สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 7 – 11 สิงหาคม 2566

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 7 – 11 สิงหาคม 2566

          ตลาดน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์คประจำสัปดาห์นี้ (7 – 11 สิงหาคม 2566) ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 32 ของปี 2566 โดยราคาน้ำตาลทรายดิบในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และปิดตลาดครั้งสุดท้ายด้วยราคาเพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงต้นสัปดาห์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์คเคลื่อนไหวช่วงแรกปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากบริษัทผู้ค้าน้ำตาล Czarnikow คาดการณ์ว่า ผลผลิตน้ำตาลของไทย ในปี 2566/2567 จะลดลงจากปีก่อน 31 % เหลือ 7.4 ล้านตัน ต่ำสุดในรอบ 17 ปี เนื่องจากความแห้งแล้ง ถึงล่าสุดในปีนี้ ปริมาณน้ำฝนในไทยลดลงจากปีก่อน และจะลดลงต่อเนื่องไปอีกกว่า 2 ปี

          ต่อมาราคาน้ำตาลในช่วงกลางสัปดาห์สูงขึ้นพอประมาณ เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องของราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน 3 สัปดาห์ รวมถึงการที่ ISO คาดการณ์ว่า ผลผลิตน้ำตาลโลก ในปี 2566/2567 จะลดลงจากปีก่อน 1.2 % เหลือ 174.8 ล้านตัน และจะเกิดน้ำตาลโลกส่วนขาด (Deficit) 2.12 ล้านตัน จากที่เกิดน้ำตาลโลกส่วนเกิน (Surplus) 852,000 ตัน เมื่อปี 2565/2566 จากนั้นในช่วงท้ายสัปดาห์ราคาน้ำตาล เคลื่อนไหวถึงระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นพอประมาณ โดยตลาดได้รับปัจจัยบวกมาอย่างต่อเนื่อง

          ราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนตุลาคม 2566 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 23.29 – 24.42 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 24.33 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.64 เซนต์/ปอนด์ หรือ 2.70 % และราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนมีนาคม 2567 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 23.56 – 24.65 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 24.56 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.68 เซนต์/ปอนด์ หรือ 2.85 %

ตลาดน้ำตาลนิวยอร์ค หมายเลข 11 (เซนต์/ปอนด์)

เดือนกำหนดราคา ราคาสูงสุด ราคาต่ำสุด ราคาปิดเมื่อวันที่

11 สิงหาคม 2566

ราคาปิดเมื่อวันที่

4 สิงหาคม 2566

เปลี่ยนแปลง

เพิ่ม (+), ลด (-)

ตุลาคม 2566 24.42 23.29 24.33 23.69 +0.64
มีนาคม 2567 24.65 23.56 24.56 23.88 +0.68
พฤษภาคม 2567 23.32 22.33 23.25 22.60 +0.65
กรกฎาคม 2567 22.42 21.62 22.38 21.86 +0.52
ตุลาคม 2567 21.94 21.19 21.90 21.40 +0.50
มีนาคม 2568 21.65 20.98 21.60 21.12 +0.48
พฤษภาคม 2568 20.18 19.64 20.13 19.77 +0.36
กรกฎาคม 2568 19.32 18.91 19.29 19.02 +0.27
ตุลาคม 2568 19.13 18.79 19.08 18.86 +0.22
มีนาคม 2569 19.28 18.96 19.24 18.99 +0.25
พฤษภาคม 2569 18.77 18.48 18.74 18.49 +0.25
กรกฎาคม 2569 18.58 18.33 18.55 18.32 +0.23

ข่าวที่สำคัญ

          วันที่ 11 สิงหาคม 2566  Czarnikow รายงานว่า ความต้องการน้ำตาลทรายดิบลดลง 20 % ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่เกิดจากการที่โรงงานน้ำตาลชะลอการซื้อ และลดสต็อกน้ำตาลลง โดย Czarnikow รายงานเพิ่มเติมว่า ความต้องการน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ไม่ได้ตอบสนองต่อราคาน้ำตาลโลกที่สูงขึ้น ดังที่เห็นได้จากค่าพรีเมี่ยมน้ำตาลทรายขาวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะสนับสนุนราคาน้ำตาลให้สูงขึ้นใหม่อีกครั้งในช่วง 12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาอันใกล้นี้ แหล่งข่าวในตลาด กล่าวว่า ราคาน้ำตาลอาจลดลงท่ามกลางผลผลิตน้ำตาลของบราซิลที่เพิ่มขึ้น

