นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลังของไทยภาพรวมยังคงทรงตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยซึ่งมีผลต่อการส่งออกของไทยสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกเดือนเมษายน 2556 ติดลบ 7.6% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ขณะเดียวกันยังมีตัวแปรจากความเสี่ยงที่จะเป็นปัจจัยเพิ่มเข้ามาจากการที่ไทยอาจจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่จะกดดันต่อผลผลิตภาคเกษตรของไทยในแง่ปริมาณที่ลดลงซึ่งจะกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรที่ประชาชนบริโภคโดยตรงและวัตถุดิบอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปให้มีต้นทุนเพิ่ม
“เศรษฐกิจโลกปีนี้เติบโตไม่เกิน 2.1% จากปีก่อน แม้แต่เศรษฐกิจจีนเองยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ทำให้ความต้องการสินค้าจากทั่วโลกลดลง กระทบต่อส่งออกของไทยในปีนี้จะชะลอตัวลงซึ่งคาดว่าการส่งออกทั้งปีในรูปของเงินเหรียญสหรัฐอาจติดลบ 2-3% จากปีก่อนแต่บังเอิญค่าเงินบาทของไทยที่อ่อนค่าทำให้การส่งออกในรูปเงินบาทอาจไม่ติดลบหรือติดลบน้อยลงได้” นายธนิต กล่าว
สำหรับการส่งออกปีนี้คงไม่ใช่กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่การท่องเที่ยวจะมีส่วนสำคัญหลังจากในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดไวรัสโควิด-19 รุนแรงทำให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ที่ดับสนิท แต่ขณะนี้เริ่มมีการทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องและคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาราว 30-35 ล้านคน ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องสามารถกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ขณะที่ตลาดในประเทศเองต้องยอมรับว่าแรงซื้อของคนไทยยังคงต่ำจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ระดับประมาณ 15 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงและบั่นทอนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้สิ่งที่กังวลและเป็นปัจจัยแทรกซ้อนก็คือการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังคงไม่มีทิศทางชัดเจนว่าจะเป็นไปไทม์ไลน์หรือไม่เพราะหากยิ่งช้าออกไปเท่าใดก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติแล้วยังรวมถึงการจัดทำงบประมาณปี 2567 จะล่าช้ากระทบต่อเม็ดเงินในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน แม้จัดตั้งได้ก็ยังคงจะต้องติดตามทีมเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ว่าจะมีหน้าตาอย่างไรและมีแนวทางจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างไรเพราะภาพขณะนี้ยังคงไม่ชัดเจนแม้ว่าจะมีทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งก็ตาม
“ผมยังมองไม่เห็นถึงความชัดเจนหรือเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมากนักมีเพียงนโยบายก้าวไกลที่มุ่งจะทำ 100 วันซึ่งบางอย่างเช่นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวันก็ไม่น่าจะใช้เวลา” นายธนิต กล่าว
ก่อนหน้านี้นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่าภาคเอกชนอยากให้การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้ไม่เกิดภาวะสุญญากาศ อยากให้สถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนมากกว่านี้ ภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางไม่เกิดการสะดุด แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ กกร.ได้ประเมินผลกระทบไว้ในคาดการณ์อยู่แล้ว หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปกว่าที่ควรจะเป็นคงบอกระดับความเสียหายไม่ได้ แต่ผลที่เกิดขึ้นจะสะท้อนให้เห็นจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ ซึ่งภาคเอกชนเองก็วางไทม์ไลน์ล้อตามไปด้วย แต่หากเกิดความล่าช้ากว่าไทม์ไลน์ก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศที่ไม่สามารถรอได้นานๆ นอกจากนี้ยังอยากให้สถานการณ์ทางการเมืองนิ่ง ไม่เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวาย
จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 20 มิถุนายน 2566