จับกระแสพลังงาน : 13 มิถุนายน 2566

          บมจ.ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบรอบสัปดาห์นี้ (12-16 มิ.ย. 2566) โดยระบุว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง หลังกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (OPEC+) ขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิต รวมถึงการปรับลดกำลังการผลิตของซาอุดีอาระเบียในเดือน ก.ค. 2566 ที่ราว 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบในตลาดตึงตัว นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีการประชุมในสัปดาห์หน้านอกจากนี้ การผลิตในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกเริ่มชะลอตัวลงและคาดว่าจะกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 69-75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 72-78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

          คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่ประธานแทนรมว.พลังงาน จะนัดประชุมสัปดาห์หน้าเพื่อหารือมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากราคาก๊าซหุงต้ม หรือ แอลพีจี(LPG) ซึ่งจะครบกำหนดการตรึงราคาไว้ที่ 423 บาทต่อถัง (ขนาด 15 กก.) วันที่ 30 มิ.ย.นี้ จะมีการดำเนินการมาตรการอย่างไรต่อไปในช่วงรัฐบาลรักษาการเบื้องต้นไม่สามารถใช้มติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรมว.พลังงาน เป็นประธานในการพิจารณาเรื่องนี้ ดังนั้น ทาง กบน. จะต้องทำหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวไปก่อน โดยคาดว่าจะขอความเห็นจากที่ประชุมเพื่อนำเรื่องการต่ออายุมาตรการตรึงราคาแอลพีจี หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าทำได้หรือไม่ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 4 มิ.ย. มีหนี้สะสมรวม 66,276 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีแอลพีจี 46,376 ล้านบาท และบัญชีน้ำมัน 19,900 ล้านบาท ถือว่าบริหารได้ดีขึ้นตามลำดับ จากเดิมที่มีภาระหนี้กว่า 1 แสนล้านบาทโดยเฉพาะหนี้จากการชดเชยราคาดีเซล ขณะนี้เหลือไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท และคาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้ จะเริ่มมีสถานะเป็นบวกได้แน่นอนขณะที่หนี้จากการตรึงราคาแอลพีจียังมีอยู่ระดับสูงเนื่องจากมีรายได้จากการจัดเก็บเงินเข้าเพียงเดือนละ 20 ล้านบาทเท่านั้น และหากทางคณะกรรมการกฤษฎีกาให้อำนาจ กบน.ในการพิจารณาต่ออายุมาตรการตรึงราคาแอลพีจีก็สามารถดำเนินการได้ โดยอาจต้องใช้เงินอุดหนุนราคาจากบัญชีน้ำมันมาดูแลไปก่อน ซึ่งที่ผ่านมาจะใช้วิธีการกำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นที่20.9179 บาทต่อกก. (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)หรือ 423 บาทต่อถัง 15 กก. สำหรับการดูแลราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) จะสิ้นสุดมาตรการวันที่ 15 มิ.ย.นี้ นั้นอาจต้องมอบหมายให้ทางบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) เข้ามาช่วยดูแลในการราคาขายปลีกไว้ก่อน ซึ่งเดิมกำหนดให้รถยนต์ทั่วไป คงราคาขายปลีก 17.59 บาท/กิโลกรัม และรถแท็กซี่ในโครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกันของ ปตท. ให้คงราคาขายปลีก 13.62 บาท/กิโลกรัม

          การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เตือนภัย อย่าหลงเชื่อ! ผู้แอบอ้างชื่อหน่วยงาน หรือแอบอ้างเป็นพนักงาน ชักชวนลงทุน หรือทำธุรกรรมทางการเงินผ่านทาง Facebook / เว็บไซต์ /แอปพลิเคชั่น / ข้อความ SMS / LINE หรือ Social Media ระวังจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ซึ่งทั้ง 3 การไฟฟ้าได้ชี้แจงว่า กฟผ. กฟน. และ กฟภ. เป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้ดำเนินการในรูปแบบบริษัท และไม่มีการชักชวนให้ลงทุนใดๆ ทั้งสิ้น

          บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ผ่านการพิจารณาขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนประเภท Carbon Neutral Event งานประชุมสามัญผู้ถือหุ้น IRPC ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 จากการประชุมคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 รวมค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของงานอีเว้นท์ เพื่อขอการรับรองการจัดงานเท่ากับ 18 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

          คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมหารือ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว สำหรับขายปลีกระหว่างการไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งต้องบวกรวมต้นทุนค่าบริหารจัดการและค่าสายส่งสายจำหน่ายไฟฟ้าไว้ด้วย หลังจากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นประชาชน ก่อนจะให้ กฟผ. กำหนดอัตราที่เหมาะสมเสนอเข้า บอร์ด กกพ. อีกครั้งก่อนประกาศใช้จริง คาดเสร็จภายในปี 2566 ก่อนเปิดซื้อขายไฟฟ้าได้จริงปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568 ต่อไป

          เรียกว่าสิ้นสุดการรอคอยกันแล้วกับแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (PDP 8) ปี 2564-2573 ของเวียดนาม ที่ภาคเอกชนธุรกิจไฟฟ้าของไทยเฝ้ารอก็คลอดออกมาเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าขยับเพิ่มเป็น 150,489 เมกะวัตต์ ในปี 2573 โดยแผน PDP 8 ฉบับใหม่นี้ให้ความสำคัญการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดรับกับการเข้าสู่ Net Zero ในปี 2593 ของเวียดนามทั้งนี้ แผน PDP 8 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากประเภทเชื้อเพลิงถ่านหิน 30,127 เมกะวัตต์, LNG to Power 22,400 เมกะวัตต์, ก๊าซฯ ในประเทศ 14,930 เมกะวัตต์, พลังงานน้ำ (Hydro Power) 29,346 เมกะวัตต์, พลังงานลมบนบก 21,800 เมกะวัตต์, พลังงานลมนอกชายฝั่ง 6,000 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์ 12,836 เมกะวัตต์, นำเข้าไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์,Hydroelectricity 2,400 เมกะวัตต์, แบตเตอรี่สำรอง 300 เมกะวัตต์, ไบโอแมสและขยะ 2,270 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าโคเจน 2,700 เมกะวัตต์และพลังงานอื่นๆ ที่เหลือ ซึ่งเบื้องต้นเวียดนามวางเป้าหมายในปี 2593 เวียดนามจะไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอีกต่อไป และโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯในประเทศและ LNG จะเปลี่ยนเป็นไฮโดรเจนด้วยทิศทางการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของเวียดนามในอนาคตเป็นความเสี่ยงที่ภาคเอกชนไทยต้องพิจารณาเงื่อนไขรายละเอียดที่จะออกมาเพื่อประกอบการตัดสินใจ

จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 13 มิถุนายน 2566

Scroll to Top
Skip to content