          วันที่ 11 สิงหาคม 2566 องค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (ISO) คาดการณ์ว่า ตลาดน้ำตาลโลกน่าจะเผชิญกับภาวะน้ำตาลโลกส่วนขาด(Deficit) 2.12 ล้านตัน ในปี 2566/2567 (ตุลาคม – กันยายน) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลผลิตน้ำตาลที่ลดลงของบราซิล โดยองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (ISO) ปรับลดการคาดการณ์น้ำตาลโลกส่วนเกิน (Surplus) สำหรับปี 2566/2567 จาก 850,000 ตัน เหลือ 493,000 ตัน และเปลี่ยนแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกจากที่ก่อนหน้านี้คาดการณ์ไว้ว่าราคาน่าจะทรงตัว ปรับคาดการณ์เป็นราคาน่าจะพุ่งสูงขึ้นในช่วงอีก 3 เดือนข้างหน้า

          วันที่ 9 สิงหาคม 2566 ผู้สังเกตการณ์ตลาด ระบุว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลทรายขาวร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายสัปดาห์ เนื่องจากมีสัญญาณด้านเศรษฐกิจของจีนที่ยังคงอยู่ในภาวะที่ผันผวน และความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้

          วันที่ 8 สิงหาคม 2566 CovrigAnalytics คาดการณ์ว่า ปี 2566/2567 น้ำตาลโลกจะขาดดุล (Deficit) ที่ 2.2 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าจำนวนที่ Czarnikow คาดการไว้ว่าน่าจะขาดดุล (Deficit) โดยประมาณอยู่ที่ 900,000 ตัน ด้านนักวิเคราะห์ชาวจีน คาดการณ์ว่า ราคาน้ำตาลโลกน่าจะสูงขึ้นอย่างมากเนื่องจากการขาดดุล (Deficit) แต่อย่างไรก็ตามในระยะสั้น การเก็บเกี่ยวที่ดีขึ้นในภาคกลาง – ใต้ของบราซิล กำลังส่งผลในเชิงลบต่อราคาน้ำตาล

          วันที่ 7 สิงหาคม 2566 แหล่งข่าว รายงานว่า ราคาซื้อขายน้ำตาลทรายดิบในตลาดล่วงหน้าปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ครึ่ง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 เนื่องจากแรงขายจากกลุ่มกองทุน และจากผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศบราซิลที่ใช้ประโยชน์จากการที่ค่าเงินเรียลบราซิลอ่อนค่าลง ด้านประธานของบริษัทที่ปรึกษา Archer Consulting กล่าวว่า ราคาน้ำตาลน่าจะอ่อนตัวลงอีก พร้อมทั้งสภาพอากาศที่ดีในอินเดียและ ภาคกลาง – ใต้ของบราซิล ซึ่งปริมาณอ้อยอาจจะสูงถึง 620 ล้านตัน ถึงแม้ว่าโรงงานน้ำตาลน่าจะไม่สามารถหีบอ้อยได้ทั้งหมดในฤดูกาลนี้ โดยอย่างไรก็ตาม Czarnikow ยังคงคาดการณ์ว่า น้ำตาลโลกในปี 2566/2567 จะขาดดุล (Deficit) ที่ 900,000 ตัน โดย Czarnikow ตั้งข้อสังเกตเห็นว่า มีปัจจัยบวกคือเรื่องของการผลิตน้ำตาลที่ดีในภาคกลาง – ใต้ของบราซิล แต่ยังคงมีปัจจัยลบที่อาจเกิดขึ้นคือเรื่องปริมาณอ้อยของอินเดีย โดยผู้ค้าบางราย คาดการณ์ว่า ราคาน้ำตาลจะยังคงอยู่ที่ประมาณ 24 เซนต์/ปอนด์ โดยที่ค่าพรีเมี่ยมของน้ำตาลทรายขาวที่สูงนั้นจะกระตุ้นให้โรงงานละลายน้ำตาลมีการซื้อน้ำตาลทรายดิบมาละลายเป็นน้ำตาลทรายขาวเพิ่มขึ้น

