สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 11 – 15 กันยายน 2566

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 11 – 15 กันยายน 2566

            ตลาดน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์คประจำสัปดาห์นี้ (11 – 15 กันยายน 2566) ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 37 ของปี 2566 โดยราคาน้ำตาลทรายดิบในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวผันผวน และปิดตลาดครั้งสุดท้ายด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงต้นสัปดาห์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์คเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ลดลง ช่วยกระตุ้นราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงน้ำตาลด้วย ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลได้รับแรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกที่จะลดลง ต่อมาในช่วงกลางสัปดาห์ราคาน้ำตาลเคลื่อนไหวลดลงพอประมาณตามสัญญาณผลผลิตน้ำตาลของบราซิลที่แข็งแกร่ง โดย Unica รายงานว่า ผลผลิตน้ำตาลทางภาคกลาง – ใต้ของบราซิล ในช่วงครึ่งหลังของเดือนสิงหาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากนั้นในช่วงท้ายสัปดาห์ราคาน้ำตาลเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี ก่อนที่จะปิดลดลงพอประมาณ หลังจากความเห็นของปลัดกระทรวงอาหารของอินเดีย กระตุ้นให้มีแรงขายเพื่อชำระบัญชีตั๋วซื้อ (Long Liquidation) ในตลาดน้ำตาลล่วงหน้าออกมา เมื่อเขากล่าวว่า อินเดียมีสต็อกน้ำตาลภายในประเทศเพียงพอสำหรับความต้องการในช่วงเทศกาลที่จะถึงนี้

            ราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนตุลาคม 2566 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 25.96 – 27.59 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 26.91 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.60 เซนต์/ปอนด์ หรือ 2.28 % และราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนมีนาคม 2567 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 26.29 – 27.79 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 27.16 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.56 เซนต์/ปอนด์ หรือ 2.11 %

ตลาดน้ำตาลนิวยอร์ค หมายเลข 11 (เซนต์/ปอนด์)

เดือนกำหนดราคา ราคาสูงสุด ราคาต่ำสุด ราคาปิดเมื่อวันที่

15 กันยายน 2566

ราคาปิดเมื่อวันที่

8 กันยายน 2566

เปลี่ยนแปลง

เพิ่ม (+), ลด (-)

ตุลาคม 2566  27.59  25.96 26.91 26.31 +0.60
มีนาคม 2567  27.79  26.29 27.16 26.60 +0.56
พฤษภาคม 2567  26.34  24.90 25.82 25.13 +0.69
กรกฎาคม 2567  25.06  23.63 24.63 23.78 +0.85
ตุลาคม 2567  24.58  23.16 24.19 23.28 +0.91
มีนาคม 2568  24.34  22.97 24.00 23.07 +0.93
พฤษภาคม 2568  22.46  21.22 22.20 21.21 +0.99
กรกฎาคม 2568  20.94  19.91 20.76 19.88 +0.88
ตุลาคม 2568  20.35  19.53 20.22 19.50 +0.72
มีนาคม 2569  20.30  19.61 20.18 19.58 +0.60
พฤษภาคม 2569  19.60  19.00 19.48 18.97 +0.51
กรกฎาคม 2569  19.27  18.80 19.09 18.69 +0.40

ข่าวที่สำคัญ

            วันที่ 15 กันยายน 2566 สถาบัน hEDGEpoint Global Markets กล่าวว่า สภาพอากาศที่ขาดฝนในช่วงเดือนกันยายน 2566 ของภาคกลาง – ใต้ของบราซิล รวมกับการลดลงของน้ำตาลบราซิล จึงคาดการณ์ว่า น่าจะมีน้ำตาลมากกว่าที่ต้องการก่อนการส่งมอบในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่จำกัดราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่กำลังพุ่งสูงขึ้น ด้าน StoneX เสริมว่า อุปสงค์น้ำตาลทั่วโลกที่ฟื้นตัวสู่ระดับปกติในระดับเดียวกับในช่วงก่อนการระบาดของโควิด – 19 บวกกับผลผลิตที่ลดลงจากเอเชียส่งผลให้ราคาน้ำตาลสูงขึ้น

