นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ระดับ 94.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 92.5 ในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคก่อสร้างขยายตัวโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์และโครงการภาครัฐนอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาท และอัตราค่าระวางเรือที่ลดลงช่วยสนับสนุนภาคการส่งออก
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กดดันกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงชะลอตัว เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอลงโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียนและยุโรป ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกโดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังกดดันราคาพลังงานโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อีกทั้ง แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการเงินโลก
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.1 ปรับตัวลดลงจาก 104.3 ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก รวมถึงวิกฤตภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลกระทบภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม
นายเกรียงไกรกล่าวว่า ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ โดยขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้างวด 3/2566 (เดือนกันยายน-ธันวาคม 2566) ลงมาอยู่ที่ 4.25 บาท/หน่วย เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการและบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมทั้ง เสนอให้ภาครัฐปรับเพิ่มเที่ยวบินและการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยวโดยให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย ตลอดจนส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถโปรโมทสินค้าไทยไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ภาครัฐเตรียมมาตรการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญรวมถึงมีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเพียงพอต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และขอให้ภาครัฐดูแลและบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง
นายเกรียงไกรกล่าวว่า ในส่วนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ นั้นภาคเอกชนกำลังติดตามอย่างใกล้ชิดซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ยังคงยืนยันอยากเห็นให้เป็นไปตามไทม์ไลน์เดิมคือภายในสิงหาคมนี้และสิ่งสำคัญต้องการรัฐบาลเสียงข้างมากและมีเสถียรภาพ ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอให้ 8 พรรคผนึกกำลังเพื่อรอให้สมาชิกวุฒิสภา(สว.)สิ้นสุดวาระใน 10 เดือนนั้นจะมีผลกระทบต่อการลงทุนแต่จะมากน้อยเพียงใดส.อ.ท.อยู่ระหว่างการศึกษาในภาพรวม
“ภาคเอกชนเองก็อยากให้ได้รัฐบาลใหม่ภายในเดือนสิงหาคมนี้หากยิ่งช้าก็ยิ่งส่งผลกระทบรอบด้าน ส่วนกรณีให้รอให้ สว. หมดวาระอีก 10 เดือนนั้น ทาง ส.อ.ท.จะเร่งศึกษาผลกระทบในทุกด้าน แต่หากถามรอได้ไหมนั้นในแง่ของนักลงทุนแต่ละชาติรอได้ไม่เท่ากันอย่างนักลงทุนไทยบางส่วนอาจรอได้ 6 เดือนถึง 1 ปี แต่นักลงทุนต่างชาติที่ไม่คุ้นเคยการเมืองไทยเช่นสหรัฐและยุโรป คงไม่รอ ส่วนญี่ปุ่นเองอยู่เมืองไทยนานจนเข้าใจสถานการณ์ก็อาจรอได้ ดังนั้น เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องศึกษาเพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยเองก็เปราะบางอยู่แล้ว จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก”นายเกรียงไกรกล่าว
จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 25 กรกฎาคม 2566