สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21 – 25 สิงหาคม 2566

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21 – 25 สิงหาคม 2566

          ตลาดน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์คประจำสัปดาห์นี้ (21 – 25 สิงหาคม 2566) ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 34 ของปี 2566 โดยราคาน้ำตาลทรายดิบในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวผันผวน และปิดตลาดครั้งสุดท้ายด้วยราคาที่เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงต้นสัปดาห์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์คเคลื่อนไหวช่วงแรกปรับลดลงพอประมาณ โดยตลาดได้รับแรงกดดันตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อ Conab ได้เพิ่มประมาณการผลผลิตน้ำตาลของบราซิลในปี 2566/2567 เป็น 40.9 ล้านตัน จาก 38.8 ล้านตัน ในประมาณการเดือนเมษายน 2566 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อย ต่อมาราคาน้ำตาลในช่วงกลางสัปดาห์ปรับตัวสูงขึ้นหลังจาก Reuters ได้รายงานว่า ในปี 2566/2567 เริ่มเดือนตุลาคม อินเดียจะห้ามการส่งออกน้ำตาล เนื่องจากการขาดฝนในฤดูมรสุมจะลดผลผลิตน้ำตาล ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ที่อินเดียจะห้ามการส่งออกน้ำตาล โดยในปี 2565/2566 ถึง 30 กันยายน อินเดียอนุมัติให้โรงงานส่งออกน้ำตาลเพียง 6.1 ล้านตัน หลังจากให้ส่งออก 11.1 ล้านตัน ในปี 2564/2565 จากนั้นในช่วงท้ายสัปดาห์ราคาน้ำตาลยังคงเคลื่อนไหวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดได้รับแรงหนุนต่อจากช่วงกลางสัปดาห์ตามรายงานเรื่องของอินเดียอาจจะห้ามส่งออกน้ำตาล

          ราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนตุลาคม 2566 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 23.08 – 24.89 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 24.83 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.07 เซนต์/ปอนด์ หรือ 4.50 % และราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนมีนาคม 2567 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 23.42 – 25.22 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 25.16 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.10 เซนต์/ปอนด์ หรือ 4.57 %

ตลาดน้ำตาลนิวยอร์ค หมายเลข 11 (เซนต์/ปอนด์)

เดือนกำหนดราคา ราคาสูงสุด ราคาต่ำสุด ราคาปิดเมื่อวันที่

25 สิงหาคม 2566

ราคาปิดเมื่อวันที่

18 สิงหาคม 2566

เปลี่ยนแปลง

เพิ่ม (+), ลด (-)

ตุลาคม 2566 24.89 23.08 24.83 23.76 +1.07
มีนาคม 2567 25.22 23.42 25.16 24.06 +1.10
พฤษภาคม 2567 23.98 22.42 23.94 22.90 +1.04
กรกฎาคม 2567 22.98 21.71 22.95 22.09 +0.86
ตุลาคม 2567 22.53 21.37 22.50 21.68 +0.82
มีนาคม 2568 22.25 21.21 22.22 21.47 +0.75
พฤษภาคม 2568 20.62 19.82 20.61 20.03 +0.58
กรกฎาคม 2568 19.67 19.04 19.66 19.21 +0.45
ตุลาคม 2568 19.42 18.85 19.32 19.00 +0.32
มีนาคม 2569 19.54 19.06 19.38 19.16 +0.22
พฤษภาคม 2569 19.04 18.54 18.81 18.65 +0.16
กรกฎาคม 2569 18.78 18.32 18.53 18.41 +0.12