            วันที่ 14 กันยายน 2566 สถาบันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างประเทศ (IISD) กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยจำนวนมากในประเทศกำลังพัฒนายังคงดำรงชีวิตอยู่อย่างยากจน แม้จะมีความพยายามปฏิบัติตามมาตรฐานข้อตกลงการค้ายั่งยืนโดยสมัครใจ (VSS) เช่น บองซูโคร (Bonsucro) มูลนิธิโปรเทอร์ร่า (ProTerra Foundation) และ แฟร์เทรด (Fairtrade) ที่สนับสนุนความเป็นธรรมทางการค้าอ้อยก็ตาม โดย IISD ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า อุปทานน้ำตาลตามมาตรฐาน VSS มีมากเกินกว่าความต้องการซื้อน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ที่ชาวไร่อ้อยได้รับ

            วันที่ 11 กันยายน 2566 บริษัทที่ปรึกษา Archer Consulting รายงานว่า การที่ราคาน้ำตาลในช่วงสัปดาห์ที่แล้วปรับเพิ่มขึ้นได้รับแรงหนุนจากการเข้ามาซื้อของกลุ่มกองทุน ในขณะที่ผู้ผลิตชาวบราซิลใช้ประโยชน์จากการที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นทำการขายน้ำตาลล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงประมาณ 35 % ของการส่งออกปี 2567/2568 และเตือนว่า ตลาดน้ำตาลมีความเสี่ยงจากแรงเทขายของกลุ่มกองทุน โดยในทางกลับกัน JM Financial Institutional Securities ยังคงเชื่อว่า การผลิตน้ำตาลของอินเดียในปี 2566/2567 อยู่ที่ 30 ล้านตัน ซึ่งต่ำกว่าที่ ISMA คาดการณ์ไว้ที่ 31.7 ล้านตัน และเสริมอีกว่า รัฐบาลอินเดียไม่น่าจะตัดสินใจเรื่องการส่งออกจนกระทั่งหลังเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งอินเดียปิดหีบแล้ว ในขณะเดียวกัน ดัชนีราคาน้ำตาลขององค์การอาหาร และเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพิ่มขึ้น 1.3 % ในเดือนสิงหาคม 2566 ทำให้เพิ่มขึ้นเป็น 34 % ต่อปี

อเมริกากลาง-เหนือ

            วันที่ 13 กันยายน 2566 กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ปรับลดอัตราส่วนสต็อกน้ำตาลต่อการบริโภคของสหรัฐฯ ลงเหลือ 13.5 % ในรายงานเดือนกันยายน 2566 จาก 15.2 % เมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากแนวโน้มผลผลิตน้ำตาลจากบีทที่สูงขึ้นน่าจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลผลิตน้ำตาลที่ลดลงของรัฐลุยเซียนา (Louisiana) ที่ประสบภัยแล้ง ด้านสำนักพิมพ์ Sosland เสริมว่า ราคาน้ำตาลโลกที่สูงขึ้นอาจเป็นปัจจัยที่จำกัดการนำเข้าน้ำตาลของสหรัฐฯ

            วันที่ 11 กันยายน 2566 จนถึงขณะนี้ ประเทศเม็กซิโกมีการนำเข้าน้ำตาลไปแล้ว 160,000 ตัน และคาดว่าจะนำเข้าทั้งสิ้น 200,000 ตัน ภายในช่วงสิ้นปีนี้เพื่อตอบสนองความต้องการน้ำตาลในประเทศ ในขณะที่ Market Consulting Agricultural Group (GCMA) รายงานว่า เม็กซิโกน่าจะมีการนำเข้าน้ำเชื่อมฟรักโทสจากข้าวโพด (HFCS) เพิ่มขึ้น 100,000 ตัน เป็น 1.4 ล้านตัน ด้านสมาคมขนมหวาน และช็อกโกแลต (Aschoco) ตั้งข้อสังเกตว่า การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการที่เงินเปโซเม็กซิโกที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ช็อกโกแลต และขนมหวานมีกำไรมากขึ้นเนื่องจากการที่สามารถนำเข้าวัตถุดิบได้มากขึ้น แทนที่จะจัดหาจากแหล่งวัตถุดิบภายในประเทศ

