นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นผลให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมแก่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ทั้งนี้ รัฐบาลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดงานแสดงสินค้าโลจิสติกส์ TILOG-LogistiX 2023 ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2566 ณ อาคาร 98 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อเป้าประสงค์ในการสร้างเครือข่ายพันธมิตร จับคู่ทางธุรกิจของผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการโลจิสติกส์ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคการส่งออก ให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งานแสดงสินค้าโลจิสติกส์ TILOG-LOGISTIX 2023 เป็นความร่วมมือของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์กับบริษัท RX Tradex และภาคเอกชน ภายใต้แนวคิด “Smart and GreenLogistics for Sustainable Tomorrow :ขับเคลื่อนธุรกิจไทยสู่อนาคตสีเขียวด้วยโลจิสติกส์อัจฉริยะรักษ์โลก” เพื่อเป็นเวทีแสดงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน ให้เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลก โดยมุ่งเน้นการปรับตัวในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีโลจิสติกส์ยุคใหม่ พร้อมกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตื่นตัว และให้ความสำคัญกับการปรับตัวภายใต้แนวคิดเรื่อง Green โดยในงานนี้มีผู้จัดแสดงกว่า 415 แบรนด์ จาก 25 ประเทศทั่วโลกซึ่งคาดการณ์ว่า จะมีผู้เข้าชมงานกว่า 9,000 ราย พร้อมตั้งเป้ามูลค่าเจรจาทางธุรกิจกว่า 4,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์โลจิสติกส์ยุคดิจิทัล ที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ เช่น ระบบวางแผนและจัดการเส้นทางการขนส่งสินค้า ระบบการจัดการคลังสินค้า การรักษาความปลอดภัยรวมทั้ง ระบบคลังสินค้าอัจฉริยะที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หุ่นยนต์หยิบสินค้าที่เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระทุกแนวในคลังสินค้า และหุ่นยนต์คัดแยกสินค้าและระบบสายพานลำเลียง รถโฟล์คลิฟท์ ที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรีลิเธียม เป็นต้น
โดยปัจจุบันรัฐบาลมีแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อให้ระบบโลจิสติกส์เป็นกลไกที่สำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประตูการค้าที่สำคัญในอนุภูมิภาคและภูมิภาคประกอบไปด้วย 5 แนวการพัฒนาดังนี้
1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก
2. การยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าโซ่อุปทาน
3. การพัฒนาพิธีการศุลกากร กระบวนการนำเข้า-ส่งออกที่เกี่ยวข้อง และการอำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างประเทศ
4. การพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย
5. การส่งเสริมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร และการติดตามผลด้านโลจิสติกส์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เเห่งสหประชาชาติด้วย
“นายกรัฐมนตรีมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาโครงสร้างของประเทศให้มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งเมื่อประกอบกับข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของประเทศ เชื่อมั่นว่าไทยจะก้าวเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค การจัดงานดังกล่าว จะเป็นโอกาสดี เอื้อต่อการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางเศรษฐกิจ การค้า และเพิ่มจำนวนการลงทุนในประเทศ รองรับขีดความสามารถและความพร้อมในการแข่งขันต่อไป” นางสาวรัชดา กล่าว
จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 7 สิงหาคม 2566