อเมริกาเหนือ

          วันที่ 11 สิงหาคม 2566 สมาคมผู้ใช้สารให้ความหวาน (Sweetener Users Association) เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯแก้ไขนโยบายน้ำตาลเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำตาลในท้องถิ่นซึ่งสามารถไว้วางใจได้มากกว่ารอการนำเข้าน้ำตาล ด้านโฆษกของสมาคม ตั้งข้อสังเกตว่า การนำเข้าน้ำตาลในระดับสูงกำลังกลายเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯไม่สามารถควบคุมได้ ในขณะเดียวกัน American Sugar Alliance ได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธคำกล่าวอ้างของ Wall Street Journal ว่าบริษัทผู้ผลิตลูกอมของสหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำตาล

          วันที่ 9 สิงหาคม 2566 JSG Commodities กล่าวว่า ประเทศเม็กซิโกมีการนำเข้าน้ำตาลอยู่ที่ 100,000 ตัน ในปีนี้ ซึ่งขัดกับข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโก แต่อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ จะต้องนำเข้าน้ำตาลจากเม็กซิโกมากขึ้นในปี 2566/2567 เพื่อชดเชยการผลิตที่ลดลง โดยสหรัฐฯ ผลิตน้ำตาลลดลงเหลือ 9.109 ล้านชอร์ตตัน (8.3 ล้านตัน) จาก 9.242 ล้านชอร์ตตัน (8.4 ล้านตัน) ในปี 2565/2566 ด้านศูนย์วิจัยทางการเกษตรของรัฐหลุยเซียน่า (LSU Agricultural Centre) รายงานว่า ในรัฐหลุยเซียน่า (Louisiana) ได้เงินภาษีจากการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น 102 % ในช่วงปี 2558 – 2563

          วันที่ 8 สิงหาคม 2566 กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) รายงาน ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ว่า พื้นที่ปลูกอ้อยในรัฐลุยเซียนา (Louisiana) กว่า 72 % อยู่ภายใต้สภาวะแห้งแล้ง ด้านบริษัท Sosland Publishing Coรายงานว่า ชาวไร่อ้อยยังไม่กังวลว่าปริมาณผลผลิตอ้อยจะได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้ง แต่อย่างไรก็ตามในเดือนสิงหาคมพื้นที่ในรัฐลุยเซียนา (Louisiana) นั้นยังคงต้องการฝน เช่นเดียวกับพื้นที่บีทของรัฐมิชิแกน (Michigan)

อเมริกาใต้

          วันที่ 10 สิงหาคม 2566 S&P Global Commodity Insights รายงานผลการสำรวจว่า ตลาดน้ำตาลโลกคาดการณ์ว่าโรงงานน้ำตาลในภาคกลาง – ใต้ของบราซิลน่าจะหีบอ้อยได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 51.47 ล้านตัน ในช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคม 2566 เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่มีฝนน่าจะช่วยให้ในภาคกลาง – ใต้ของบราซิลมีผลผลิตน้ำตาลได้อยู่ที่ 3.58 ล้านตัน และเอทานอลที่ 2.42 พันล้านลิตร ด้าน StoneX เสริมเพิ่มเติมว่า สัดส่วนของอ้อยที่นำไปผลิตเป็นน้ำตาลน่าจะใกล้เคียงกับในช่วงครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ 50.1 %  และความต้องการไฮดรัสน่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันที่ต่ำ

          วันที่ 10 สิงหาคม 2566 สถาบัน HedgePoint Global Markets เพิ่มประมาณการผลผลิตอ้อยของ ภาคกลาง – ใต้ของบราซิล 2566/2567 เป็น 616 ล้านตัน และการผลิตน้ำตาลที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 39.4 ล้านตัน เนื่องจากสภาพอากาศที่ดี และมีสัดส่วนของอ้อยที่นำไปผลิตเป็นน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการส่งออกน้ำตาลของบราซิลในช่วงครึ่งหลังของปีน่าจะช่วยชดเชยการส่งออกน้ำตาลที่ลดลงจากประเทศอื่นๆ ด้านกระทรวงการพัฒนาอุตสาหกรรม การค้า และบริการ (MDIC) รายงานว่า บราซิลส่งออกน้ำตาลที่ 2.93 ล้านตัน ในเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้น 2.3 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 503 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยการส่งออกน้ำตาลของบราซิลในช่วงเดือน มกราคม – สิงหาคมอยู่ที่ 14.16 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

