นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตฯได้จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง แนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยโรงงานและกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องสําหรับบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จัดขึ้นเนื่องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 77 ได้กําหนดให้มีการทบทวนกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายฉบับที่บังคับใช้อยู่โดยรวมของพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ถูกกําหนดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ให้แล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2567
ทั้งนี้กระบวนการประเมินผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวจําเป็นต้องมีการระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจในกํากับทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงาน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและกระบวนการเปรียบเทียบคดี จัดทําแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่เหมาะสม และเพื่อให้สามารถนําความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดแก่หน่วยงานอื่นได้ และสามารถปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพ
จากวัตถุประสงค์ และความเป็นมาของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการจัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและกระบวนการเปรียบเทียบคดี ได้มีความรู้ความเข้าใจในแนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนสามารถนําความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดแก่ข้าราชการในหน่วยงาน และสามารถปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพ โดยที่กฎหมายว่าด้วยโรงงาน คือ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และกฎหมายลําดับรองที่เกี่ยวข้องเป็นกฎหมายที่สําคัญฉบับหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรม และเกี่ยวข้องกับหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรมหลายหน่วยงาน
“ไม่ใช่เพียงแค่สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ กรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่หน่วยงานในกระทรวง แม้จะไม่มีกฎหมายเฉพาะที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(ดีพร้อม) และสํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ก็ล้วนมีส่วนที่เกี่ยวข้องบ้างไม่มากก็น้อยนอกจากนั้น การที่กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายการปฏิรูป การปฏิบัติงานโดยนโยบาย MIND โดยใช้ “หัว”และ “ใจ” ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชนและการกําหนดความสําเร็จของอุตสาหกรรมทั้ง 4 มิติ จึงจําเป็นอย่างยิ่งต้องใช้การผลักดันกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการทั้งหมด” นางสาวณัฏฐิญา กล่าว
นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตนได้เป็นประธานการการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานจัดทำคู่มือการดำเนินการทางความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 กรณีการเปรียบเทียบปรับโดยคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับระดับจังหวัด ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ครั้งที่ 4/2566 ซึ่งการจัดทำคู่มือฯ มีความก้าวหน้ากว่า 80% และฝ่ายเลขานุการ พร้อมกับ ทีมกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (สปอ.) และ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะนัดหารือชุดเล็ก เพื่อปรับปรุงคู่มือฯ ให้ถูกต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย ก่อนส่งให้ กพร. พิจารณาในภาพรวม และคณะผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมให้ข้อคิดเห็นต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปได้ทั้งหมดในเร็วๆ นี้
จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม 2566