อุตฯยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์-พลาสติกชีวภาพรุ่ง

อุตฯยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์-พลาสติกชีวภาพรุ่ง 

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2566 มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2565 แต่ต้องปรับตัวเผชิญกับความท้าทาย ทั้งความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ และภัยธรรมชาติ 

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมไทยสามารถก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19 มาแล้ว โดยเริ่มมีการฟื้นตัวตั้งแต่กลางปี 2565 หลังทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ซึ่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วยให้รายได้กลับเข้าสู่เศรษฐกิจระดับชุมชนอีกครั้ง และการดำเนินธุรกิจเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ 

ทั้งนี้ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตเริ่มฟื้นตัวรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ และการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเร่งคว้าโอกาสปรับตัวเผชิญกับความท้าทายและความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก 

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตโดดเด่นในปี 2566 ได้แก่ ยานยนต์ โดยเฉพาะยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้บริโภคมีความต้องการรถยนต์ไฮบริดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทที่ผลิตรถยนต์ประเภทดังกล่าวเติบโตตามความต้องการที่มากขึ้น สะท้อนได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์ xEV ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดทุกประเภท นอกจากนี้ในปี 2565 ยอดการผลิตรถยนต์รวมทุกประเภทและรถจักรยานยนต์เติบโตมากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งการจำหน่ายในประเทศและส่งออก โดยปี 2566 ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ 1.95 ล้านคัน รถจักรยานยนต์ 2.1 ล้านคัน 

ในขณะที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีความต้องการใช้สูงขึ้นมาก จากการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดโลกสูงมาก รวมถึงการเชื่อมโยงกิจกรรมการผลิตเข้ากับระบบอัตโนมัติหลากหลายประเภท ช่วยผลักดันให้การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผ่นวงจรรวม (IC) และแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCBA) ส่วนอาหารและเครื่องดื่มที่เกี่ยวกับสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อาหารทางการแพทย์ และอาหารสำหรับผู้สูงอายุ เครื่องดื่มสมุนไพร ก็เติบโตจากกระแสรักสุขภาพ เครื่องปรับอากาศอัจฉริยะ ก็เป็นที่ต้องการของตลาด 

นอกจากนี้ยังมีพลาสติกชีวภาพ กลุ่มพลาสติกปลอดสารพิษและย่อยสลายได้ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับทำบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มก็มีการเติบโต เภสัชภัณฑ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพโดยเฉพาะยาเม็ดสกัดจากสมุนไพร ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคทั้งในไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

ในปี 2566 นี้ สศอ.ประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัว 2.5-3.5% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยห่วงโซ่อุปทานสามารถกลับมาดำเนินได้ตามปกติ และปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบคลี่คลายลง จะส่งผลให้ภาคการผลิตกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ประกอบกับการบริโภคในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวตามการท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติเริ่มมีการทยอยเข้ามาลงทุน นอกจากนี้ภาวะเงินเฟ้อและระดับราคาสินค้าเริ่มชะลอตัวลงในหลายประเทศ อาจเป็นปัจจัยหนุนให้กำลังซื้อของประเทศคู่ค้ามีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในอนาคต” นางวรวรรณ กล่าว 

จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

Scroll to Top
Skip to content