สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 4 – 8 กันยายน 2566

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 4 – 8 กันยายน 2566

          ตลาดน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์คประจำสัปดาห์นี้ (4 – 8 กันยายน 2566) ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 36 ของปี 2566  โดยราคาน้ำตาลทรายดิบในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวผันผวน และปิดตลาดครั้งสุดท้ายด้วยราคาที่เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงต้นสัปดาห์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์คเคลื่อนไหวสูงสุดในรอบ 4 เดือนครึ่ง และตลาดลอนดอนสูงสุดในรอบ 12 ปี โดยตลาดได้รับแรงหนุนจาก Alvean ซึ่งเป็นผู้ค้าน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก กล่าวว่า ในปี 2566/2567 จะเกิดภาวะน้ำตาลโลกส่วนขาด (Deficit) ที่ 5.4 ล้านตัน เป็นปีที่ 6 ที่เกิดภาวะ Deficit เนื่องจากอินเดียควบคุมการส่งออกน้ำตาล และชาวไร่อ้อยของไทยหันไปปลูกมันสำปะหลังที่ให้กำไรดีกว่าการปลูกอ้อย นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มถึงระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนครึ่ง ต่อมาในช่วงกลางสัปดาห์ราคาน้ำตาลเคลื่อนไหวลดลงพอประมาณ หลังจากดัชนีเงินดอลลาร์ (The dollar index) แข็งสุดในรอบ 5 เดือนครึ่ง กระตุ้นให้มีแรงขายเพื่อชำระบัญชีตั๋วซื้อ (Long Liquidation) น้ำตาลในตลาดล่วงหน้า จากนั้นในช่วงท้ายสัปดาห์ราคาน้ำตาลเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นและปิดตลาดลดลงพอประมาณ หลังจาก TSMC คาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลในประเทศไทย ปี 2566/2567 จะลดลงจากปีก่อน 18 % เหลือ 9 ล้านตัน เนื่องจากความแห้งแล้งที่รุนแรง

           ราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนตุลาคม 2566 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 25.66 – 27.10 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 26.31 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.50 เซนต์/ปอนด์ หรือ 1.94 % และราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนมีนาคม 2567 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 25.92 – 27.26 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 26.60 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.55 เซนต์/ปอนด์ หรือ 2.11 %

ตลาดน้ำตาลนิวยอร์ค หมายเลข 11 (เซนต์/ปอนด์)

เดือนกำหนดราคา ราคาสูงสุด ราคาต่ำสุด ราคาปิดเมื่อวันที่

8 กันยายน 2566

ราคาปิดเมื่อวันที่

1 กันยายน 2566

เปลี่ยนแปลง

เพิ่ม (+), ลด (-)

ตุลาคม 2566 27.10 25.66 26.31 25.81 +0.50
มีนาคม 2567 27.26 25.92 26.60 26.05 +0.55
พฤษภาคม 2567 25.65 24.45 25.13 24.57 +0.56
กรกฎาคม 2567 24.18 23.20 23.78 23.32 +0.46
ตุลาคม 2567 23.62 22.65 23.28 22.76 +0.52
มีนาคม 2568 23.31 22.40 23.07 22.50 +0.57
พฤษภาคม 2568 21.37 20.65 21.21 20.73 +0.48
กรกฎาคม 2568 20.05 19.58 19.88 19.64 +0.24
ตุลาคม 2568 19.63 19.22 19.50 19.26 +0.24
มีนาคม 2569 19.68 19.30 19.58 19.32 +0.26
พฤษภาคม 2569 19.03 18.66 18.97 18.65 +0.32
กรกฎาคม 2569 18.70 18.35 18.69 18.35 +0.34

*หมายเหตุ วันที่ 4 กันยายน 2566 ตลาดนิวยอร์คปิดทำการเนื่องในวันแรงงานของสหรัฐอเมริกา (Labor Day)