ข่าวที่สำคัญ

          วันที่ 25 สิงหาคม 2566 Czarnikow รายงานว่า กลุ่มนักเก็งกำไรได้ปรับลดสถานะฝั่งขาซื้อน้ำตาลทรายดิบลง เนื่องจากราคาน้ำตาลตลาดซื้อขายล่วงหน้าในเดือนพฤษภาคมที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้นมีปัจจัยมาจากเรื่องของสภาพอากาศ และความกังวลเรื่องของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผลผลิตจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ (El Nino) และรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้นักเก็งกำไรกำลังรอเรื่องของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตน้ำตาลใหม่ๆ เช่น การห้ามส่งออกน้ำตาลของอินเดีย ด้าน Systematix Research แย้งว่า อินเดียจะไม่ตัดสินใจเกี่ยวกับการส่งออกจนกว่าจะถึงช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2567 และอาจจะอนุญาตให้มีการส่งออกน้ำตาลบางส่วนเพื่อรักษาระดับราคาน้ำตาลภายในประเทศไว้

          วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ผู้สังเกตการณ์ตลาด กล่าวว่า รายงานของ Reuters อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลอินเดียที่บอกว่าอินเดียจะห้ามส่งออกน้ำตาลในปี 2566/2567 ช่วยให้ราคาน้ำตาลฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ด้าน StoneX เสริมว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่สต๊อกน้ำตาลของอินเดียมีน้อยลง ด้าน StoneX คาดการณ์ว่า ผลผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นของภาคกลาง – ใต้ของบราซิลน่าจะทำให้ราคาน้ำตาลปรับตัวลดลง แต่ผู้ค้ารายอื่นไม่เห็นด้วยโดยกล่าวว่า ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นของบราซิลไม่น่าจะสามารถชดเชยการส่งออกที่ลดลงจากทั้งอินเดีย และไทยได้

          วันที่ 23 สิงหาคม 2566 Bar Chart รายงานว่า การแข็งค่าของค่าเงินเรียลบราซิลกระตุ้นให้เกิดการเข้ามาซื้อน้ำตาลคืนจากตลาด (Short covering) และเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาซื้อขายน้ำตาลในตลาดล่วงหน้า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ด้านผู้ค้า ตั้งข้อสังเกตว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์คที่ 23 เซนต์/ปอนด์ น่าจะเป็นราคาที่ต่ำสุดสำหรับช่วงนี้ ในขณะที่มีโอกาสที่ผลผลิตน้ำตาลของบราซิลจำนวนมากจะช่วยรักษาเพดานราคาน้ำตาลไว้

อเมริกาใต้

          วันที่ 24 สิงหาคม 2566 โรงงานน้ำตาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศบราซิล ได้รับโควตา TRQ ของสหรัฐฯเพิ่มเติมเป็นครั้งที่สอง ที่ประมาณ 32,000 ตัน ของปี 2566/2567 นอกเหนือจาก 147,000 ตันและ 38,000 ตัน ที่ได้รับการจัดสรรไปก่อนหน้านี้ โดยขณะเดียวกัน สมาคมผู้ส่งออกธัญพืชแห่งชาติ (Anec) ของบราซิล คาดการณ์ว่า การส่งออกข้าวโพดของบราซิลในเดือนสิงหาคม 2566 จะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9.4 ล้านตัน

          วันที่ 23 สิงหาคม 2566 สำนักงานเลขาธิการกระทรวงการค้าต่างประเทศ (SECEX) รายงานว่า อัตราการนำน้ำตาลลงเรือเพื่อส่งออกต่อวันของบราซิลชะลอตัวลงเป็น 151,000 ตัน ในสัปดาห์ที่สามของเดือนสิงหาคม 2566 เปรียบเทียบกับ 180,000 ตัน ในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ยังคงสูงกว่าในเดือนสิงหาคม 2566 ถึง 17 % ซึ่งมีการส่งออก 2.96 ล้านตัน ด้านการส่งออกข้าวโพดขยายตัวเพิ่มขึ้น 15 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยนักวิเคราะห์จาก Grao Direto กล่าวว่า การส่งออกข้าวโพดของบราซิลในเดือนสิงหาคม 2566 อาจสูงถึง 7 – 8 ล้านตัน และน่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกสักระยะ

          วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ศูนย์เทคโนโลยีอ้อย (CTC) ของประเทศบราซิล รายงานข้อมูลว่าปริมาณอ้อยในเดือนกรกฎาคม 2566 ของภาคกลาง – ใต้ของบราซิลอยู่ที่ 98 ตัน/เฮกตาร์ เพิ่มขึ้น 24 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และการตัดอ้อยสะสมอยู่ที่ 93.6 ตัน/เฮกตาร์ เพิ่มขึ้น 22 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยอย่างไร ก็ตาม ค่าน้ำตาลในอ้อย (ATR) นั้นลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่เปียกชื้น แต่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเปรียบเทียบค่า ATR กับปีที่แล้ว โดยค่า ATR ของภาคกลาง – ใต้บราซิลในฤดูกาลนี้อยู่ที่ 129.5 กิโลกรัม/ตัน

          วันที่ 21 สิงหาคม 2566 Williams Brasil รายงานว่า ประเทศบราซิลเรือรอรับน้ำตาลเพิ่มขึ้นเป็น 3.67 ล้านตัน ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3.2 ล้านตัน ในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ด้านสำนักงานเลขาธิการกระทรวงการค้าต่างประเทศ (SECEX) ของบราซิล รายงานข้อมูลแสดงให้เห็นว่า การส่งออกน้ำตาลของบราซิลสูงถึง 1.62 ล้านตัน ในเดือนสิงหาคม 2566 จนถึงตอนนี้ ซึ่งเป็นอัตราการบรรทุกต่อวันสูงกว่าปีที่แล้วถึง 40 %

          วันที่ 24 สิงหาคม 2566 รายงานผลผลิตน้ำตาลและอ้อยเข้าหีบภาคกลาง – ใต้บราซิล ของ Unica ฤดูการผลิตปี 2566/2567 (เมษายน – มีนาคม) ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2566 ดังนี้

รายการ ในช่วงครึ่งแรกเดือนสิงหาคม 2566 ยอดสะสม
ปี ปี เปลี่ยนแปลง ปี ปี เปลี่ยนแปลง
2565/66 2566/67 (%) 2565/66 2566/67 (%)
ผลผลิตอ้อย (พันตัน) 38,799 47,871 +23.38 322,481 360,046 +11.65
ผลผลิตน้ำตาล (พันตัน) 2,634 3,456 +31.22 18,634 22,676 +21.69
ผลผลิตเอทานอล (ล้านลิตร) 2,015 2,346 +16.43 15,714 16,788 +6.84
ATR (กก/ตันอ้อย) 152.57 149.23 -2.19 135.81 135.09 -0.53
สัดส่วนอ้อยนำไปผลิตน้ำตาล (%) 46.69 50.77 +8.74 44.65 48.93 +9.59
สัดส่วนอ้อยนำไปผลิตเอทานอล (%) 53.31 49.23 -7.65 55.35 51.07 -7.73
กก. น้ำตาลต่อตันอ้อย 67.88 72.19 +6.36 57.78 62.98 +8.99

ยุโรป

          วันที่ 25 สิงหาคม 2566 Sugar.ru. รายงานว่า ประเทศรัสเซียกำลังดำเนินการส่งออกน้ำตาล ไปยังประเทศคาซัคสถาน และประเทศอุซเบกิสถานด้วยราคาที่ดี แม้ว่าการขนส่งจะถูกจำกัดปริมาณในการขนส่งทางรถไฟที่ขนส่งได้ในจำนวนที่ไม่มากก็ตาม  ด้านสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลแห่งชาติของรัสเซีย (Soyuzrossahar) กล่าวว่า การเก็บเกี่ยวของรัสเซียน่าจะดำเนินไปด้วยดี โดย ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2566 รัสเซียมีการผลิตน้ำตาลได้อยู่ที่ 250,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 163,000 ตัน ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ด้านผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่ปรึกษา IKAR เชื่อว่าปริมาณผลผลิตน้ำตาลในปี 2566/2567 ของรัสเซียอยู่ที่ 6.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 6.2 ล้านตัน ในปีที่แล้ว และกล่าวถึงศักยภาพในการผลิตน้ำตาลของรัสเซียที่มีแนวโน้มน่าจะเพิ่มสูงขึ้น

