ครึ่งปีส่งออกติดลบ 5.4% เหตุศก.คู่ค้าหดตัวฉุดกำลังซื้อวูบ

          นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2566 พบว่ามีมูลค่า 24,826.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (848,927 ล้านบาท) หดตัว 6.4% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยหดตัว 2.9% โดยภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังคงซบเซาจากแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การผลิตและการบริโภคยังคงตึงตัว ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดจีนค่อนข้างช้ากว่าที่คาด นอกจากนี้ คู่ค้าส่วนใหญ่ชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากผลกระทบของการหดตัวทางด้านอุปสงค์ มีการเร่งระบายสินค้าคงคลังมากขึ้น ส่งผลให้คำสั่งซื้อและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง แต่ยังคงมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกในระยะนี้ และกระแสความมั่นคงทางอาหารทำให้สินค้าบางรายการยังขยายตัวดี อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผักกระป๋อง และผักแปรรูป ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไข่ไก่ ซาร์ดีนกระป๋อง น้ำตาลทราย เป็นต้น ส่วนการส่งออกไทยครึ่งแรกของปี 2566 หดตัว 5.4% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัว 2.3%

          ทั้งนี้ มูลค่าการค้ารวมมูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมิถุนายน 2566 การส่งออก มีมูลค่า 24,826.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6.4% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 24,768.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 10.3% ดุลการค้า เกินดุล 57.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 141,170.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 5.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 147,477.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.5% ดุลการค้าครึ่งแรกของปี 2566 ขาดดุล6,307.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนมิถุนายน 2566 การส่งออก มีมูลค่า 848,927 ล้านบาท หดตัว 6.3%เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 857,188 ล้านบาท หดตัว 10.2% ดุลการค้า ขาดดุล 8,261 ล้านบาท ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 4,790,352 ล้านบาท หดตัว 3.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 5,067,514 ล้านบาท หดตัว 1.3% ดุลการค้าครึ่งแรกของปี 2566 ขาดดุล 277,162ล้านบาท การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

          นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 8.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน โดยสินค้าเกษตรหดตัว 7.4% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 10.2% โดยสินค้าสำคัญที่หดตัวเช่น ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ฯลฯ โดยครึ่งแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 2.8%

          ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 4.6% (YoY) กลับมาหดตัวอีกครั้ง หลังจากที่ขยายตัวเมื่อเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขณะที่สินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องใช้สำหรับเดินทาง โดยครึ่งแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 5.3%

          ทั้งนี้ เมื่อดูภาพรวมการส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่หดตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการชะลอตัวของภาคการผลิตโลก โดยตลาดหลัก เช่น ตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอาเซียน (5) หดตัว 8.5% ตลาด CLMV หดตัว 23.1% ขณะที่ตลาด จีนขยายตัว 4.5% และญี่ปุ่น ขยายตัว 2.6% ส่วนตลาดรอง ตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกา หดตัว 2%

          สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ จากการบริโภคและการลงทุนที่ยังอ่อนแอ เศรษฐกิจยุโรปเปราะบางจากอุปสงค์ภายในและตลาดแรงงานที่อ่อนแอ โดยเฉพาะตลาดเยอรมนี ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ที่มีระดับค่าครองชีพสูงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ในขณะที่การถอนตัวจากข้อตกลง Black Sea Grain Initiative ของรัสเซีย และปัญหาภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ สร้างความกังวลต่อการตึงตัวของอุปทานอาหารโลก ซึ่งอาจจะกระทบต่อเงินเฟ้อและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า

          อย่างไรก็ดี มีปัจจัยสนับสนุนการส่งออกจากการเร่งเปิดตลาดศักยภาพเพื่อกระจายความเสี่ยงและลดผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดส่งออกหลัก เช่น ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกา นอกจากนี้ เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าของไทย และความกังวลต่อการขาดแคลนอาหารทั่วโลกอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ

จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม 2566

Scroll to Top
Skip to content