ข่าวที่สำคัญ

           วันที่ 7 กันยายน 2566 แหล่งข่าวในตลาด ระบุว่า สภาพอากาศที่แห้งแล้งใน ภาคกลาง – ใต้ของบราซิล ในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้าอาจจะช่วยให้การเก็บเกี่ยวอ้อยรวดเร็วขึ้นได้ด้านบริษัทที่ปรึกษา Safras & Mercado เตือนว่า หากมีฝนตกหนักในภาคกลาง – ใต้ของบราซิลช่วงเดือนตุลาคม 2566 อาจจะทำให้โรงงานบางแห่งต้องปิดดำเนินการเร็วขึ้น และเมื่อรวมกับเรื่องปัจจัยด้านผลผลิตที่ลดลงในอินเดีย และไทย น่าจะผลักดันราคาซื้อขายน้ำตาลดิบตลาดล่วงหน้าเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วง 29 – 30 เซนต์/ปอนด์ ภายในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ในทางกลับกันสถาบัน hEDGEpoint Global Markets ยังคงคาดว่าอินเดียน่าจะส่งออกน้ำตาลที่ 1.3 ล้านตัน ในปี 2566/2567 ต่อเมื่อรัฐบาลอินเดียเห็นว่ามีสต็อกน้ำตาลที่เพียงพอ และเนื่องจากราคาโลกที่สูงประกอบกับเงินรูปีอินเดียที่อ่อนค่าทำให้การส่งออกน้ำตาลมีกำไรมาก

           วันที่ 6 กันยายน 2566 Alvean คาดการณ์ว่า ในปี 2566/2567 จะเกิดภาวะน้ำตาลโลกส่วนขาด (Deficit) อยู่ที่ 5.4 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นของบราซิลไม่เพียงพอที่จะชดเชยปริมาณน้ำตาลที่ลดลงจากอินเดีย และไทย ซึ่งเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ขององค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (ISO) ว่าน้ำตาลโลกส่วนขาดน่าจะอยู่ที่ 2.12 ล้านตัน ด้านแหล่งข่าวในตลาด กล่าวว่า แนวโน้มของภาวะน้ำตาลโลกส่วนขาด (Deficit) จำนวนมากดังกล่าว บวกกับการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ และสภาวะแห้งแล้งที่กำลังดำเนินอยู่ในอินเดีย และไทย มีส่วนผลักดันให้ราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดซื้อขายล่วงหน้าแตะระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 ในขณะที่ราคาน้ำตาลทรายดิบพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 5 เดือน

           วันที่ 5 กันยายน 2566 บริษัทที่ปรึกษา Archer Consulting แย้งว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำตาลในตลาดซื้อขายล่วงหน้าในช่วงที่เพิ่งผ่านมานั้นได้รับแรงหนุนจากการเข้ามาซื้อน้ำตาลของกลุ่มกองทุน แม้ว่าแหล่งข่าวในตลาดจะระบุว่า การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำตาลมีปัจจัยมาจากการที่อินเดีย และไทยมีสภาพอากาศแห้งแล้งก็ตาม ด้านนักวิเคราะห์อีกรายเห็นด้วย และกล่าวเสริมว่า ค่าพรีเมียมของน้ำตาลทรายขาวที่สูงขึ้นได้กระตุ้นความต้องการจากโรงงานละลายน้ำตาล แต่อย่างไรก็ตามบราซิลยังคงมีน้ำตาลมากพอที่จะสามารถชดเชยปริมาณน้ำตาลที่ลดลงจากเอเชียในช่วงไตรมาสที่สี่

