แผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 4 ขับเคลื่อนภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์หลัก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2565 – 2570) (แผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4 มีพัฒนาการที่สานต่อจากแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 3 โดยคำนึงถึงปัจจัยความท้าทายและทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโลก (Mega Trends) ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนในหลายด้านที่สำคัญ อาทิ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมสูงวัย ภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น
รวมทั้งมุ่งเน้นการสร้างภูมิทัศน์ของภาคตลาดทุนไทยในอนาคตให้ตอบสนองเป้าหมายการขับเคลื่อนใน 7 ด้าน ได้แก่ 1) ความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจและการจัดสรรเงินทุนภายในประเทศได้อย่างเหมาะสม 2) การเติบโตเชิงคุณภาพ และการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในตลาดทุนประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม 3) การให้ความสำคัญกับการเข้าถึงตลาดทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจเริ่มต้น และผู้ลงทุนรายย่อยในการใช้ประโยชน์จากตลาดทุนมากขึ้น 4) ตลาดทุนสามารถบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายมากขึ้น 5) การใช้ประโยชน์จากดิจิทัลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกัน 6) ความสอดคล้องกัน ระหว่างสินทรัพย์ดั้งเดิมและสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการสอดประสานและร่วมมือกันของหน่วยงานกำกับดูแล และ 7) สาธารณชนมีความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย
เพื่อให้แผนพัฒนาตลาดทุนไทยได้อย่างต่อเนื่อง จึงกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจไว้ ดังนี้ วิสัยทัศน์ : ตลาดทุน (กำลัง 4) เพื่อการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแข็งแรง 1) “สานต่อ” ตลาดทุนให้เป็นผู้นำระดับภูมิภาค 2) “ส่งเสริม”ทุกภาคส่วนให้เติบโตอย่างยั่งยืน 3) “สนับสนุน” ทุกภาคส่วนให้ปรับสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และ 4) “เสริมสร้าง” ความอยู่ดีมีสุขทางการเงินของประชาชนพันธกิจ : ได้แก่ 1) ตลาดทุนเพื่อการแข่งขันได้ 2) ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน 3) ตลาดทุนดิจิทัล 4) ตลาดทุนเพื่อความอยู่ดีมีสุขทางการเงิน และ 5) ตลาดทุนที่ทุกฝ่ายได้ใช้ประโยชน์/เข้าถึงได้
พร้อมทั้งกำหนด 5 ยุทธศาสตร์ได้แก่1.ตลาดทุนเพื่อการแข่งขันได้ เป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันทุกภาคส่วน 2.ตลาดทุนที่เอื้อให้ทุกภาคส่วนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ 3.ตลาดทุนดิจิทัล เป็นการส่งเสริม ประยุกต์ และใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในตลาดทุน 4.ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจ5.ตลาดทุนเพื่อความอยู่ดีมีสุขทางการเงินรวมถึงการสร้างโอกาสลงทุน โดยมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566