          วันที่ 22 สิงหาคม 2566 นักวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษา IKAR รายงานว่า ประเทศรัสเซียน่าจะส่งออกน้ำตาล 400,000 ตัน ในปี 2566/2567 เพิ่มขึ้นจาก 327,000 ตัน ในปี 2565/2566 หากว่ารัสเซียมีผลผลิตน้ำตาลที่ 6.5 ล้านตัน และคาดการณ์เพิ่มเติมว่า น้ำตาลของรัสเซียจะเข้ามาเติมเต็มการส่งออกของปากีสถาน และอินเดียในบางภูมิภาค และเสริมอีกว่า น้ำตาลของรัสเซียสามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกลงเนื่องจากปัญหาด้านการขนส่งน้ำตาลในปัจจุบัน

          วันที่ 25 สิงหาคม 2566 Ukrtsukor รายงานว่า ประเทศยูเครน น่าจะผลิตน้ำตาลได้ 1.6 – 1.7 ล้านตัน ในปีนี้ แต่ในส่วนของการบริโภคในประเทศอยู่ที่เพียง 1 ล้านตัน ซึ่งส่งผลให้ยูเครนมีน้ำตาลส่วนเกินที่เพียงพอสำหรับการส่งออกจำนวนมาก ด้านประธานของบริษัท Astarta เน้นย้ำถึงศักยภาพที่พร้อมของบริษัทที่จะดำเนินการส่งออกน้ำตาลไปยังสหภาพยุโรป

เอเชีย

          วันที่ 25 สิงหาคม 2566 รัฐบาลของประเทศอินเดียปฏิเสธรายงานที่ว่าจะห้ามส่งออกน้ำตาลในปี 2566/2567 โดยอธิบายว่า จะรอทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปริมาณผลผลิตน้ำตาลก่อนตัดสินใจด้านสมาคมโรงงานน้ำตาลอินเดีย (ISMA) กล่าวว่า การตัดสินใจเรื่องการส่งออกน้ำตาลของรัฐบาลอินเดียก่อนเดือนตุลาคมไม่น่าเป็นไปได้ โดย ISMA เชื่อว่าอินเดียน่าจะผลิตน้ำตาลได้อยู่ที่ 31.7 ล้านตัน และมีการบริโภคที่ 27.5 ล้านตัน ซึ่งน่าจะทำให้อินเดียมีน้ำตาลส่วนเกินอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านตัน ด้านสมาพันธ์สหกรณ์โรงงานน้ำตาลแห่งชาติ (The National Federation of Co-operative Sugar Factories) ของอินเดียยอมรับว่า ผลผลิตอ้อยอินเดียอาจต่ำกว่าการคาดการณ์ เนื่องจากในขณะนี้ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ปลูกอ้อยที่สำคัญในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) และรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 50 %

          วันที่ 24 สิงหาคม 2566 เจ้าหน้าที่ของรัฐ รายงานว่า พื้นที่เพาะปลูกอ้อยในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ของประเทศอินเดียเพิ่มขึ้น 60,000 เฮกตาร์ เป็น 2.91 ล้านเฮกตาร์ ในปี 2566/2567 ในทางกลับกันสื่อท้องถิ่น รายงานว่า พื้นที่เพาะปลูกอ้อยในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ลดลง 30 % เนื่องจากภาวะการขาดฝนทำให้การเพาะปลูกล่าช้า ในขณะที่อ้อยภายในไร่ที่มีอยู่ดูขาดน้ำ ด้านเจ้าหน้าที่รายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ปริมาณน้ำฝนที่ไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตในปี 2566/2567 อีกทั้งยังส่งผลให้การเพาะปลูกอ้อยในปี 2567/2568 ลดลงด้วย

