พณ.เผย RCEP มีผลครบ 15 ชาติ สินค้าไทยใช้สิทธิแล้ว 1.2 พันล้านดอลล์

          นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า RCEP ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 โดยในปี 2565 มีผลบังคับใช้กับสมาชิกทั้งหมด 13 ประเทศ และในปี 2566 มีผลบังคับใช้กับอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2566 และล่าสุด กับฟิลิปปินส์ในวันที่2 มิถุนายน 2566 ส่งผลให้มีผลบังคับใช้กับสมาชิกรวม15 ประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น กรมการค้าต่างประเทศในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: C/O) จึงได้ออกประกาศกรมการค้าต่างประเทศฉบับใหม่เพื่อรองรับการมีผลบังคับใช้ดังกล่าว โดยได้รวบรวมประกาศกรมการค้าต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ทั้ง 6 ฉบับไว้ในฉบับเดียว และคงเนื้อหาสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ต่างๆ ตามที่ความตกลงกำหนดไว้เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นรายชื่อสมาชิก 15 ประเทศของความตกลง RCEP กฎถิ่นกำเนิดสินค้าและกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules : PSR) ตามพิกัด HS 2022 ระเบียบวิธีปฏิบัติในการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP และรูปแบบของ Form RCEP เป็นต้น

          อย่างไรก็ดี อัตราภาษีจะค่อยๆ ทยอยลดลงเป็นขั้นบันได จนเป็น 0 ในปีที่ 10 11 15 16 หรือ 21 ที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565-31 มีนาคม 2566 การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า RCEPมีมูลค่า 1,299 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีการมาขอใช้สิทธิฯ มากที่สุด ได้แก่ น้ำมันหล่อลื่น มูลค่า642 ล้านเหรียญสหรัฐ ปลาทูน่ากระป๋อง มูลค่า 155 ล้านเหรียญสหรัฐ มันสำปะหลังเส้น มูลค่า 85 ล้านเหรียญสหรัฐ ทุเรียนสด มูลค่า 51 ล้านเหรียญสหรัฐ เลนส์ ปริซึม กระจกเงา และวัตถุเชิงทัศนศาสตร์อื่นๆสำหรับกล้องถ่าย เครื่องฉาย หรือเครื่องขยาย หรือย่อภาพถ่าย มูลค่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการส่งออกไปยังเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน

          นอกจากนี้ การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า RCEP จะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ การขอ Form RCEP ที่ผู้ประกอบการต้องมารับที่กรมการค้าต่างประเทศ และการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Approved Exporter) ที่ผู้ประกอบการจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศกรมการค้าต่างประเทศเรื่อง การขึ้นทะเบียนและการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคพ.ศ. 2564 ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ด้วย

          “ประกาศกรมการค้าต่างประเทศเกี่ยวกับ Form RCEP ฉบับใหม่นี้ได้รวบรวมประกาศกรมการค้าต่างประเทศทั้งหมดให้เป็นฉบับเดียว ขอให้ผู้ประกอบการศึกษาและปฏิบัติตามที่ประกาศฉบับนี้กำหนดอย่างละเอียดเพื่อให้สามารถขอรับ Form RCEP และนำไปใช้ลดภาษีนำเข้าที่ ณ ปลายทาง ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนทางการค้าและสร้างแต้มต่อในเวทีการค้าโลกได้เป็นอย่างมาก” นายรณรงค์ กล่าว

จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน 2566

Scroll to Top
Skip to content