สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 26 – 30 มิถุนายน 2566
ตลาดน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์คประจำสัปดาห์นี้ (26 – 30 มิถุนายน 2566) ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 26 ของปี 2566 โดยราคาน้ำตาลทรายดิบในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวผันผวน และปิดตลาดครั้งสุดท้ายด้วยราคาที่ลดลง จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงต้นสัปดาห์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์คปรับลดลงต่อเนื่อง 5 วันติดต่อกัน ตามแรงขายเนื่องจากปัจจัยทางด้านเทคนิค กดดันให้ราคาน้ำตาลลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน 3 สัปดาห์ โดยเมื่อวันพฤหัสบดี Unica รายงานผลผลิตน้ำตาลทางภาคกลาง – ใต้ของบราซิล ในช่วงครึ่งแรกของเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.7 % เป็น 2.550 ล้านตัน และผลผลิตน้ำตาลในปี 2566/2567 ตั้งแต่เมษายนถึงกลางเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 32.1 % เป็น 9.528 ล้านตัน อนึ่ง เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 Conab คาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลของบราซิลในปี 2566/2567 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.7 % เป็น 38.8 ล้านตัน มากเป็นลำดับที่ 2 จากที่เคยมากสุด เนื่องจากผลผลิตฟื้นตัวขึ้นจากสภาพอากาศที่เลวร้ายในปีการผลิตก่อนหน้านั้น จากนั้นในช่วงท้ายสัปดาห์ราคาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ตามการเข้ามาซื้อน้ำตาลคืนจากตลาด (Short – Covering) โดยราคาน้ำตาลยังกระเตื้องขึ้นจากความหวังที่ว่าผู้นำเข้าจากจีนจะเข้ามาซื้อน้ำตาลในช่วงที่ราคาน้ำตาลตกต่ำตลอดทั้งสัปดาห์
ราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนกรกฎาคม 2566 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 21.81 – 24.74 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 22.89 เซนต์/ปอนด์ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน -0.83 เซนต์/ปอนด์ หรือ -3.50 % และราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนตุลาคม 2566 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 21.88 – 24.72 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 22.79 เซนต์/ปอนด์ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน -0.87 เซนต์/ปอนด์ หรือ -3.68 %
ตลาดน้ำตาลนิวยอร์ค หมายเลข 11 (เซนต์/ปอนด์)
เดือนกำหนดราคา | ราคาสูงสุด | ราคาต่ำสุด | ราคาปิดเมื่อวันที่
30 มิถุนายน 2566 |
ราคาปิดเมื่อวันที่
23 มิถุนายน 2566 |
เปลี่ยนแปลง
เพิ่ม (+), ลด (-) |
|
กรกฎาคม | 2566 | 24.74 | 21.81 | 22.89 | 24.18 | -0.83 |
ตุลาคม | 2566 | 24.72 | 21.88 | 22.79 | 24.29 | -0.87 |
มีนาคม | 2567 | 24.65 | 22.06 | 22.89 | 24.29 | -0.75 |
พฤษภาคม | 2567 | 23.41 | 21.00 | 21.64 | 23.06 | -0.75 |
กรกฎาคม | 2567 | 22.78 | 20.59 | 21.10 | 22.57 | -0.85 |
ตุลาคม | 2567 | 22.44 | 20.41 | 20.85 | 22.25 | -0.89 |
มีนาคม | 2568 | 22.30 | 20.43 | 20.81 | 22.13 | -0.89 |
พฤษภาคม | 2568 | 21.02 | 19.50 | 19.87 | 20.84 | -0.63 |
กรกฎาคม | 2568 | 20.29 | 18.98 | 19.42 | 20.11 | -0.41 |
ตุลาคม | 2568 | 19.93 | 18.87 | 19.37 | 19.79 | -0.18 |
มีนาคม | 2569 | 19.66 | 18.95 | 19.50 | 19.66 | +0.05 |