อเมริกาใต้

            วันที่ 15 กันยายน 2566 Williams Brasil รายงานว่า ณ ท่าเรือของประเทศบราซิลมีน้ำตาลจำนวนประมาณ 4.45 ล้านตัน กำลังรอการขนถ่ายลงเรือ ซึ่งปริมาณเกือบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนในขณะเดียวกันท่าเรือปอร์โต ปอนต้า โด เฟลิกซ์ (Ponta do Felix) ในเขตอันโตนินา (Antonina) มีการเพิ่มเครื่องจักรในการขนส่งช่วยให้การดำเนินการนำน้ำตาลทรายดิบ (VHP) ลงเรือเพิ่มขึ้น 70 % โดย ED&F MAN ตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนหนึ่งนั้นการที่ขนส่งได้เพิ่มขึ้นเป็นเพราะท่าเรือนี้ไม่มีคิวในการรอรับน้ำตาลมากเท่ากับท่าเรือที่อื่นๆ ด้านเจ้าหน้าที่ของท่าเรือ รายงานว่า ในเดือนสิงหาคม 2566 ท่าเรือปารานากัว (Paranagua) และอันโตนินา (Antonina) มีการจัดการส่งออกน้ำตาลจำนวนมากที่ 2.86 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 26 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แม้ว่าฝนจะตกหลายวันก็ตาม

            วันที่ 14 กันยายน 2566 Williams Brasil รายงานว่า ประเทศบราซิลส่งออกน้ำตาลแล้ว 10.05 ล้านตัน ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 7.7 % เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วบราซิลมีการส่งออกน้ำตาลอยู่ที่ 9.34 ล้านตัน โดยปริมาณการส่งออกน้ำตาลของปี 2566 สูงเป็นอันดับสองของประวัติกาลนับตั้งแต่ปี 2554 เมื่อมีการรวบรวมข้อมูลการส่งออกน้ำตาลของบราซิลครั้งแรก

            วันที่ 13 กันยายน 2566 สำนักงานเลขาธิการกระทรวงการค้าต่างประเทศ (SECEX) รายงานข้อมูลว่า ประเทศบราซิลได้มีการส่งออกน้ำตาลแล้ว 708,000 ตัน ในช่วง 5 วันทำการแรกของเดือนกันยายน 2566 ซึ่งมีอัตราการนำน้ำตาลลงเรือเฉลี่ยต่อวันต่ำกว่าเดือนกันยายนปีที่แล้ว 1.5 % ซึ่งเดือนกันยายนปีที่แล้วมีการส่งออกน้ำตาลอยู่ที่ 3.02 ล้านตัน ในขณะเดียวกันสมาคมผู้ส่งออกธัญพืชแห่งชาติบราซิล (Anec) ได้เพิ่มประมาณการการส่งออกข้าวโพดในเดือนกันยายน 2566 เป็น 10.69 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 9.67 ล้านตัน ที่คาดการณ์ไว้ในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงเป็นประวัติการณ์

            วันที่ 12 กันยายน 2566 สถาบันวิจัย Cepea/Esalq ของประเทศบราซิล รายงานว่า ราคาไฮดรัสหน้าโรงงานของรัฐเซาเปาโล (Sao Paulo) ลดลง 0.25 % ในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้วเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบเดือนนี้ ในขณะที่ราคาแอนไฮดรัสเพิ่มขึ้น 0.41 % ในขณะเดียวกันราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นเป็นปัจจัยที่ผลักดันราคาน้ำตาลทรายขาวของรัฐเซาเปาโล (Sao Paulo) สูงขึ้นถึง 140 เรียลบราซิล/ 50 กิโลกรัม (28.39 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ 50 กิโลกรัม) ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2566