          วันที่ 9 สิงหาคม 2566 สถาบันวิจัย Cepea/Esalq ของประเทศบราซิล รายงานว่า ความต้องการเอทานอลของเซาเปาโล (Sao Paulo) ยังคงอ่อนแอในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม 2566 โดยยอดขายเอทานอลนั้นต่ำกว่าในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566 มาก ด้าน Paulinia Daily Indicator รายงานข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ราคาของไฮดรัสปรับเพิ่มขึ้น 0.45 % ด้าน Cepea/Esalq รายงานข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ราคาน้ำตาลทรายขาวในเซาเปาโล (Sao Paulo) ยังคงทรงตัวในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม 2566 แม้ว่าราคาน้ำตาลจะสูงขึ้นเพียง 1.04 % ในช่วงท้ายของสัปดาห์ก็ตาม

          วันที่ 9 สิงหาคม 2566 Pecege ของประเทศบราซิล คำนวณว่า ต้นทุนในการปลูกอ้อยของบราซิลเพิ่มขึ้น 57 % ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาเป็น 3,950 เรียลบราซิล/เฮกตาร์ (806 ดอลลาร์สหรัฐฯ/เฮกตาร์) ในปี 2565/2566 ซึ่งต้นทุนจริงอยู่ในช่วง 2,644 – 4,724 เรียลบราซิล/เฮกตาร์ (540 – 964 ดอลลาร์สหรัฐฯ/เฮกตาร์) ซึ่งปัจจัยต่างๆนั้นขึ้นอยู่กับผู้ผลิตแต่ละรายด้วย

          วันที่ 8 สิงหาคม 2566 สำนักงานเลขาธิการกระทรวงการค้าต่างประเทศ (Secex) ของประเทศบราซิล รายงานว่า บราซิลมีการส่งออกน้ำตาลที่ 631,000 ตัน ในสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม ซึ่งมีอัตราการนำน้ำตาลลงเรือต่อวันเพิ่มขึ้น 23 % เมื่อเทียบกับของเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และรายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่า การส่งออกข้าวโพดของบราซิลในช่วงแรกของเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 1.3 ล้านตัน ซึ่งมีอัตราการนำข้าวโพดลงเรือของเดือนสิงหาคมสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว 2 % ด้าน Celeres Consultoria ตั้งข้อสังเกตว่า การส่งออกข้าวโพดเกิดความล่าช้าเนื่องมาจากการเก็บเกี่ยวที่ล่าช้า แต่มีการคาดการณ์ว่า การส่งออกข้าวโพดน่าจะมากขึ้นในช่วงเดือน กันยายน – พฤศจิกายน 2566

          วันที่ 7 สิงหาคม 2566 Williams Brasil รายงานว่า ประเทศบราซิลมีเรือรอรับน้ำตาลลดลงเหลือ 69 ลำ ซึ่งมีกำหนดรับน้ำตาลจำนวน 2.99 ล้านตัน ในช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้วเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับในสัปดาห์ก่อนหน้า (26 กรกฎาคม 2566) ที่มีเรือจำนวน 82 ลำ ซึ่งมีกำหนดรับน้ำตาลจำนวน 3.46 ล้านตัน

          วันที่ 10 สิงหาคม 2566 รายงานผลผลิตน้ำตาลและอ้อยเข้าหีบภาคกลาง – ใต้บราซิล ของ Unica ฤดูการผลิตปี 2566/2567 (เมษายน – มีนาคม) ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2566 ดังนี้