           วันที่ 5 กันยายน 2566 บริษัทที่ปรึกษาของบราซิล รายงานว่า ราคาน้ำตาลเดือนใกล้ ณ ท่าเรือ (FOB) ของบราซิลลดลงเหลือ 35 จุด ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่น่าจะขัดแย้งกับการพูดถึงอุปทานน้ำตาลทั่วโลกที่ไม่เพียงพอ ด้านแหล่งข่าวอีกราย ระบุว่า ในเดือนกันยายน 2566 ราคาน้ำตาล ณ ท่าเรือ (FOB) ลดลงเหลือ 29 จุด โดยบริษัทที่ปรึกษาของบราซิล เสริมว่า ท่าเรือของบราซิลมีเรือรอรับน้ำตาลเพิ่มขึ้น โดยมีเรือรอรับน้ำตาลจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 4.6 ล้านตัน ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2566 จาก 4.3 ล้านตัน ในสัปดาห์ที่แล้ว รวมถึงพื้นที่จัดเก็บน้ำตาลไม่เพียงพอ จึงมีส่วนทำให้ราคาน้ำตาล ณ ท่าเรือ (FOB) ลดลง โดยแหล่งข่าว เสริมว่า สภาพอากาศที่มีฝนของบราซิลน่าจะหยุดไม่ให้ราคาน้ำตาล ณ ท่าเรือ (FOB) ลดลงต่อไปอีก

อเมริกากลาง-เหนือ

           วันที่ 6 กันยายน 2566 Sosland Publishing รายงานว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ได้ปรับลดการประเมินคุณภาพอ้อยของรัฐลุยเซียนา (Louisiana) ลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566 และนักวิเคราะห์บางคนได้ปรับลดประมาณการการผลิตน้ำตาลของรัฐลุยเซียนา (Louisiana) ลง 200,000 ชอร์ตตัน (181,437 ตัน) โดยในทางตรงกันข้ามผลผลิตบีทมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ยกเว้นในรัฐมิชิแกน (Michigan) โดยในรัฐเท็กซัส (Texas) เกษตรกรบางราย กล่าวว่า พวกเขาไม่แน่ใจว่าจะปลูกอ้อยหรือไม่ เนื่องจากในปีหน้าอาจมีน้ำไม่เพียงพอท่ามกลางภาวะระดับอ่างเก็บน้ำที่ต่ำมาก

           วันที่ 8 กันยายน 2566 Czarnikow คาดการณ์ว่า ประเทศเม็กซิโกน่าจะผลิตน้ำตาลได้อยู่ที่ 5.5 ล้านตัน ในปี 2566/2567 เพิ่มขึ้นจาก 5.2 ล้านตัน ในปีที่แล้ว แต่ลดลงจากปกติ 6 ล้านตัน ในขณะที่การผลิตอาจลดลงอีกหากสภาพอากาศยังคงขาดฝน โดยเม็กซิโกน่าจะมีการส่งออกน้ำตาล 1.2 ล้านตัน ไปยังสหรัฐอเมริกา และไม่มีการส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดโลก

อเมริกาใต้

           วันที่ 5 กันยายน 2566 บริษัทด้านพลังงาน BP Bunge คาดการณ์ว่า ปริมาณผลผลิตอ้อยของประเทศบราซิล ในปี 2566/2567 น่าจะสูงถึง 629 ล้านตัน และเป็นสัดส่วนของอ้อยที่นำไปผลิตเป็นน้ำตาลอยู่ที่ 40.3 ล้านตัน และเป็นอ้อยสำหรับผลิตเอทานอลที่ 32.3 พันล้านลิตร ด้านบริษัทที่ปรึกษา Archer Consulting คาดการณ์ว่า บราซิลน่าจะมีปริมาณผลผลิตอ้อยที่ 615 ล้านตัน และใช้สำหรับผลิตน้ำตาล 38 – 39 ล้านตัน โดยทั้งสองเห็นพ้องกันว่าผลผลิตปี 2567/2568 จะมีปริมาณมากเช่นกัน โดย BP Bunge คาดการณ์ว่า บราซิลน่าจะมีปริมาณอ้อยที่ 610 ล้านตัน โดยใช้สำหรับผลิตน้ำตาลที่ 39.8 ล้านตัน และนำไปผลิตเอทานอล 31.7 พันล้านลิตร  ด้าน Sindacucar – AL รายงานคาดการณ์ว่า รัฐอะลาโกอาส (Alagoas) น่าจะสามารถหีบอ้อยได้ 21 ล้านตัน ในปี 2566/2567 เพิ่มขึ้น 5 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ยุโรป