            วันที่ 11 กันยายน 2566 Williams Brasil รายงานข้อมูลว่า ประเทศบราซิลมีเรือรอรับน้ำตาลปริมาณลดลงเหลือ 4.47 ล้านตัน ณ วันที่ 6 กันยายน 2566 จาก 4.6 ล้านตัน ในสัปดาห์ที่แล้ว ด้านสมาคมผู้ส่งออกธัญพืชแห่งชาติ (Anec) คาดว่า บราซิลน่าจะสามารถส่งออกข้าวโพดจำนวน 9.6 ล้านตัน ในช่วงเดือนกันยายน 2566 เพิ่มขึ้น 37 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเป็นสถิติสูงสุดของเดือนนี้ ในขณะที่การส่งออกถั่วเหลืองอยู่ที่ 7.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 109 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

            วันที่ 13 กันยายน 2566 Unica รายงานผลผลิตน้ำตาลและอ้อยเข้าหีบภาคกลาง – ใต้บราซิล ฤดูการผลิตปี 2566/2567 (เมษายน – มีนาคม) ณ วันที่ 1 กันยายน 2566 ดังนี้

รายการ ในช่วงครึ่งหลังเดือนสิงหาคม 2566 ยอดสะสม
ปี ปี เปลี่ยนแปลง ปี ปี เปลี่ยนแปลง
2565/66 2566/67 (%) 2565/66 2566/67 (%)
ผลผลิตอ้อย (พันตัน) 44,209 46,515 +5.22 366,690 406,645 +10.9
ผลผลิตน้ำตาล (พันตัน) 3,148 3,461 +9.95 21,782 26,146 +20.03
ผลผลิตเอทานอล (ล้านลิตร) 2,258 2,306 +2.17 17,971 19,097 +6.26
ATR (กก/ตันอ้อย) 154.26 153.93 -0.21 138.03 137.24 -0.57
สัดส่วนอ้อยนำไปผลิตน้ำตาล (%) 48.45 50.73 +4.71 45.16 49.17 +8.88
สัดส่วนอ้อยนำไปผลิตเอทานอล (%) 51.55 49.27 -4.42 54.84 50.83 -7.31
กก. น้ำตาลต่อตันอ้อย 71.21 74.41 +4.49 59.40 64.30 +8.24

เอเชีย

            วันที่ 15 กันยายน 2566 กรมอาหารและการจัดจำหน่ายสาธารณะและเลขาธิการอาหาร ของประเทศอินเดียออกแถลงการณ์เพื่อขจัดการพูดถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลที่กำลังจะเกิดขึ้น และรายงานว่า เชื่อว่าปริมาณน้ำตาลที่มีในสต็อก 8.5 ล้านตัน นั้นเพียงพอต่อการบริโภคไปจนถึงช่วงเริ่มต้นเปิดหีบในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยอย่างไรก็ตาม ผู้ค้ารายหนึ่ง กล่าวว่า มีการพูดคุยกันว่าสต็อกน้ำตาลที่แท้จริงอยู่ที่ต่ำกว่า 5 ล้านตัน ซึ่งหมายความว่าน้ำตาลอาจจะไม่เพียงพอ

            วันที่ 14 กันยายน 2566 เจ้าหน้าที่ของรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) กล่าวว่า รัฐบาลอินเดียกำลังมองหาแนวทางที่จะขึ้นราคาอ้อยที่รัฐกำหนด (SAP) สำหรับฤดูกาลหน้า และกล่าวเสริมว่า การตัดสินใจดังกล่าวจะมีการประกาศก่อนการตัดสินใจในช่วงปี 2567 แต่เจ้าหน้าที่กำลังรอดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราการชำระเงิน ในขณะเดียวกันรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) คณะกรรมการแนะนำให้ประกาศภาวะฉุกเฉินภัยแล้งในพื้นที่ 195 เขตจาก 227 เขต

