ส.อ.ท.โพลหวังรัฐบาลใหม่ เร่งงานตาม MOU เพื่อขับเคลื่อนศก.

          นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 29 ในเดือนพฤษภาคม 2566 ภายใต้หัวข้อ “ภาคอุตสาหกรรมคิดอย่างไรต่อ MOU พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล” ว่า ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในทางการเมืองของไทยมาก่อน ข้อตกลงร่วมทั้ง 23 ข้อภายใต้ MOU นั้น หลายเรื่องมีผลต่อการ

          ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ทั้งนี้ จากผลสำรวจฯ ผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 252 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด คาดหวังให้รัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน 75.8% ตามที่ระบุใน MOU โดยเร็ว

          นอกจากนี้ยังต้องการให้แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน 71.4% ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม65.9% ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราว ซึ่งใบอนุมัติอนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME57.5% ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต 54.% ตามลำดับ

          นายมนตรี กล่าวว่า นอกจากข้อตกลงร่วมทั้ง 23 ข้อ ภายใต้ MOU ที่ได้ลงนามไปแล้วนั้น ยังมีเรื่องสำคัญที่รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญและดำเนินการเพิ่มเติม เช่น การส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างโอกาสใหม่แก่ประเทศ 67.9%, การยกระดับให้ผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ 58.7%, การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 58.7% การพัฒนาและยกระดับระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ของประเทศ รวมถึงสร้างระบบ Multimodal Transport รวมทั้งมีการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 56.7%

          อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า ต้องการให้มีการกำหนดให้การปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบ และการขออนุญาตภาครัฐ ให้มีความสะดวก โปร่งใส เทียบเคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว 72.6% เป็นเป้าหมายลำดับแรกๆ ในการดำเนินงานของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในทุกมิติ ลำดับถัดไปต้องการให้ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และลดระดับหนี้ครัวเรือนให้ลดลงไปอยู่ในระดับที่ยั่งยืน (ต่ำกว่า 80% ของ GDP) 52.4% เร่งแก้ไขปัญหาแรงงาน และเร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) 47.6%

จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 1 มิถุนายน 2566

Scroll to Top
Skip to content