ดัชนีความเชื่อมั่นร่วง กังวลต้นทุนผลิตสูงออเดอร์ส่งออกลด

          ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (REPORT ON BUSINESS SENTIMENT INDEX) ในเดือนกรกฎาคม 2566 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดยรวม ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49.3 จาก 51.0 ในเดือนก่อน ตามความเชื่อมั่นใน ภาคการผลิตที่ลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะด้านคำสั่งซื้อ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ดัชนีฯ เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบใกล้เคียงระดับ 50 อย่าง ต่อเนื่องสะท้อนถึงภาพรวมของการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจน

          สำหรับดัชนี ความเชื่อมั่นในภาคการผลิตปรับลดลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50อีกครั้ง จากกลุ่มผลิตยานยนต์ที่ความเชื่อมั่นลดลงมาก ส่วนหนึ่งจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นของกลุ่มผลิตเหล็ก รวมถึงกลุ่มผลิตเคมีและพลาสติกปรับลดลงตามอุปสงค์ ของจีนที่ชะลอลงเป็นสำคัญ โดยเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้า ทำให้อุปทาน ส่วนเกินจากจีนเข้ามาตัดราคาเหล็กในประเทศ ประกอบกับนโยบาย พึ่งพาตัวเองของจีนที่หันมาผลิตเคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติกเพื่อใช้ในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านการผลิตและการส่งออกปรับลดลง อย่างไรก็ดีความเชื่อมั่นในภาคที่มิใช่การผลิตทรงตัวอยู่เหนือระดับ 50 สะท้อนความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น ยกเว้นความเชื่อมั่นของกลุ่มก่อสร้างที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำส่วนหนึ่งจากความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล ที่อาจส่งผลให้โครงการก่อสร้างของภาครัฐล่าช้าออกไป

          ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมลดลงมา อยู่ที่ระดับ 53.3จาก 55.2 ในเดือนก่อน จากทุกองค์ประกอบและเกือบทุกธุรกิจทั้งในภาคการผลิต และภาคที่มิใช่การผลิต แต่ความเชื่อมั่นโดยรวม และเกือบทุกหมวดธุรกิจยังมีทิศทางดีขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบัน สะท้อนจากดัชนีฯที่ยังอยู่เหนือระดับ 50 ได้อย่างต่อเนื่อง ยกเว้นกลุ่มก่อสร้าง ที่ดัชนีฯ อยู่ต่ำกว่าระดับ 50ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 จากความเชื่อมั่นที่ลดลงในทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะด้านผลประกอบการ การผลิต และการลงทุนที่ความเชื่อมั่นปรับลดลงมาก

          เศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลงและมีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการส่งออกโดยรวมและเกือบทุกหมวดธุรกิจในภาคการผลิตปรับลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ กดดันให้ความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อโดยรวมปรับลดลง แม้ว่าจะได้รับผลดีจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ปัญหาต้นทุนการผลิตสูงยังคงเป็นอุปสรรคอันดับแรกในการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 23 และเป็นข้อจำกัดที่ผู้ประกอบการเริ่มกลับมากังวลมากขึ้นในเดือนนี้จากราคาพลังงานที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่ความกังวลด้านความต้องการจากต่างประเทศต่ำมีสัดส่วน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในอีก 12 เดือน ข้างหน้าทรงตัวจากเดือนก่อนที่ 3.2%

จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 7 สิงหาคม 2566

Scroll to Top
Skip to content