            วันที่ 13 กันยายน 2566 สมาคมโรงงานน้ำตาลอินเดียตะวันตก ระบุว่า ผลผลิตน้ำตาลของรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ในปี 2566/2567 จะอยู่ที่ 9 ล้านตัน ลดลงจาก 10.5 ล้านตัน ในฤดูกาลที่แล้วเนื่องจากขาดฝน ด้านสื่อท้องถิ่น รายงานว่า สภาพอากาศที่แห้งแล้งกระตุ้นให้เกษตรกรขายอ้อยสำหรับเป็นอาหารสัตว์มากขึ้น ส่งผลให้อุปทานน้ำตาลลดลง และรายงานเสริมอีกว่า การเปิดหีบต้องเริ่มตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียอ้อยที่จะนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ และส่งให้กับโรงงานในรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ที่อยู่ใกล้เคียง

            วันที่ 13 กันยายน 2566 ผู้ค้า กล่าวว่า ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นในอินเดียน่าจะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสให้ปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นได้ ด้านประธานสมาคมโรงงานน้ำตาลอินเดีย (ISMA) กล่าวว่า ปริมาณน้ำฝนในช่วงเดือนกันยายน และตุลาคม 2566 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ด้าน Barclays รายงานข้อมูลว่า ฝนในช่วงฤดูมรสุมสะสมยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 % ณ วันที่ 10 กันยายน 2566 และระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงเหลือ 62 % ของความจุ เทียบกับ 74 % ในปีที่แล้ว

             วันที่ 12 กันยายน 2566 นักวิเคราะห์ กล่าวแย้งว่า แผนการชะลอการเริ่มเปิดหีบของประเทศอินเดียจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลในประเทศสูงขึ้น ด้านผู้ค้า กล่าวว่า ณ ขณะนี้ราคาน้ำตาลอ่อนตัวลงเนื่องจากสภาพอากาศที่เปียกชื้น และอุณหภูมิที่เย็นขึ้น ซึ่งทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลนั้นลดลง

             วันที่ 11 กันยายน 2566 กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (IMD) รายงานว่า ปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ของรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ทำให้เกิดการฟื้นตัวของฝนในช่วงฤดูมรสุมที่รอคอยกันมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตปูเน่ (Pune) แต่อย่างไรก็ตาม สภาพการณ์ยังคงขาดฝนในพื้นที่อื่นๆ เช่น เขตโซลาปูร์ (Solapur) เขตซังกลี (Sangli) และบางส่วนของรัฐมาราธวาดา (Marathwada) นอกจากนี้ IMD คาดการณ์ว่า ฝนจะกลับมาตกอีกครั้งในเร็วๆ นี้ ด้านสื่อท้องถิ่น รายงานว่า เขตชาห์จาฮานปูร์ (Shahjahanpur) ในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ได้รับฝนมากเกินไปในช่วง 2 – 3 วันที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตโดยคณะกรรมาธิการส่วนกลางด้านทรัพยากรน้ำ (CWC) รายงานว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ที่ไม่มีฝนตกทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงเหลือต่ำกว่าปกติ 10 % ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 อย่างไรก็ตาม คาดว่าปริมาณน้ำฝนที่ดีขึ้นในเดือนกันยายน 2566 น่าจะช่วยฟื้นฟูระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำได้

             วันที่ 15 กันยายน 2566 แหล่งข่าวของประเทศจีน กล่าวว่า รัฐบาลจีนคาดการณ์ว่าจะเปิดประมูลน้ำตาลจำนวน 400,000 ตัน จากสต๊อกน้ำตาลสำรองของรัฐบาล  ด้าน Czarnikow เสริมว่า มีการพูดคุยกันว่าจะปล่อยน้ำตาลจำนวน 1.4 ล้านตัน ในปีนี้จากสต๊อกน้ำตาลสำรองของจีน ซึ่งอาจส่งผลให้โรงงานละลายน้ำตาลนำเข้าน้ำตาลน้อยลง และเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีอุปทานน้ำตาลเพียงพอจนกว่าจะเริ่มต้นเปิดหีบในฤดูกาลใหม่ ด้านแหล่งข่าวในตลาด กล่าวว่า ข่าวการที่จะเปิดประมูลของรัฐบาลจีนส่งผลให้ราคาน้ำตาลในประเทศตกลง ในทางกลับกัน ผู้ค้าสังเกตเห็นการบริโภคน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นของจีน ซึ่งน่าจะส่งผลให้ยอดขายของโรงงานน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 600,000 – 700,000 ตัน ในช่วงเดือนกันยายน 2566 ซึ่งจะส่งผลทำให้สต็อกน้ำตาลในอุตสาหกรรมของจีนซึ่งอยู่ที่ 890,000 ตัน ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 ลดลงสู่ระดับที่ต่ำมากกว่านี้