          วันที่ 24 สิงหาคม 2566 เจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมของประเทศอินเดีย เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียสั่งห้ามการส่งออกกากน้ำตาล โดยอธิบายว่า กากน้ำตาลที่ส่งออกในปี 2565/2566 สามารถนำไปผลิตเอทานอลได้ประมาณ 380 ล้านลิตร ในขณะเดียวกันสมาคมโรงงานน้ำตาลอินเดีย (ISMA) กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียวางแผนงานที่ชัดเจนเพื่ออธิบายให้ได้ว่าอุตสาหกรรมน้ำตาลคาดว่าจะจัดหากากน้ำตาลให้เพียงพอต่อการนำไปผลิตเอทานอลได้อย่างไร

          วันที่ 23 สิงหาคม 2566 สื่อท้องถิ่น รายงานว่า เนื่องจากการที่ขาดฝนจึงส่งผลให้ปริมาณอ้อยในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ของประเทศอินเดียมีแนวโน้มที่จะลดลงเหลือ 95 ล้านตัน ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับโรงงานน้ำตาลที่จะดำเนินการหีบได้ตลอดทั้งฤดูกาล กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย รายงานข้อมูลว่า จนถึงขณะนี้ปริมาณฝนของรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 7 % ด้านผู้ค้าท้องถิ่นของอินเดีย รายงานว่า การที่ต้องเผชิญกับภาวะที่ขาดฝนช่วยกระตุ้นการบริโภคน้ำตาล และราคาน้ำตาลของอินเดียให้เพิ่มสูงขึ้น

          วันที่ 22 สิงหาคม 2566 รัฐบาลอินเดียจัดสรรน้ำตาลเพิ่มอีก 200,000 ตัน ภายใต้โควตาการขายในเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่อนุญาตไปก่อนหน้านี้ที่ 2.35 ล้านตัน เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาน้ำตาลภายในประเทศของอินเดียเพิ่มสูงขึ้นก่อนช่วงฤดูเทศกาล โดยอินเดียมีความต้องการที่จะมีน้ำตาลในสต็อกที่ 6 ล้านตัน ภายในสิ้นฤดูกาลในเดือนกันยายน 2566 ในขณะที่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวใหม่น่าจะช่วยให้ราคาน้ำตาลของอินเดียลดลงอีก

          วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ผู้เชี่ยวชาญของประเทศอินเดีย ประมาณการณ์ว่า จนถึงขณะนี้บางพื้นที่ของรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) มีฝนตกไม่เพียงพอ และผลผลิตอ้อยอาจจะลดลง 15 – 20 % เว้นแต่ว่าฝนจะฟื้นตัว โดยในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) เขตนาการ์ (Nagar) เขตซาทารา (Satara) เขตซางลี่ (Sangli) และ เขตโซลาปูร์ (Solapur) กำลังเผชิญกับการขาดฝน ในขณะที่เมืองโกลฮาเปอร์ (Kolhapur) นั้นได้รับฝนตกเพียงพอ

          วันที่ 22 สิงหาคม 2566 เกษตรกรชาวไร่อ้อยในเขตบิจนอร์ (Bijnor) ในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ของประเทศอินเดีย รายงานว่า ภาวะน้ำท่วมได้ส่งผลกระทบทำลายไร่อ้อยไป 2,500 เฮกตาร์ ในขณะเดียวกัน ในเมืองปูรันปูร์ (Puranpur) มีพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น 2.5 % เป็น 22,000 เฮกตาร์ ในขณะที่ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อยนั้นมีแนวโน้มที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

          วันที่ 21 สิงหาคม 2566 เจ้าหน้าที่จากกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (IMD) กล่าวว่า ฝนไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ และเดือนสิงหาคมนั้นถือเป็นช่วงที่แห้งแล้งที่สุดของประเทศอินเดียในรอบกว่า 100 ปี นอกจากนี้อินเดียยังเผชิญสภาพอากาศแห้งแล้งติดต่อกัน 11 วัน ซึ่งถือเป็นความแห้งแล้งที่นาน และโอกาสเกิดขึ้นได้ยากหากเปรียบเทียบกับสถิติที่ผ่านมา