           วันที่ 8 กันยายน 2566 เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของประเทศรัสเซีย รายงานว่า ในขณะนี้เกษตรกรในเขตตาตาร์สถาน (Tatarstan) เก็บเกี่ยวบีทได้ 115,000 ตัน บนพื้นที่ 3,900 เฮกตาร์ หรือ 7 % จากปริมาณทั้งหมดที่คาดการณ์ไว้ โดยเขตตาตาร์สถาน (Tatarstan) คาดว่าจะเก็บเกี่ยวบีทได้ทั้งหมดอยู่ที่ 1.5 ล้านตัน เพื่อผลิตเป็นน้ำตาลได้ 180,000 ตัน ด้านสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลแห่งชาติของรัสเซีย Soyuzrossakhar รายงานข้อมูลภาพรวมของรัสเซียว่า ณ วันที่ 4 กันยายน 2566 รัสเซียเก็บเกี่ยวบีทรูทได้ 116,100 เฮกตาร์ เพิ่มขึ้น 19 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่สภาพอากาศที่ร้อน และแห้งช่วยให้เปอร์เซ็นต์น้ำตาลโดยเฉลี่ยของบีทเพิ่มขึ้นเป็น 15.73 %

เอเชีย

           วันที่ 8 กันยายน 2566 รัฐมนตรีกระทรวงอาหารของประเทศอินเดีย กล่าวว่า อินเดียมีน้ำตาลเพียงพอก่อนถึงช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองที่กำลังจะมาถึง โดยจะมีน้ำตาลในสต็อกอยู่ที่ 8.5 ล้านตัน ในช่วงต้นเดือนนี้ และกล่าวเสริมแนะนำว่า รัฐบาลอินเดียน่าจะห้ามส่งออกน้ำตาล และจำกัดปริมาณสต็อกน้ำตาลหากการผลิตน้ำตาลลดลงในฤดูกาลหน้า ด้านสมาพันธ์โรงงานน้ำตาลสหกรณ์แห่งชาติ (NFCSF) รายงานว่า รัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) อาจเผชิญกับการลดลงของผลผลิตน้ำตาลเนื่องจากฝนในช่วงฤดูมรสุมที่ไม่เพียงพอ แต่ปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรัฐอื่นน่าจะสามารถชดเชยได้ และคาดการณ์เพิ่มเติมว่า รัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) น่าจะสามารถผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น 1 ล้านตัน เนื่องจากมีฝนตกชุก

           วันที่ 7 กันยายน 2566 ประธานสมาคมโรงงานน้ำตาลอินเดียตะวันตก (WISMA) เรียกร้องให้โรงงานในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) เริ่มเปิดหีบตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เพื่อลดการสูญเสียอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาลโตนดประเภทเกอร์ (Gur) และคันซารี (Khandsari) รวมทั้งลดโอกาสในการขายอ้อยให้กับโรงงานในรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) และคาดการณ์เพิ่มเติมอีกว่า ผลผลิตน้ำตาลในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) น่าจะลดลง 15 % อีกทั้งยังเตือนว่าอาจลดลงสูงถึง 25 % หากสภาพอากาศยังคงแห้งแล้ง

           วันที่ 7 กันยายน 2566 สมาคมพ่อค้าน้ำตาลบอมเบย์ (Bombay Sugar Merchants Association) กล่าวว่า ราคาน้ำตาลของรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ประเทศอินเดียน่าจะสูงขึ้นในไม่ช้านี้ เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้ง และร้อนกำลังทำให้ความต้องการน้ำตาลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาล และฤดูกาลแต่งงานที่กำลังจะมาถึง ในขณะเดียวกันมูลค่าน้ำตาลในสต็อกของผู้ผลิตน้ำตาลหลักบางรายของอินเดียเพิ่มขึ้น 6 – 7 % จากแนวโน้มการผลิตน้ำตาลที่ลดลง

