‘ส.อ.ท.’ ถก ‘ทูตกรุงวอชิงตัน’ ผลักดันการค้าการลงทุนไทย-สหรัฐฯ

          นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ของ ส.อ.ท. ได้ร่วมต้อนรับและหารือกับนายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือถึงบทบาทของสถานเอกอัครราชทูต ในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทยและสหรัฐอเมริกา อาทิ การจัดให้มีการหารือระหว่างภาคเอกชน เพื่อเชิญชวนให้มีการลงทุนของสหรัฐอเมริกาในไทย การส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐอเมริกา และการเปิดตลาดสินค้าไทยในสหรัฐอเมริกาให้มากขึ้น เป็นต้น

          อีกทั้ง ส.อ.ท.และนายธานี ยังได้หารือถึงโอกาสในการส่งเสริมสตาร์ทอัพ (Startup) ไทย โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยี เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อมในเรื่อง Startup Ecosystem เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมืองออสติน รัฐเท็กซัส และเมืองบอสตันรัฐแมสซาชูเซตส์

          “ปัจจุบันการลงทุนของไทยในสหรัฐอเมริกามีมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยสามารถมุ่งเน้นในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อาหาร ยานยนต์ ปิโตรเคมี เทคโนโลยีชีวภาพ และพลังงานสีเขียว เป็นต้น”นายเกรียงไกร กล่าว

          ส่วนการหารือของ ส.อ.ท.กับนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์,นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์,นายวิรุณ เจริญเกียรติวงศ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์, นางสาววริศรา ศิริสุทธิเดชา เลขานุการกรม, นายสิริชัยเมืองมูลชัย ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมทักษะการทำงาน และนางปาริชาติ เกษกาญจน์สำนักพัฒนาพฤตินิสัย เมื่อวันอังคารที่ 15 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น ได้หารือถึงแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์ สู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้ต้องขัง

          โดยปัจจุบันมีผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศกว่า 3 แสนคน บางส่วนเป็นกำลังแรงงานและมีศักยภาพในการทำงาน ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายในการยกระดับศักยภาพ ทักษะ และสมรรถนะแรงงานอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้ปรับปรุงและพัฒนาตนเอง เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ และส่งเสริมคนดีสู่สังคม

          ส่วนสินค้าหัตถกรรมที่ ส.อ.ท. กำลังขับเคลื่อน ครอบคลุมเรื่องการจักสาน,การฉลุงานไม้, การเย็บผ้า, การย้อมผ้า และการเลื่อย ในขณะเดียวกัน ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะในส่วนของกรมราชทัณฑ์ที่มีการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ 2023 ว่า เบื้องต้นควรฝึกให้ผู้ต้องขังมีการคิดนอกกรอบ มีการออกแบบในเชิงสร้างสรรค์ และมีความเข้าใจถึงเทรนด์ของตลาดและผู้บริโภคในปัจจุบัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ และเพิ่มมูลค่าสินค้ามากขึ้น อันจะนำไปสู่การสร้างอาชีพ และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

          นายเกรียงไกร กล่าวว่า ในส่วนของการต่อยอดโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Agriculture Industry (SAI) ภายใต้การดำเนินงานของ ส.อ.ท. ก็ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า อาจมีการลงทุนใช้พื้นที่ในกรมราชทัณฑ์ตามความเหมาะสม เช่น การปลูกพืช และต่อยอดไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ต่อไป

          นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้ต้องขัง เช่น การพัฒนาทักษะของผู้ต้องขัง การจ้างงานของผู้พ้นโทษ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อวางแนวทางการดำเนินงานให้บรรลุผล ทั้งนี้ที่ประชุมจึงเห็นควรให้มีการจัดทำแผนการดำเนินงานความร่วมมือในระยะต่อไป

จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 21 สิงหาคม 2566

Scroll to Top
Skip to content