          วันที่ 21 สิงหาคม 2566 ตามแหล่งข่าวของประเทศอินเดีย รายงานว่า โรงงานน้ำตาลของอินเดียต่างมีความกังวลว่า นโยบายของรัฐบาลอินเดียล่าสุดที่ได้กำหนดราคาน้ำตาลน่าจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของบริษัท และเกษตรกรไร่อ้อย โดยในภาคอุตสาหกรรม แย้งว่า ราคาน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นนั้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับราคาอาหารอื่นๆ ในอินเดีย ด้านรัฐบาลอินเดียกำลังพยายามรักษาราคาน้ำตาลให้อยู่ในระดับเดิมจนกว่าจะถึงเทศกาลดิวาลี (Diwali) ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ด้านผู้ค้าในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) กล่าวว่า ภาวะที่ขาดฝนประกอบกับอยู่ในช่วงเทศกาลแต่งงาน ส่งผลให้การบริโภคน้ำตาล และราคาน้ำตาลของอินเดียสูงขึ้น

          วันที่ 21 สิงหาคม 2566  แหล่งข่าวของประเทศจีน กล่าวว่า ผู้สังเกตการณ์ตลาดเห็นพ้องกันว่ารัฐบาลจีนได้นำน้ำตาลจากสต๊อกสำรองของประเทศออกมาหมุนเวียนใช้ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าใด และเสริมว่า ความเห็นเกี่ยวกับตลาดน้ำตาลภายในประเทศของจีนถูกแบ่งระหว่างกลุ่มผู้ที่คิดว่าน้ำตาลจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากสต็อกน้ำตาลที่ต่ำ และการนำเข้าที่ลดลงของจีน กับอีกกลุ่มหนึ่งที่มีแนวคิดว่าการนำเข้าน้ำเชื่อม และน้ำตาลผสมน่าจะเพียงพอที่จะทดแทนน้ำตาลที่ใช้ภายในประเทศของจีน ด้านนักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลการจัดเตรียมน้ำตาลของบราซิลแสดงให้เห็นว่ามีน้ำตาลที่ได้บรรทุกเพื่อขนส่งไปยังจีนในเดือนกรกฎาคม 2566 จำนวน 750,000 ตัน ซึ่งน่าจะถึงจีนในช่วงเดือนสิงหาคม  – กันยายน 2566 อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวอีกรายกล่าวเสริมว่า น่าจะใช้เวลาอีกหนึ่งเดือนกว่าที่จะดำเนินการแปรรูปน้ำตาล และมีน้ำตาลเข้าสู่ตลาดได้

          วันที่ 21 สิงหาคม 2566 ข้อมูลจากกรมศุลกากรของประเทศจีน รายงานว่า ปริมาณการนำเข้านำตาลของจีน ในเดือนกรกฎาคม 2566 มีจำนวน 110,000 ตัน ลดลงจากปีก่อน 61 % และปริมาณการนำเข้าตั้งแต่เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 มีจำนวน 1.21 ล้านตัน ลดลง 41 % ส่วนการนำเข้าน้ำเชื่อม และน้ำตาลผสมในเดือนกรกาคม 2566 เพิ่มขึ้น 79,000 ตัน เป็น 193,000ตัน ทำให้ตัวเลขการนำเข้าตั้งแต่เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 มีกว่า 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 346,000 ตัน นอกจากนั้นจีนยังส่งออกน้ำตาลไปยังเกาหลีเหนือในเดือนกรกาคม 2566 จำนวน 9,500 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 90 %

          วันที่ 23 สิงหาคม 2566 กระทรวงอุตสาหกรรมของประเทศอินโดนีเซีย รายงานว่า อินโดนีเซียน่าจะผลิตน้ำตาลได้อยู่ที่ 2.7 ล้านตัน ในปี 2566 และสำหรับความต้องการบริโภคในครัวเรือนของอินโดนีเซียอยู่ที่ 3.4 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.4 ล้านตัน