           วันที่ 7 กันยายน 2566 แหล่งข่าวของประเทศอินเดีย รายงานว่า ในช่วงเร็วๆ นี้รัฐบาลอินเดียน่าจะประกาศเก็บภาษีการส่งออกกากน้ำตาลที่ 25 % เพื่อให้แน่ใจว่ามีกากน้ำตาลที่เพียงพอต่อความต้องการในการผลิตเอทานอลในประเทศ โดยจนถึงขณะนี้อินเดียมีการส่งออกกากน้ำตาลแล้วประมาณ 284,000 ตัน ในปีงบประมาณนี้ ด้านศุลกากรของอินเดียตรวจพบการนำเข้าเอทานอลจำนวน 58,000 ลิตร ที่ทำการแจ้งไม่ถูกต้องตามระเบียบเพื่อใช้ในห้องปฏิบัติการแทนการใช้สารเคมี เพื่อหวังประโยชน์จากภาษีที่ต่ำกว่าการนำเข้าแบบปกติ

           วันที่ 6 กันยายน 2566 ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของประเทศอินเดีย รายงานว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 พื้นที่เพาะปลูกอ้อยของอินเดียอยู่ที่ 5.9 ล้านเฮกตาร์ เพิ่มขึ้นจาก 5.4 ล้านเฮกตาร์ ในปีที่แล้วในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ของรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) กล่าวว่า อาจจะมีการปรับราคาอ้อยเพิ่มขึ้น แต่จะตัดสินใจได้ประมาณกลางเดือนตุลาคมเท่านั้น

            วันที่ 6 กันยายน 2566 แหล่งข่าวของประเทศอินเดีย กล่าวว่า รัฐบาลอินเดียกำลังมองหาวิธีที่จะช่วยควบคุมราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น ซึ่งรวมถึงการดำเนินการจำกัดปริมาณน้ำตาลในสต็อกของผู้ค้า ตัวเลือกอื่นๆ ได้แก่ การตั้งราคาน้ำตาลสูงสุด หรือการกำหนดเป้าหมายการขายน้ำตาลแบบรายสัปดาห์ โดยผู้ค้าในอินเดีย กล่าวว่า ราคาน้ำตาลในประเทศของอินเดียแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี เนื่องจากโรงงานน้ำตาลต่างๆ ไม่เต็มใจที่จะขายน้ำตาลเนื่องจากคาดว่าจะหีบอ้อยน้อยลงในปี 2566/2567 ด้านผู้ค้ารายอื่น กล่าวว่า ราคาน้ำตาลของอินเดียมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากสต็อกน้ำตาลที่ต่ำ และช่วงเทศกาลที่กำลังจะมาถึงน่าจะมีผลต่อราคาน้ำตาล

            วันที่ 5 กันยายน 2566 สำนักงานกรรมาธิการน้ำตาลของประเทศอินเดีย รายงานว่า รัฐมหาราษฏระ(Maharashtra) คาดว่าจะเริ่มเปิดหีบในฤดูกาลนี้ล่าช้า และน่าจะสิ้นสุดฤดูกาลเร็วขึ้นภายใน 100 วัน เนื่องจากปริมาณอ้อยที่ลดลง โดยนอกจากนี้สื่อท้องถิ่นได้มีการรายงาน เรื่องการระบาดของแมลงหวี่ขาวในพื้นที่ของรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ขณะเดียวกันในรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) คณะกรรมาธิการน้ำตาลได้แจ้งให้โรงงานต่างๆ เริ่มดำเนินการเปิดหีบภายในช่วงครึ่งแรกของเดือนพฤศจิกายน 2566

            วันที่ 5 กันยายน 2566 แหล่งข่าวของประเทศอินเดีย กล่าวว่า รัฐบาลอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) จะประกาศปรับราคาอ้อยที่รัฐกำหนด (SAP) เพิ่มขึ้น 250 รูปีอินเดีย/ตัน (3 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน) ในเร็วๆ นี้ ด้านผู้ค้าในท้องถิ่น กล่าวว่า การปรับราคาอ้อยที่รัฐกำหนด (SAP) คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น และเสริมว่าการปรับเพิ่มราคาอ้อยจะช่วยหนุนราคาน้ำตาลด้านประธานเลขาธิการอ้อย คาดการณ์ว่า รัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) น่าจะผลิตเอทานอลได้ 1.6 พันล้านลิตรในปี 2566/2567 เพิ่มขึ้นจาก 1.34 พันล้านลิตรในปี 2565/2566 โดยในฤดูกาลนี้โรงงานเอทานอลน่าจะเปิดดำเนินการประมาณ 100 แห่ง จากที่ในฤดูกาลที่แล้วเปิดดำเนินการ 85 แห่ง ซึ่งภายในสามปีรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) น่าจะมีโรงงานเอทานอลเพิ่มขึ้นเป็น 140 แห่ง