รายการ ในช่วงครึ่งหลังเดือนกรกฎาคม 2566 ยอดสะสม
ปี ปี เปลี่ยนแปลง ปี ปี เปลี่ยนแปลง
2565/66 2566/67 (%) 2565/66 2566/67 (%)
ผลผลิตอ้อย (พันตัน) 49,124 52,962 +7.81 283,682 311,321 +9.74
ผลผลิตน้ำตาล (พันตัน) 3,308 3,681 +11.29 16,001 19,167 +19.79
ผลผลิตเอทานอล (ล้านลิตร) 2,424 2,457 +1.35 13,699 14,404 +5.15
ATR (กก/ตันอ้อย) 148.19 144.02 -2.81 133.52 132.89 -0.47
สัดส่วนอ้อยนำไปผลิตน้ำตาล (%) 47.69 50.65 +6.21 44.34 48.62 9.65
สัดส่วนอ้อยนำไปผลิตเอทานอล (%) 52.31 49.35 -5.66 55.66 51.38 -7.69
กก. น้ำตาลต่อตันอ้อย 67.33 66.50 +3.22 56.40 61.57 +9.15

ยุโรป

          วันที่ 11 สิงหาคม 2566 เกษตรกรในประเทศรัสเซียเก็บเกี่ยวบีทได้ 13,900 เฮกตาร์ ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2566 อยู่ที่ 1.3 % ของพื้นที่เพาะปลูกบีทของรัสเซียทั้งหมด ขณะที่สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลแห่งชาติของรัสเซีย (Soyuzrossahar) เปิดเผยว่า ตัวชี้วัดคุณภาพผลผลิตเกือบทั้งหมดชี้ว่าดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยส่งผลให้ IKAR กล่าวว่า ผลผลิตน้ำตาลของรัสเซียอาจเกิน 6.5 ล้านตัน ในฤดูกาลผลิตใหม่เพิ่มขึ้นจาก 6.2 ล้านตัน ของฤดูกาลที่แล้ว ในขณะที่ Sugar.ru ระบุว่าผลผลิตน้ำตาลของรัสเซียน่าจะอยู่ที่ 6.3 – 6.6 ล้านตัน ขณะนี้การส่งออกน้ำตาลน่าจะดีขึ้น เนื่องจากอุปสงค์น้ำตาลที่ชะลอตัว และค่าเงินรูเบิลรัสเซียที่อ่อนค่าลง ในไครเมีย (Crimea) เจ้าหน้าที่รัสเซีย กล่าวว่า พื้นที่เพาะปลูกบีทในปีนี้สูงถึง 400 เฮกตาร์ เพิ่มขึ้นจาก 210 เฮกตาร์ ในปีที่แล้ว

          วันที่ 8 สิงหาคม 2566 Soyuzrossahar รายงานว่า การเก็บเกี่ยวบีทของประเทศรัสเซียเร็วกว่าปีที่แล้ว โดยรัสเซียผลิตน้ำตาลได้ 70,000 ตัน ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2566 เพิ่มขึ้นจาก 22,000 ตัน ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ด้านผลผลิตน้ำตาลของรัสเซียในเดือนสิงหาคม 2566 น่าจะสูงถึง          400,000 ตัน ซึ่งมากกว่าของเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว 30,000 ตัน ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลรัสเซียผู้มีความเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมน้ำตาล และนักวิจัยได้พบกันที่เขตสตัฟโรปอล (Stavropol Territory) เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาการปลูกบีทแบบลูกผสมภายในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดการพึ่งพาการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ

เอเชีย

          วันที่ 10 สิงหาคม 2566 เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของประเทศอินเดีย กล่าวว่า การปลูกอ้อยในช่วงฤดูฝนของรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ทำได้เพียง 69 % ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้เนื่องจากฝนที่ตกล่าช้า ซึ่งจะทำให้คุณภาพของอ้อยที่จะเก็บเกี่ยวในเดือนมกราคมลดลงด้วย โดยในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ชาวไร่อ้อยได้เรียกร้องให้รัฐขึ้นราคาอ้อยเป็น 5,800 รูปีอินเดีย/ตัน (70 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน)

