เงินเฟ้อขาลงมกราคมต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

เงินเฟ้อขาลงมกราคมต่ำสุดในรอบ 9 เดือน 

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมกราคม 2566 เท่ากับ 108.18 เทียบกับธันวาคม 2565 เพิ่มขึ้น 0.30% เทียบกับเดือนมกราคม 2565 เพิ่มขึ้น 5.02% ชะลอตัวลงจากเดือนธันวาคม 2565 ที่สูงขึ้น 5.89% และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและอาหาร ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว เทศกาลปีใหม่ และตรุษจีนส่งผลให้การใช้จ่ายคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา 

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนมกราคม 2566 สูงขึ้น 5.02% มาจากการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 3.18% ได้แก่ กลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ ทั้งรถเมล์เล็ก รถสองแถว รถแท็กซี่ เครื่องบิน และยังมีการสูงขึ้นของวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงช่าง ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล เช่น สบู่ถูตัว ยาสีฟัน สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด สินค้าที่ปรับลดลง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เสื้อและกางเกง 

ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 7.70% แต่ก็ชะลอตัวลงโดยอาหารสำเร็จรูปที่สูงขึ้น เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง ข้าวกล่อง อาหารเช้า ผักและผลไม้สด เช่น ต้นหอม มะเขือ ผักบุ้ง แตงโม ส้มเขียวหวาน มะม่วง ข้าวสาร และไข่ไก่ สาเหตุก็คือต้นทุนที่อยู่ระดับสูง ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น เนื้อสุกร ผักสดและผลไม้บางชนิด ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.08% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2565 และเพิ่มขึ้น 3.04% เมื่อเทียบกับมกราคม 2565 

แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง และต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี ยกเว้นจะมีสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อปีนี้ ยังคงเป็นสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม และราคาสินค้าในกลุ่มอาหารที่สูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงมีความต้องการเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ชะลอตัว เงินบาทแข็งค่าส่งผลดีต่อต้นทุนนำเข้า ซึ่งจะช่วยให้เงินเฟ้อไม่สูงมากนัก เงินเฟ้อทั้งปียังคงคาดการณ์ 2-3% ค่ากลาง 2.5% ยกเว้นมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจะทบทวนอีกครั้ง 

จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

Scroll to Top
Skip to content