            วันที่ 7 กันยายน 2566 สมาคมน้ำตาลของประเทศจีน รายงานว่า ถึง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 ยอดขายน้ำตาลของโรงงานเพิ่มขึ้น 200,000 ตัน เป็น 8.1 ล้านตัน ส่งผลให้สต๊อกน้ำตาลของจีนต่ำเป็นประวัติการณ์ ด้านผู้ค้า รายงานว่า ราคาสำหรับซื้อขายน้ำตาลส่งมอบทันที (Spot price) ในเขตกวางสี (Guangxi) ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 7,650 – 7,690 หยวนจีน/ตัน (1,045 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน) ด้านนักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่า ราคาน้ำตาลของจีนจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งกำลังเป็นช่วงที่เริ่มต้นเปิดหีบในฤดูกาลหน้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยเรื่องของการที่ผู้ผลิตน้ำตาลมีสต็อกน้ำตาลเหลือน้อย และไม่ได้รีบดำเนินการขายออกสู่ตลาดจึงเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนให้ราคาน้ำตาลมีแนวโน้มที่ยังเพิ่มขึ้น ด้านแหล่งข่าว รายงานว่า เขตมองโกเลียใน (Inner Mongolia) คาดว่า จะเริ่มต้นการเก็บเกี่ยวบีทในวันที่ 17 กันยายน 2566 แต่อาจเริ่มเร็วกว่านี้อีก เนื่องจากมองโกเลียมีปริมาณน้ำตาลในสต็อกที่ต่ำ

            วันที่ 6 กันยายน 2566 นักวิเคราะห์ท้องถิ่นของประเทศจีน รายงานว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 จีนได้ดำเนินการนำเข้าน้ำตาลที่ 320,000 ตัน ในขณะที่คาดว่าจะนำเข้าน้ำตาลอีกประมาณ 740,000 ตัน ในเดือนกันยายน 2566 และ 200,000 ตัน ในเดือนตุลาคม 2566 ด้านนักวิเคราะห์อีกราย คาดการณ์ว่า ราคาน้ำตาลในประเทศของจีนจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นมากพอที่จะทำให้การนำเข้าน้ำตาลภายใต้โควตามีกำไร โดยให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องมีการนำเข้ามากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำตาลภายในประเทศ

            วันที่ 8 กันยายน 2566 สำนักงานกำกับดูแลน้ำตาลแห่งชาติฟิลิปปินส์ (SRA) รายงานว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่มีกำลังปานกลางอาจจะทำให้ผลผลิตน้ำตาลของประเทศฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นในปี 2566/2567 เนื่องจากจะช่วยให้สภาพอากาศมีฝนน้อยลงสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว และช่วยเพิ่มความหวานของน้ำตาลต่อตันอ้อย โดยผลผลิตน้ำตาลทรายดิบของฟิลิปปินส์น่าจะสามารถเพิ่มขึ้นอีก 50,000 ตัน เป็น 1.8 ล้านตัน ของปี 2566/2567 ในทางกลับกัน หน่วยงานเตือนว่า หากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) มีกำลังรุนแรงอาจทำให้การผลิตลดลง 10 – 15 %