          วันที่ 23 สิงหาคม 2566 กระทรวงอุตสาหกรรมของประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซียต้องการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อยขึ้นอีก 700,000 เฮคตาร์ ควบคู่ไปกับการเพิ่มปริมาณอ้อย และประสิทธิภาพของโรงงานน้ำตาลเพื่อให้สามารถผลิตน้ำตาลได้เพียงพอภายในประเทศโดยมุ่งหวังที่จะพึ่งพาตนเองให้ได้ภายในปี 2571 – 2573 ตลอดจนสามารถบรรลุเป้าหมายด้านการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอลภายในประเทศ

          วันที่ 23 สิงหาคม 2566 สมาคมน้ำตาล และอ้อยเวียดนาม (VSSA) รายงานข้อมูลว่า การหีบอ้อยในปี 2565/2566 สิ้นสุดลงแล้วด้วยปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ 933,000 ตัน เพิ่มขึ้น 25 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้วด้านการนำเข้าน้ำเชื่อมฟรักโทสจากข้าวโพ (HFCS) เพิ่มขึ้นเป็น 123,000 ตัน ในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของการนำเข้าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ความต้องการน้ำตาลของเวียดนามยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักอยู่ที่ 2.3 ล้านตัน ด้านสมาคม VSSA จึงมีความกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลส่วนเกินของเวียดนาม

สถานะกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไร

          สำหรับสถานะของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่าง ๆ ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ปรากฏว่าได้ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 105,307 ล็อต หรือประมาณ 5.35 ล้านตัน ซึ่งเป็นการถือตั๋วซื้อลดลง 8,911 ล็อต หรือประมาณ 0.45 ล้านตัน เมื่อเทียบกับที่ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 114,218 ล็อต หรือประมาณ 5.80 ล้านตัน ในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น (15 สิงหาคม 2566)

วิจารณ์และความเห็น

          ในสัปดาห์นี้ราคาน้ำตาลทรายดิบเคลื่อนไหวค่อนข้างที่จะผันผวน โดยในช่วงแรกตลาดได้รับแรงกดดันจากข่าวผลผลิตน้ำตาลของบราซิลจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้ผลผลิตอ้อยต่อไร่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำตาลทรายดิบตามสัญญาเดือนมีนาคม 2567 ลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ที่ 23.42 เซนต์ ก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นตามการเข้ามาซื้อน้ำตาลคืนจากตลาด (Short covering) หลังจากนั้น ราคาน้ำตาลยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกเมื่อ Reuters รายงานว่า ในปี 2566/2567 อินเดียจะห้ามส่งออกน้ำตาล เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เนื่องจากขาดแคลนฝน ราคาน้ำตาลเคลื่อนไหวถึงระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือน ที่ 25.22 เซนต์ (25 สิงหาคม 2566) และปิดตลาดที่ 25.16 เซนต์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.10 เซนต์ หรือ 4.57% ในระยะสั้นๆ คาดการณ์ว่า อุปทานน้ำตาลยังไม่ตึงตัว เนื่องจากอยู่ในช่วงของการผลิตน้ำตาลของบราซิล แต่ในระยะไกลออกไป ผลผลิตน้ำตาลจากอินเดีย และไทย ที่ลดลง จะส่งผลให้อุปทานน้ำตาลโลกลดลง และคาดว่าราคาน้ำตาลจะปรับตัวเคลื่อนไหวสูงขึ้นได้อีก แต่ในช่วงนี้ ราคาน้ำตาลของเดือนมีนาคม 2567 น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 23 – 26 เซนต์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระทบต่อตลาด

ฝ่ายตลาด บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด

28 สิงหาคม 2566

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21 – 25 สิงหาคม 2566

Scroll to Top
Skip to content