พฤษภาคม | 2569 | 18.95 | 18.46 | 18.95 | 18.98 | +0.15 |
ข่าวที่สำคัญ
วันที่ 30 มิถุนายน 2566 Czarnikow รายงานว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำตาลในเปรูหรือกัวเตมาลา และอาจช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตอ้อยในโคลอมเบียและอาร์เจนตินาด้วยซ้ำ
วันที่ 29 มิถุนายน 2566 การชำระบัญชีตั๋วซื้อของกลุ่มกองทุนนั้นมีส่วนที่ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดซื้อขายล่วงหน้าลดลง โดยมีความเห็นส่วนใหญ่ว่าน่าจะมีการส่งมอบน้ำตาลที่เพียงพอ และผู้สังเกตการณ์ตลาดคาดว่าน่าจะมีแรงเทขายจากกลุ่มกองทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต ด้านสถาบัน hEDGEpoint Global Markets เสริมว่า ราคาน้ำตาล ณ ท่าเรือ (FOB) ของบราซิลที่อ่อนค่าลงเป็นการยืนยันว่ามีน้ำตาลจากบราซิลที่เพียงพอ และตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า น้ำตาลในตลาดโลกยังคงอยู่ในภาวะน้ำตาลโลกส่วนขาด (Deficit) ในระยะยาว เนื่องมาจากปริมาณผลผลิตของไทยที่ลดลง และการที่จีนมีโครงการนำเข้าน้ำตาลเพิ่ม
วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ผู้สังเกตการณ์ตลาด กล่าวว่า ราคาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าปรับตัวลดลงอย่างมากเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ในขณะที่ช่วงห่างของราคาเริ่มแคบลงท่ามกลางการคาดการณ์ว่า ปริมาณอุปทานน้ำตาลมีมากกว่าที่ตลาดคาดไว้สำหรับน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์คที่กำลังจะหมดอายุสัญญาลง ด้านบริษัทที่ปรึกษา Archer Consulting ตั้งข้อสังเกตว่าผลผลิตอ้อยบราซิลที่ยอดเยี่ยมในการเก็บเกี่ยวจนถึงขณะนี้มีส่วนทำให้ผลผลิตสูงขึ้น ด้านผู้ค้า กล่าวว่า เรื่องของคาดการณ์สภาพอากาศที่ไม่มีฝนในช่วงระยะสั้นนั้นอาจจะช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตน้ำตาล ด้าน Czarnikow เสริมอีกว่า ไม่มีใครต้องการที่จะรับน้ำตาลจริงก่อนหมดอายุสัญญาซื้อขายเนื่องจากความต้องการซื้อน้ำตาลนั้นอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ โดย Czarnikow รายงานอีกว่า จีนนั้นยังมีแนวโน้มที่จะรอให้ราคาน้ำตาลลดลงถึง 20 เซนต์/ปอนด์ เพื่อดำเนินการซื้อน้ำตาลนอกโควตา
อเมริกากลาง-เหนือ
วันที่ 29 มิถุนายน 2566 Sosland Publishing รายงานว่า พื้นที่บีทของประเทศสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ผลิตน้ำตาลต้องการรอก่อนที่จะขายน้ำตาลเพิ่มเติมในปี 2566/2567 ในส่วนของพื้นที่ปลูกข้าวโพด มีฝนมากขึ้น ด้าน StoneX ตั้งข้อสังเกตว่า สภาพอากาศนั้นกำลังจะเริ่มจะมีฝนในแถบตะวันออกกลางของสหรัฐฯในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
วันที่ 26 มิถุนายน 2566 Conadesuca รายงานว่า ประเทศเม็กซิโกสิ้นสุดการเก็บเกี่ยวโดยผลิตน้ำตาลได้ต่ำที่สุดในรอบทศวรรษที่ 5.22 ล้านตัน และคาดการณ์เพิ่มเติมอีกว่า ผลผลิตน้ำตาลของเม็กซิโกในปี 2566/2567 น่าจะฟื้นตัวเป็น 6 ล้านตัน แม้ว่าพื้นที่หนึ่งในสามของประเทศจะยังคงอยู่ในภาวะแห้งแล้งก็ตาม ด้านบริษัทที่ปรึกษา Grupo Consultor de Mercados Agricolas (GCMA) ตั้งข้อสังเกตว่า ราคาขายส่งน้ำตาลในเดือนมิถุนายนของเม็กซิโกเพิ่มขึ้น 8 % เป็น 1,486 เปโซเม็กซิโก/50 กิโลกรัม (87 ดอลลาร์สหรัฐฯ/50 กิโลกรัม) ด้านราคาเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
อเมริกาใต้
วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทที่ปรึกษา Datagro เพิ่มประมาณการผลผลิตอ้อยในภาคกลาง – ใต้ของบราซิล ในปี 2566/2567 จาก 598.5 ล้านตัน เป็น 606.5 ล้านตัน เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ส่งผลให้มีผลผลิตน้ำตาลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 39.1 ล้านตัน และเอทานอลจากข้าวโพด และอ้อยรวมกันอยู่ที่ 31.2 พันล้านลิตร ด้าน Pecege เสนอว่า การใช้สารเร่งให้อ้อยแก่ขึ้นอาจส่งผลให้ผลผลิตอ้อยสูงขึ้น
วันที่ 28 มิถุนายน 2566 UNICA รายงานว่า ในช่วงครึ่งแรกของเดือนมิถุนายนในภาคกลาง – ใต้ของประเทศบราซิล ดำเนินการหีบอ้อยได้อยู่ที่ 40.3 ล้านตัน และผลิตน้ำตาลได้ 2.55 ล้านตัน อีกทั้งยังผลิตเอทานอลจากอ้อย และเอทานอลจากข้าวโพดรวมกันได้อยู่ที่ 1.86 พันล้านลิตร ซึ่งลดลงจากช่วงสองสัปดาห์ก่อนหน้าแต่ยังคงเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาดโลก ด้าน UNICA เตือนว่า แม้ว่าผลผลิตอ้อยจะดีขึ้นกว่าปีที่แล้วมาก แต่ก็น่าจะเริ่มลดลงเนื่องจากอ้อยส่วนใหญ่ที่มีอายุมากจะถูกแปรรูปในภายหลังการเก็บเกี่ยว
วันที่ 27 มิถุนายน 2566 สำนักงานเลขาธิการกระทรวงการค้าต่างประเทศ (SECEX) ของประเทศบราซิล รายงานข้อมูลว่า บราซิลมีการส่งออกน้ำตาลที่ 1.94 ล้านตัน ในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นอัตราการบรรทุกน้ำตาลเฉลี่ยต่อวันที่สูงกว่าปีที่แล้ว 9 %
วันที่ 27 มิถุนายน 2566 เจ้าหน้าที่ท่าเรือปารานากัว (Paranagua) ของประเทศบราซิล คาดการณ์ว่า จะส่งออกสินค้าได้อยู่ที่ 9.4 ล้านตัน ในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน เพิ่มขึ้น 33 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นน้ำตาลจำนวน 1.92 ล้านตัน และข้าวโพด 1.9 ล้านตัน และตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การขุดลอกท่าเทียบเรือนั้นสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งของท่าเรือ
วันที่ 27 มิถุนายน 2566 S&P Global Commodity Insights รายงานว่า ตลาดน้ำตาลโลกนั้นหวังว่าภาคกลาง – ใต้ของประเทศบราซิล จะสามารถดำเนินการหีบอ้อยได้ถึง 40.16 ล้านตัน และมีผลผลิตน้ำตาลที่ 2.54 ล้านตัน ในช่วงครึ่งแรกของเดือนมิถุนายน ซึ่งน้อยกว่าสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้เนื่องจากมีอุปสรรค์ด้านสภาพอากาศที่เปียกชื้น ด้านบริษัทที่ปรึกษา AgRural รายงานว่า การเก็บเกี่ยวข้าวโพดเสร็จสมบูรณ์เพียง 9.3 % ณ วันที่ 22 มิถุนายน ลดลงจาก 20.3 % ในปีที่แล้ว เนื่องจากสภาพที่เปียกชื้น
วันที่ 26 มิถุนายน 2566 บริษัทที่ปรึกษา Archer Consulting เตือนว่า ผลผลิตน้ำตาลใน ภาคกลาง – ใต้ของประเทศบราซิล ในปี 2567/2568 อาจจะสูงมาก เนื่องจากโรงงานกำลังขยายกำลังการผลิตและมีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นไปที่การผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อยน่าจะสูงขึ้นด้วยปัจจัยการผลิตที่ต่ำ และอาจมีอ้อยที่เหลือจากฤดูกาลนี้ประมาณ 15 ล้านตัน
วันที่ 26 มิถุนายน 2566 Williams Brasil รายงานว่า เรือรอรับน้ำตาลของประเทศบราซิลเพิ่มสูงขึ้นมากจาก 2.462 ล้านตัน เป็น 3.548 ล้านตัน เมื่อช่วงกลางสัปดาห์วันที่ 21 มิถุนายน ด้าน SECEX รายงานข้อมูลว่า การส่งออกน้ำตาลของบราซิลอยู่ที่ 5 % ของช่วงก่อนเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ด้าน ผู้ค้ารายหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาด้านกำลังการขนส่งของบราซิลยังไม่มีปัญหาเนื่องจากสภาพอากาศที่ดี และความต้องการน้ำตาลที่ลดลง
