ดัชนีอุตฯต่ำสุดรอบ 1 ปี เหตุส่งออกร่วงหนักหลังคู่ค้าทรุด

          นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 91.3 ปรับตัวลดลง จาก 92.3 ในเดือนกรกฎาคม โดยปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง และต่ำสุดในรอบ 1 ปี ซึ่งเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2566 ที่ปรับลดลงเป็นผลมาจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอโดยเฉพาะสหรัฐจีน และยุโรป ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลง

          ทั้งนี้นอกจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น รวมทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวนจากผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรลดลง กดดันกำลังซื้อในส่วนภูมิภาค รวมถึงผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลผสม

          อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนการบริโภคในประเทศ โดยรัฐบาลมีนโยบายที่จะเปิดฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนในช่วงไฮซีซั่น แต่สิ่งที่น่ากังวลคือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในช่วงนี้ยังไม่ใช่จากจีนและยุโรป แต่มาจากมาเลเซีย ซึ่งมีอัตราการใช้จ่ายที่ยังต่ำมาก ดังนั้น หากยังต้องการให้ท่องเที่ยวมาช่วยเศรษฐกิจต้องมีการปรับแผนกันใหม่

          นายเกรียงไกร ยังได้กล่าวถึง นโยบายลดราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้านั้นเป็นสิ่งที่ดีแต่ที่กังวลคือจะเป็นแนวทางแค่ระยะสั้นท้ายสุดแล้วโครงสร้างพลังงานของประเทศไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างก็จะกลับไปเหมือนเดิม ไม่ยั่งยืน ดังนั้นส.อ.ท.เตรียมจัดทำข้อเสนอ (Position Paper)ที่จะยื่นให้กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางและการปฏิบัติในการแก้ไขเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น กลาง และยาว โดยลงลึกรายละเอียดแต่ละด้านตลอดจนการดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรมส.อ.ท. ซึ่งคาดว่าจะจัดทำเสร็จในปลายเดือนก.ย. หรือต้นเดือนต.ค.นี้

          “การลดราคาดีเซลเพื่อช่วยลดต้นทุนขนส่งสินค้า ส่วนการค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) งวดสุดท้าย ซึ่งเดิมกำหนดค่าไฟฟ้าไว้ที่หน่วยละ 4.45 บาท/หน่วย แต่ก็เชื่อว่าจะสามารถปรับลดลงได้อีกเป็นของขวัญให้ประชาชน ถ้ายิ่งต่ำกว่านี้ก็ยิ่งดี แต่สิ่งที่เราอยากได้คือความยั่งยืนราคาพลังงานของไทยควรอยู่ในจุดที่แข่งขันได้ไม่ใช่ต้องมาคุยแก้ไขกันบ่อยๆ” นายเกรียงไกรกล่าว

          ส่วนนโยบายการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีนั้นส.อ.ท.มองว่าควรศึกษาถึงข้อดีและผลกระทบที่จะตามมาด้วยดังนั้นควรผ่าตัดโครงสร้างทั้งระบบเพื่อแก้ไขแบบยั่งยืนซึ่งขณะนี้แนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มขยับสูง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะยิ่งหนุนให้ราคาน้ำมันของไทยสูงขึ้นและเมื่อเข้าฤดูหนาวอาจเห็นราคาน้ำมันแตะระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้เอกชนมีความกังวล

          นอกจากนี้ ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะภาครัฐดังนี้ 1.เสนอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศทดแทนอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัว อาทิ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี มาตรการเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เป็นต้น2.เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การปรับโครงสร้างหนี้ การลดค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันและก๊าซ การสนับสนุนสินค้า SMEs เป็นต้น 3.เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี รวมถึงกำกับดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ (Spread) ให้ส่วนต่างลดลง เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ 4.เร่งรัดโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้ว ให้ดำเนินการลงทุนตามที่ได้รับอนุมัติ และจัดกิจกรรม Roadshow เชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจที่ย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีน

จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 13 กันยายน 2566

Scroll to Top
Skip to content