้งของชาวไร่อ้อย
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2548 กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยด้วยการอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำปีละ 1,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน สำหรับฤดูการผลิตปี 2549/2550 -2551/2552 ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้ชาวไร่อ้อยกู้ยืมไปใช้เพื่อขุดบ่อกักเก็บน้ำและเจาะบ่อบาดาลเพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงภัยแล้งในอนาคต การจัดสรรวงเงินกู้ยืมกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 2 ต่อปี โดยโรงงานน้ำตาลจะเป็นผู้ค้ำประกันและรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3.5 ต่อปี เกษตรกรจะต้องชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่กู้ยืม ชาวไร่อ้อยที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสมัครได้ที่โรงงานน้ำตาลคู่สัญญาหรือที่สถาบันชาวไร่อ้อยที่สังกัด
ต่อมาเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในการพัฒนาแหล่งน้ำตามโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้สามารถพัฒนาแหล่งน้ำในลักษณะต่าง ๆ ได้ตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยยกเลิกการกำหนดรูปแบบการพัฒนาแหล่งน้ำจากเดิมที่จำกัดเฉพาะการขุดบ่อหรือสระกักเก็บน้ำและขุดเจาะ บ่อบาดาลเท่านั้น และปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ ธ.ก.ส. ได้ขยายระยะเวลการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพิ่มเติมอีก 2 ปีงบประมาณ ระว่างเดือนตุลาคม 2551 – กันยายน 2554 โดยมีเงื่อนไขเช่นเดี่ยวกับโครงการในระยะแรก