วันที่ 27 มิถุนายน 2566 รายงานผลผลิตน้ำตาลและอ้อยเข้าหีบภาคกลาง – ใต้บราซิล ของ Unica ฤดูการผลิตปี 2566/2567 (เมษายน – มีนาคม) ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2566 ดังนี้
รายการ | ในช่วงครึ่งหลังเดือนพฤษภาคม 2566 | ยอดสะสม | ||||
ปี | ปี | เปลี่ยนแปลง | ปี | ปี | เปลี่ยนแปลง | |
2565/66 | 2566/67 | (%) | 2565/66 | 2566/67 | (%) | |
ผลผลิตอ้อย (พันตัน) | 38,673 | 40,299 | 4.20 | 146,057 | 166,310 | 13.87 |
ผลผลิตน้ำตาล (พันตัน) | 2,148 | 2,550 | 18.71 | 7,211 | 9,528 | 32.13 |
ผลผลิตเอทานอล (ล้านลิตร) | 1,825 | 1,857 | 1.75 | 7,014 | 7,666 | 9.30 |
ATR (กก/ตันอ้อย) | 131.02 | 135.65 | 3.54 | 124.52 | 127.2 | 2.15 |
สัดส่วนอ้อยนำไปผลิตน้ำตาล (%) | 44.49 | 48.95 | 10.02 | 41.61 | 47.27 | 13.60 |
สัดส่วนอ้อยนำไปผลิตเอทานอล (%) | 55.51 | 51.05 | -8.03 | 58.39 | 52.73 | -9.69 |
กก. น้ำตาลต่อตันอ้อย | 55.54 | 63.27 | 13.92 | 49.37 | 57.29 | 16.04 |
วันที่ 29 มิถุนายน 2566 กรมส่งเสริมน้ำตาลและแอลกอฮอล์รัฐตูกูมัน (Ipaat) ของประเทศอาร์เจนตินา รายงานว่า โรงงานในรัฐตูกูมัน (Tucuman) มีผลผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 103,000 ตัน และผลิตเอทานอลได้อยู่ที่ 28 ล้านลิตร โดยเป็นส่วนของเอทานอลจากอ้อยอยู่ที่ 2.2 ล้านลิตร หรือประมาณ 11 % ของการหีบ และตั้งข้อสังเกตว่า การเก็บเกี่ยวที่ล่าช้าเนื่องมาจากโรงงานเริ่มเปิดการดำเนินการล่าช้าเนื่องจากภัยแล้ง และปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาขัดขวางการดำเนินงานภายในไร่อ้อย โดยผลผลิตน้ำตาลคาดว่าน่าจะเท่ากับปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 1.24 ล้านตัน แม้ว่าปริมาณอ้อยจะลดลงก็ตาม
ยุโรป
Øวันที่ 28 มิถุนายน 2566 รัฐบาลของประเทศรัสเซียขยายข้อจำกัดการส่งออกน้ำตาลจนถึงเดือนกรกฎาคม 2567 โดยขณะเดียวกัน มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีของรัสเซียได้ลงนามในมติให้จัดตั้งสมาคมส่งออกน้ำตาล
เอเชีย
Øวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ผู้ปลูกอ้อยของประเทศอินเดียในแถบตะวันตกของรัฐมหาราษฏระ(Maharashtra) ร้องเรียนว่า การที่รัฐบาลปรับขึ้นราคาอ้อยที่เป็นธรรม และราคาอ้อยขั้นต่ำ (FRP) นั้นต่ำเกินไปและไม่ได้สะท้อนถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยสิ่งนี้ได้สะท้อนออกมาผ่านพรรคการเมืองที่อยู่ในรัฐทมิฬนาฑู(Tamil Nadu)
Øวันที่ 29 มิถุนายน 2566 คณะกรรมาธิการน้ำตาลของประเทศอินเดีย รายงานว่า ผู้ผลิตใน รัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ได้มีการส่งมอบเอทานอลจำนวน 750 ล้านลิตร ให้กับบริษัทการตลาดด้านน้ำมัน (OMCs) และคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมาย 90 % ของเป้าหมายที่ 1.32 พันล้านลิตร และได้เตือนว่า การจัดเก็บเอทานอลเป็นปัญหาที่สำคัญมาก เนื่องจากบริษัท OMCs ไม่มีถังเพียงพอต่อการจัดเก็บ ซึ่งปล่อยให้โรงงานต้องลงทุนเพื่อดำเนินการหาพื้นที่ในการจัดเก็บ ด้านบริษัท Bharat Petroleum Corporation (BPCL) ที่ดำเนินการโดยรัฐได้อนุมัติแผนการเพิ่มเงิน 180 พันล้านรูปีอินเดีย (2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จะปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2583
Øวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศอินเดีย รัฐบาลอินเดียได้ปรับขึ้นราคาอ้อยพื้นฐาน และราคากลางของอ้อยที่รัฐกำหนด (FRP) ในปี 2566/2567 อีก 10 รูปีอินเดีย/100 กิโลกรัม (1.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน) เป็น 315 รูปีอินเดีย/100 กิโลกรัม (38.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน)
Øวันที่ 28 มิถุนายน 2566 การสำรวจพื้นที่ปลูกอ้อยของประเทศอินเดียในเขตบิจนอร์ (Bijnor) ของรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ซึ่งยังดำเนินการปลูกไม่เสร็จสิ้น ได้แสดงให้เห็นว่าขณะนี้พื้นปลูกอ้อยนั้นเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 เฮกตาร์ จากจำนวนพื้นที่ 255,000 เฮกตาร์ ในฤดูกาลที่แล้ว โดยในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) มีโรงงานใหม่ที่กำลังก่อสร้างเพิ่มในพื้นที่ของรัฐ
Øวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ผู้ค้าในภาคเหนือของประเทศอินเดีย กล่าวว่า ราคาน้ำตาลของอินเดียอยู่ภายใต้แรงกดดันเนื่องจากความต้องการน้ำตาลที่ลดลง โดยโรงงานพยายามที่จะผลิตให้ได้ตามโควตาก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน ด้านนักวิเคราะห์รายหนึ่ง เสริมว่า รัฐบาลอินเดียจำเป็นจะต้องปรับปรุงการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตอ้อย และตั้งข้อสังเกตอีกว่า การประมาณการณ์ผลผลิตอ้อยของรัฐบาลอินเดียสูงเกินไปกว่า 20 % ในฤดูกาลนี้
Øวันที่ 26 มิถุนายน 2566 กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย (IMD) รายงานว่า ในประเทศอินเดียปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 28 % ณ วันที่ 25 มิถุนายน ซึ่งดีขึ้นจากที่เคยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 47 % ในสัปดาห์ก่อน ในขณะนี้ฝนที่กำลังตกหนักนั้นอาจส่งผลให้มรสุมเข้าปกคลุมทั่วอินเดียก่อนกำหนด โดยมีรายงานออกมาว่า สภาพอากาศที่ไม่มีฝนตกอาจทำให้ผลผลิตอ้อยขาดแคลน 10 – 15 % ในมหาราษฏระ (Maharashtra) และกรณาฏกะ (Karnataka)
Øวันที่ 30 มิถุนายน 2566 CITIC Futures รายงานว่า ปริมาณน้ำตาลภายในประเทศของจีนยังคงติดลบอยู่ แต่อย่างไรก็ตามได้มีการอนุญาตให้มีการนำเข้าสำหรับน้ำตาลนอกโควตาที่น่าจะช่วยทำให้มีปริมาณน้ำตาลดีขึ้นอย่างมาก และคาดว่าน่าจะกลับมามีปริมาณน้ำตาลเป็นบวกในไม่ช้า ด้าน Czanikow ตั้งข้อสังเกตว่าโรงงานละลายน้ำตาลยังไม่ได้ใช้ใบอนุญาตการนำเข้าโดยอัตโนมัติ (AILs) ใด ๆ เลย แต่อาจจะสามารถเริ่มเข้าซื้อในช่วงราคาประมาณ 20 – 22 เซนต์/ปอนด์ ด้านนักวิเคราะห์ท้องถิ่น เสริมว่า ราคาน้ำตาลในประเทศของจีนซึ่งปรับตัวลดลงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ลดลงในช่วงเดือนมิถุนายน นั้นไม่น่าจะมีราคาที่ตกลงไปมากกว่านี้ด้านสต็อกน้ำตาลของจีน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 2.72 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2550
Øวันที่ 30 มิถุนายน 2566 Bloomberg รายงานการคาดการณ์ว่า คลื่นความร้อนในประเทศจีนจะกระตุ้นการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลเพิ่มมากขึ้น ด้านนักวิเคราะห์ท้องถิ่น กล่าวว่า ความต้องการน้ำตาลในขณะนี้ลดลงอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันกับสารให้ความหวานทางเลือก แต่ฤดูกาลที่จะมีการบริโภคน้ำตาลสูงสุดน่าจะเริ่มต้นในไม่ช้า และน่าช่วยสนับสนุนยอดขายน้ำตาลให้เพิ่มสูงขึ้น
Øวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ราคาน้ำตาลในประเทศของจีนอ่อนตัวลงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ลดลง แต่ผู้สังเกตการณ์ตลาดกำลังรอข้อมูลการขายน้ำตาลของโรงงานในเดือนมิถุนายนเพื่อประเมินว่าราคาน้ำตาลภายในประเทศของจีนจะลดลงอีกมากน้อยเพียงใด ด้านนักวิเคราะห์รายหนึ่ง กล่าวว่า น้ำตาลในสต๊อกของจีนต่ำเป็นประวัติการณ์ ซึ่งทำให้ไม่น่าเป็นไปได้ที่ราคาจะตกลงไปมากกว่านี้ โดยทางใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ของจีนมีฝนตกหนัก ในขณะที่ในมองโกเลียกำลังเผชิญกับภัยแล้ง ด้านผู้เชี่ยวชาญ เสริมว่า สภาพอากาศไม่น่าจะทำให้ความมั่นคงทางด้านอาหารของจีนต้องตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยง
Øวันที่ 27 มิถุนายน 2566 แหล่งข่าวท้องถิ่นของประเทศจีน รายงานว่า ราคาซื้อขายส่งมอบน้ำตาล ณ ปัจจุบัน ในเขตกว่างซี (Guangxi) ลดลงต่ำกว่าระดับ 7,000 หยวนจีน/ตัน (971 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน) เนื่องจากความต้องการน้ำตาลที่ลดลง ด้าน Czanikow ตั้งข้อสังเกตว่า ความต้องการน้ำตาลนั้นลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เนื่องจากมีการแข่งขันจากสารให้ความหวานอื่นๆ โดยเฉพาะน้ำเชื่อมฟรักโทส (HFCS) ซึ่งมีส่วนต่างราคาที่ถูกกว่าน้ำตาลถึง 3,510 หยวน/ตัน (487 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน) ด้านนักวิเคราะห์ เสริมว่า ราคาน้ำตาลไม่น่าจะลดลงไปมากกว่านี้เมื่อพิจารณาจากสต็อกน้ำตาลของจีนที่เหลือน้อย
สถานะกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไร
สำหรับสถานะของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่าง ๆ ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2566 ปรากฏว่าได้ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 141,526 ล็อต หรือประมาณ 7.19 ล้านตัน ซึ่งเป็นการถือตั๋วซื้อลดลง 66,591 ล็อต หรือประมาณ 3.38 ล้านตัน เมื่อเทียบกับที่ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 208,117 ล็อต หรือประมาณ 10.57 ล้านตันในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น (20 มิถุนายน 2566)
วิจารณ์และความเห็น
ในสัปดาห์นี้ราคาน้ำตาลยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2566 ตามแรงขายของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่างๆ และแรงขายตามปัจจัยทางด้านเทคนิค ทำให้ในวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ราคาน้ำตาลตามสัญญาเดือนกรกฎาคม 2566 ลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน 3 สัปดาห์ ที่ 21.81 เซนต์ ก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นตามการเข้ามาซื้อน้ำตาลคืนจากตลาด (Short – covering) ประกอบกับมีความหวังว่าในช่วงที่ราคาลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ จีนจะเข้ามาทำการซื้อน้ำตาล ทำให้ราคาของเดือนกรกฎาคม 2566 เคลื่อนไหวถึงระดับสูงสุดที่ 22.96 เซนต์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 22.89 เซนต์ ในเบื้องต้นตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ มีการส่งมอบน้ำตาลต่อตลาด 8,118 ล็อต หรือประมาณ 412,000 ตัน เทียบกับที่ส่งมอบของเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ 9,904 ล็อต หรือประมาณ 503,000 ตัน สำหรับในระยะสั้นๆ สภาวะอากาศ และรายงานการผลิตน้ำตาลของบราซิล จะยังคงมีผลกระทบต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาน้ำตาล
ฝ่ายตลาด
บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด
3 กรกฎาคม 2566