ก.อุตฯเข้มตรวจโรงงาน ไม่ส่งรายงานข้อมูลการประกอบการ

          นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมได้เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (สอจ.ประจวบคีรีขันธ์)ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่รับผิดชอบประมาณ 400 โรงงาน โดยได้มอบหมายให้ สอจ.เร่งติดตามโรงงานที่ยังไม่ดำเนินการรายงานในระบบรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรมภายในเดือนสิงหาคม 2566 นี้ และเตรียมการเข้าตรวจโรงงานที่ไม่ได้รายงานการประกอบการแบบทุกมิติ ทั้งด้านการปล่อยน้ำเสีย การกำจัดกากอุตสาหกรรม และตรวจสอบโรงงานที่สร้างผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมรอบชุมชนอย่างละเอียด และหากพบว่ามีโรงงานที่เลิกกิจการแล้ว ให้ดำเนินการจำหน่ายทะเบียนโรงงานต่อไป

          ทั้งนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรสามร้อยยอด ตําบลสามร้อยยอด อําเภอสามร้อยยอดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้ให้คําแนะนําผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรสามร้อยยอด VERA GOLD น้ำว่านหางจระเข้เพื่อสุขภาพ ซึ่งว่านหางจระเข้เป็นพืชที่เกษตรกรอำเภอสามร้อยยอดนิยมปลูกกัน โดยนำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมว่านหางจระเข้หลากหลายรสชาติ และได้รับการคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP 5 ดาว ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกิจการเติบโตจนจดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อปี 2556

          นายณัฐพลกล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจาก สอจ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งในด้านการออกแบบฉลากและกล่องบรรจุภัณฑ์ การให้คำปรึกษาแนะนำในการสร้างการรับรู้การดำเนินธุรกิจด้วย Digital เพื่อจัดทำเพจเฟซบุ๊ก สำหรับเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ “น้ำว่านหางจระเข้ผสมกระเจี๊ยบและฝาง” เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มผู้บริโภค โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนี้ ประกอบด้วย เครื่องดื่มว่านหางจระเข้ผสมน้ำองุ่นขาว/ผสมน้ำลิ้นจี่/ผสมน้ำทับทิม, น้ำเม็ดแมงลักผสมน้ำผึ้งมะนาว และน้ำส้มวาเลนเชีย ซึ่งสามารถวางจำหน่ายที่ร้านค้าชั้นนำภายในประเทศ อาทิ Lotus’s, Big C, FOODLAND,Golden Place,CJ EXPRESS ตลอดจนส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย

          “ผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ ได้มีการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ โดยการรับซื้อวัตถุดิบ การจ้างแรงงานท้องถิ่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด จนสามารถสร้างยอดขายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการรุ่นใหม่เหล่านี้มีองค์ประกอบความเป็นนักธุรกิจที่มีความพร้อม และสามารถพัฒนาต่อยอดปั้นสู่การเป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมจังหวัดต้นแบบอัจฉริยะได้ รวมทั้งมุ่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการสู่การเป็นนักธุรกิจอัจฉริยะ สามารถพัฒนาต่อยอดจากธุรกิจเดิมให้ปรับตามเทรนด์โลกสมัยใหม่ มีความพร้อมในการปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป” นายณัฐพล กล่าว

จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม 2566

Scroll to Top
Skip to content