วันที่ 14 กันยายน 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงมอบนโยบายในการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมว่า นโยบายเร่งด่วนที่ตนจะต้องดำเนินการ คือ การเพิ่มตารางการบิน (Slot) และการบริหารจัดการพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน เพื่อรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ
โดยขณะนี้ได้มอบให้ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ ดำเนินการตามนโยบาย ซึ่งขณะนี้ทราบว่าได้มีการจัด Slot การบินสำหรับฤดูหนาวนี้สามารถเพิ่มเที่ยวบินได้มากขึ้นอย่างน้อย 15% ต่อสัปดาห์เมื่อเทียบกับ Slot ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวหลักอย่างตลาดจีนจะเพิ่มมากขึ้นกว่า 5 ล้านคน จากนโยบาย VISA Free สำหรับนักท่องเที่ยวจีนตลอดฤดูท่องเที่ยวที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ในส่วนของนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พิจารณาแนวทางปฏิบัติในการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า และประเมินผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปพร้อมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ต.ค.นี้
ขณะเดียวกันได้มอบหมายงานให้ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมดูแลรับผิดชอบแต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมี 8 กรม 12 รัฐวิสาหกิจ 2 หน่วยงานอิสระ ได้แก่ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวม 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.กรมเจ้าท่า (จท.) 2.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 3.การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) 4.สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) และ 5.บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด
ทั้งนี้ให้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวม 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 2.กรมการขนส่งทางราง (ขร.) 3.บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 4.การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 5. บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด 6.บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) 7.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ 8.บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ส่วนที่เหลืออีก 9 หน่วยงานตนจะกำกับดูแล ประกอบด้วย 1.กรมทางหลวง (ทล.) 2.กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 3.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 4.บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. 5.กรมท่าอากาศยาน (ทย.) 6.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) 7.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) 8.สถาบันฝึกอบรมระบบราง และ 9.สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 14 กันยายน 2566