            วันที่ 8 กันยายน 2566 แหล่งข่าวของประเทศปากีสถาน รายงานว่า ราคาน้ำตาลขายส่งในเมืองเควตตา (Quetta) และ บาลูจิสถาน (Balochistan) ลดลงเล็กน้อยเป็น 190 รูปีปากีสถาน/กิโลกรัม (0.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) ในขณะที่ราคาขายปลีกลดลงจาก 220 รูปีปากีสถาน/กิโลกรัม (0.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) เหลือประมาณ   200 – 205 รูปีปากีสถาน/กิโลกรัม (0.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) โดยแหล่งข่าว กล่าวว่า เนื่องจากความต้องการน้ำตาลลดลงท่ามกลางราคาน้ำตาลโลกที่พุ่งสูงขึ้นจึงเป็นผลให้ราคาน้ำตาลในปากีสถานปรับลดลง ด้านเมืองการาจี (Karachi) ราคาน้ำตาลหน้าโรงงานลดลง 3 รูปีปากีสถาน/กิโลกรัม (0.01 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) เหลือ 172 รูปีปากีสถาน/กิโลกรัม (0.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม)

สถานะกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไร

            สำหรับสถานะของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่าง ๆ ณ วันที่ 5 กันยายน 2566 ปรากฏว่าได้ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 187,694 ล็อต หรือประมาณ 9.53 ล้านตัน ซึ่งเป็นการถือตั๋วซื้อเพิ่มขึ้น 33,074 ล็อต หรือประมาณ 1.68 ล้านตัน เมื่อเทียบกับที่ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 154,620 ล็อต หรือประมาณ 7.85 ล้านตันในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น (29 สิงหาคม 2566)

วิจารณ์และความเห็น

            ในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ค ได้เคลื่อนไหวถึงระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนครึ่ง โดยราคาน้ำตาลตามสัญญาเดือนมีนาคม 2566 เคลื่อนไหวถึงระดับสูงสุดตลอดอายุของสัญญา (Contract High) ที่ 27.26 เซนต์ (8 กันยายน 2566) ก่อนที่จะปิดตลาดลดลงตามแรงขายทำกำไรก่อนวันหยุดสุดสัปดาห์ ในขณะที่ราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดลอนดอน เคลื่อนไหวถึงระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 สัญญาเดือนตุลาคม 2566 สูงสุดที่ 753.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน โดยทั้งสัปดาห์ ตลาดได้รับแรงหนุนจากรายงานของบริษัทผู้ค้าน้ำตาลรายใหญ่ของโลก Alvean ที่คาดการณ์ว่า ในปี 2566/2567 จะเกิดน้ำตาลโลกส่วนขาด (Deficit) 5.4 ล้านตัน และเป็นปีที่ 6 แล้วที่เกิด Deficit ติดต่อกัน โดยอินเดียจะจำกัดการส่งออกน้ำตาล ส่วนไทย ชาวไร่อ้อยหันไปปลูกมันสำปะหลังแทน ในขณะที่ TSMC คาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลของไทยในปี 2566/2567 จะลดลงจากปีก่อน 18 % เหลือ 9 ล้านตัน เพราะผลกระทบจากความแห้งแล้งที่รุนแรง นอกจากนั้นยังได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมากๆ ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง กดดันให้มีแรงขายเพื่อชำระบัญชีตั๋วซื้อ (Long Liquidation) รวมทั้งแรงขายเพื่อทำกำไร (Profit taking) ออกมา ราคาจึงปรับตัวลดลงมาบ้าง โดยเริ่มมีการคาดการณ์ว่า ถ้าหากในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ฝนตกหนักในบราซิล จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการตัดอ้อยส่งเข้าโรงงาน การขนส่งน้ำตาลภายในปรเทศ และการส่งออก จึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำตาลอาจจะอยู่ในช่วง 29 – 30 เซนต์ ก็เป็นได้ กรอบการเคลื่อนไหวของราคาน้ำตาลเดือนมีนาคม 2567 ในช่วงนี้ น่าจะอยู่ในช่วง 25.50 -27.50 เซนต์ โดยแนวต้านที่สำคัญ 27.41 เซนต์ ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของน้ำตาลตามสัญญาเดือนพฤษภาคม 2566 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566

ฝ่ายตลาด บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด

11 กันยายน 2566

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 4 – 8 กันยายน 2566

Scroll to Top
Skip to content