             วันที่ 15 กันยายน 2566 ข้อมูลศุลกากรของประเทศจีน รายงานข้อมูลเบื้องต้นว่า การนำเข้าน้ำตาลในเดือนสิงหาคม 2566 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 300,000 – 400,000 ตัน ต่ำกว่าปีที่แล้วที่มีการนำเข้าน้ำตาลอยู่ที่ 680,000 ตัน ด้านแหล่งข่าวในท้องถิ่น รายงานว่า การนำเข้าน้ำตาลในเดือนกันยายน 2566 น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 600,000 ตัน โดยการนำเข้าน้ำตาลภายใต้โควตาของเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ประมาณ 97,000 ตัน ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์การนำเข้าของเดือนกันยายน 2566 ที่ 96,000 ตัน

             วันที่ 12 กันยายน 2566 นักวิเคราะห์จาก Czarnikow เชื่อว่า ประเทศจีนมีปริมาณการนำเข้าน้ำตาลในเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ 320,000 ตัน และเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ 630,000 ตัน ซึ่งน่าจะทำให้การนำเข้าน้ำตาลในเดือนช่วงมิถุนายน – สิงหาคม 2566 อยู่ที่ 1.3 ล้านตัน และช่วยให้ผลกระทบจากในการนำเข้าน้ำตาลล่าช้าในภาพรวมลดลง อย่างไรก็ตาม จากการที่ราคาน้ำตาลโลกพุ่งสูงขึ้น และการที่รัฐบาลจีนปล่อยน้ำตาลสำรองออกสู่ตลาดประมาณ 200,000 ตันต่อเดือน โรงงานละลายน้ำตาลจึงไม่น่าจะนำเข้าเพิ่มในขณะนี้

             วันที่ 12 กันยายน 2566 สำนักงานกำกับดูแลน้ำตาลแห่งฟิลิปปินส์ (SRA) ได้ดำเนินการจัดสรรน้ำตาลตาลทั้งหมดของประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2566/2567 โดยระบุว่ามีการจัดสรรน้ำตาลจำนวน 1.85 ล้านตัน สำหรับตลาดในประเทศ ซึ่งความต้องการน้ำตาลภายในประเทศคาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.2 ล้านตัน ถือเป็นปีที่สามติดต่อกันที่ไม่มีการจัดสรรน้ำตาลสำหรับโควตาส่งออกสหรัฐฯ โดย SRA เตือนว่า สภาพอากาศเลวร้ายอาจทำให้ผลผลิตลดลง 10 – 15 %

              วันที่ 12 กันยายน 2566 สำนักงานกำกับดูแลน้ำตาล (SRA) ระบุว่าสามารถรักษาราคาขายปลีกน้ำตาลไว้อยู่ที่ 85 เปโซฟิลิปปินส์/กิโลกรัม (1.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) และ 110 เปโซฟิลิปปินส์/กิโลกรัม (2 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดย SRA รายงานเสริมเพิ่มเติมอีกว่าราคาน้ำตาลหน้าโรงงานอาจมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเล็กน้อยก่อนเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ เมื่อพิจารณาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนเชื้อเพลิง และการผลิต

