นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศทั่วโลกส่งสัญญาณชะลอตัว ชี้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของโลกปี 2566 มีทิศทางอยู่ในขาลงอย่างชัดเจนข้อมูลจาก trading economics ล่าสุด (8 พฤษภาคม 2566) พบว่า 21 ประเทศ จาก 78 เขตเศรษฐกิจ (รวมถึงไทย) รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index: PPI) หดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ 59 เขตเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 10 % ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับตัวลดลงจากที่อยู่ในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ อุปสงค์ของโลกที่ชะลอตัวลง และปัญหาอุปทานไม่เพียงพอมีแนวโน้มคลี่คลายลงจากปีก่อนหน้านี้ อีกทั้งอัตราการเปลี่ยนแปลงชะลอตัวลงกระจายในหลายกลุ่มสินค้า สะท้อนว่า ทิศทางการชะลอตัวของดัชนียังคงมีต่อเนื่องและการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตและผู้ประกอบการสู่ผู้บริโภคจะลดลงในระยะถัดไปขณะที่ผู้ประกอบการไทยควรรีบใช้โอกาสจากการมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าหลายประเทศ เพื่อเร่งการส่งออกสินค้าและวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานโลก
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตเทียบกับปีก่อน (YoY) ในเดือนมีนาคม ไทยขยายตัวต่ำเป็นอันดับที่ 16 จาก 78 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลขในเดือนมีนาคม อยู่ที่ร้อยละ -1.7 ซึ่งอยู่ต่ำกว่าหลายเขตเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ไต้หวัน อินเดีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และ สหราชอาณาจักร เป็นต้น และต่ำกว่าประเทศในอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยประเทศที่ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงต่ำกว่าไทย เช่น สิงคโปร์ รัสเซีย มาเลเซีย และจีนโดยหลายเขตเศรษฐกิจสำคัญ ดัชนีราคาผู้ผลิตต่ำสุดในรอบหลายเดือน และการชะลอตัวของดัชนีกระจายในหลายกลุ่มสินค้า เช่น 1. จีนหดตัว -2.5% ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน 2.สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 2.7% ต่ำสุดในรอบ 26 เดือน 3.สหภาพยุโรป ขยายตัว 5.9% ต่ำสุดในรอบ 24 เดือน 4.ญี่ปุ่น ขยายตัว 7.2% ต่ำสุดในรอบ 18 เดือน
สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิตของไทย เดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ระดับ 110.1 หดตัว 3.4% (YoY) โดยหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทั้งนี้ เป็นจากการลดลงของทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย 1. หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หดตัว 3.2% จากกลุ่มสินค้า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กลั่นปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และโลหะขั้นมูลฐาน จากความต้องการตลาดที่ชะลอตัว 2.หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง หดตัว 10.5% จากการหดตัวของก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และสินแร่โลหะ (สังกะสี ดีบุก เหล็ก และวุลแฟรม) 3. หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง หดตัว 2.5% จากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรสำคัญ ได้แก่ ผลปาล์มสด มะพร้าวผล ยางพารา และผลไม้ (ทุเรียน กล้วยหอม) ผลจากปริมาณผลผลิตเพียงพอกับอุปสงค์ สำหรับสินค้าที่ดัชนีปรับสูงขึ้น เช่น ข้าวเปลือกเจ้า อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ ไข่เป็ด และผลิตภัณฑ์จากการประมง เป็นต้น ในภาพรวมดัชนีเคลื่อนไหวในช่วง 111.0 – 114.0 ทำให้การขยายตัวมีความไม่แน่นอนในแต่ละเดือน
ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต ในช่วงที่เหลือของปี 2566 มีทิศทางลดลง โดยหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามราคาพลังงานที่ต่ำกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก รวมทั้งอุปสงค์โลกที่ลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าสำคัญ ประกอบกับฐานราคาปี 2565 อยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัว สำหรับหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ในช่วงไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มหดตัวเนื่องจากฐานที่สูงของปีก่อนหน้า ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวจากฐานที่ต่ำ
จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม 2566