              วันที่ 11 กันยายน 2566 สำนักงานกำกับดูแลน้ำตาลของฟิลิปปินส์ (SRA) เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในอุตสาหกรรมน้ำตาลช่วยกันหาวิธีเพื่อให้สามารถเพิ่มการผลิตสำหรับรองรับโควตาน้ำตาลสหรัฐฯ (US quota) ในปี 2566/2567 ซึ่งตั้งไว้ที่ 145,000 ตัน โดย SRA กังวลว่าฟิลิปปินส์จะสูญเสียโควตาน้ำตาลสหรัฐฯ (US quota) เนื่องจากไม่ได้ส่งออกไปยังสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2563/2564 และผลผลิตน้ำตาลในฤดูกาลนี้อาจจะไม่เพียงพอ

              วันที่ 14 กันยายน 2566 ศาลฎีกาของประเทศปากีสถานสั่งให้ศาลสูงเมืองละฮอร์ (Lahore) ตัดสินคดีที่เป็นปัญหาต่อการกำหนดราคาน้ำตาลคงที่ภายใน 30 วัน โดยรัฐบาลปากีสถานพยายามที่จะกำหนดราคาน้ำตาลไว้ที่ 98 รูปีปากีสถาน/กิโลกรัม (0.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกขัดขวาง ซึ่งทำให้โรงงานสามารถคงราคาน้ำตาลได้ในระดับราคาที่สูงถึง 200 รูปีปากีสถาน/กิโลกรัม (0.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) ด้านนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์คนใหม่ กล่าวว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาน้ำตาลจะได้รับการจัดการโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และการผลิตแทนกระทรวงความมั่นคงด้านอาหารแห่งชาติ เพื่อพยายามที่จะแก้ไขวิกฤตน้ำตาล

สถานะกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไร

              สำหรับสถานะของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่าง ๆ ณ วันที่ 12 กันยายน 2566 ปรากฏว่าได้ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 192,265 ล็อต หรือประมาณ 9.76 ล้านตัน ซึ่งเป็นการถือตั๋วซื้อเพิ่มขึ้น 4,571 ล็อต หรือประมาณ 0.23 ล้านตัน เมื่อเทียบกับที่ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 187,694 ล็อต หรือประมาณ 9.53 ล้านตัน ในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น (5 กันยายน 2566)

วิจารณ์และความเห็น

              ในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ค ได้เคลื่อนไหวถึงระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี โดยราคาน้ำตาลตามสัญญาเดือนมีนาคม 2567 เคลื่อนไหวถึงระดับสูงสุดตลอดอายุของสัญญา (Contract High) ที่ 27.79 เซนต์ (15 กันยายน 2566) ก่อนที่จะปิดตลาดลดลงตามแรงขายทำกำไรก่อนวันหยุดสุดสัปดาห์ ในขณะที่ราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดลอนดอน เคลื่อนไหวถึงระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี เมื่อ15 กันยายน 2566 ของสัญญาเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการซื้อขาย สูงสุดที่ 764.00 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน และปิดตลาดที่ 748.30ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ปรากฎว่ามีการส่งมอบน้ำตาลต่อตลาดเพียง 2,453 ล็อต หรือ 122,650 ตัน ทั้งสัปดาห์ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากรายงานผลผลิตน้ำตาลโลกที่จะลดลง อินเดียจะห้ามส่งออกน้ำตาล ผลผลิตน้ำตาลของไทยลดลง ฯลฯ นอกจากนั้นยังได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และค่าเงินเรียลบราซิลเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมากๆ จึงมีแรงขายเพื่อทำกำไร (Profit taking) ออกมา ราคาจึงปรับตัวลดลงมาบ้าง ในช่วงสั้นๆ ราคาน้ำตาลจะยังคงเคลื่อนไหวผันผวน เนื่องจากน้ำตาลทรายดิบตามสัญญาเดือนตุลาคม 2566 จะสิ้นสุดระยะเวลาในการซื้อขายลงในวันที่ 29 กันยายน 2566 กรอบการเคลื่อนไหวของราคาน้ำตาลเดือนมีนาคม 2567 ในช่วงนี้ น่าจะอยู่ในช่วง 26.00 – 28.00 เซนต์

 

ฝ่ายตลาด บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด

18 กันยายน 2566

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 11 – 15 กันยายน 2566

Scroll to Top
Skip to content