          วันที่ 9 สิงหาคม 2566 ราคาน้ำตาลในภาคเหนือของประเทศอินเดียได้รับแรงกดดันเนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแออันเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่มีฝน ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย รายงานว่า มรสุมฝนกำลังเข้าสู่ช่วงอ่อนตัวเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่น่าจะคงอยู่ไปจนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2566 โดยคาดว่าฝนในเดือนสิงหาคมน่าจะอยู่ที่ 90 – 94 % ของค่าเฉลี่ยปกติ โดยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 มีปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 % แต่ทั่วประเทศอินเดียมีฝนไม่สม่ำเสมอ

          วันที่ 8 สิงหาคม 2566 นักวิเคราะห์จาก Tropical Research Services รายงานว่า การตัดสินใจของรัฐบาลอินเดียในการห้ามการส่งออกข้าวแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอินเดียมีความอ่อนไหวต่อราคาอาหารเพียงใด และรัฐบาลอินเดียอาจจะไม่อนุญาตให้มีการส่งออกน้ำตาลถ้าหากผลผลิตน้ำตาลของอินเดียในปีหน้าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้  ด้าน StoneX and Rabobank แสดงความเห็นว่า นโยบายการส่งออกน้ำตาลของอินเดียขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลอินเดียบรรลุเป้าหมายการผลิตเอทานอลหรือไม่ อย่างไรก็ตามรัฐบาลอินเดียอาจรอดูจนกว่าฤดูกาลหน้าจะดำเนินไปได้ด้วยดีหรือไม่ และจึงรอแก้ไขนโยบายการส่งออกน้ำตาลอีกครั้ง ด้านนักวิเคราะห์อีกราย กล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อด้านราคาน้ำตาลของอินเดียประจำปียังคงต่ำกว่า 2 % ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงอาหารของอินเดียได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ว่า ปริมาณสต็อกน้ำตาลของอินเดียในปัจจุบันอยู่ที่ 10.8 ล้านตัน ซึ่งน่าเพียงพอต่อความต้องการสำหรับฤดูกาลนี้ และจะมีปริมาณน้ำตาลคงเหลือยกไปยังฤดูกาลหน้าอยู่ที่ 6.2 ล้านตัน

          วันที่ 7 สิงหาคม 2566 Tropical Research Services รายงานว่า มีความกังวลว่ารัฐบาลอินเดียอาจตัดสินใจไม่อนุญาตให้มีการส่งออกน้ำตาลหลังจากที่มีการห้ามส่งออกข้าว ด้าน StoneX เสริมว่า ประเทศอินเดียอาจมีน้ำตาลไม่เพียงพอที่จะส่งออก โดยข่าวการไม่อนุญาตส่งออกน้ำตาลของอินเดียเกิดขึ้นเมื่อบังกลาเทศขอโควตาส่งออกน้ำตาลจำนวน 1 ล้านตัน กับพืชผลอื่นๆ จากอินเดียไปยังบังกลาเทศ โดยปรับลดลงจาก 1.5 ล้านตัน ที่ร้องขอเมื่อเดือนธันวาคม

          วันที่ 7 สิงหาคม 2566 เลขาธิการด้านอาหารวิจารณ์ สมาคมโรงงานน้ำตาลอินเดีย (ISMA) ที่ออกประมาณการผลผลิตน้ำตาลที่ต่ำกว่าในปี 2566/2567 โดยให้เหตุผลว่าทำให้เกิดความตื่นตระหนกเกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลของประเทศอินเดีย และยังเร็วเกินไปที่จะทำการประเมินอย่างแม่นยำสำหรับปริมาณผลผลิตในฤดูกาลหน้าในขณะเดียวกัน กระทรวงอาหารของอินเดียได้ออกแถลงการณ์ว่ามีน้ำตาลในสต๊อกมากพอที่จะรับประกันเรื่องอุปทานน้ำตาล ด้านสื่อท้องถิ่น กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอาหารอินเดีย คาดการณ์ว่า น้ำตาล 5.5 ล้านตันจะถูกนำไปผลิตเอทานอลในฤดูกาลนี้ ซึ่งสูงกว่าที่อุตสาหกรรมน้ำตาลอินเดียคาดการณ์ไว้ตอนแรกที่ 4.5 ล้านตัน

          วันที่ 11 สิงหาคม 2566 Czarnikow ยังคงคาดการณ์ ผลผลิตน้ำตาลของประเทศจีนในปี 2566/2567 ไว้อยู่ที่ 9.6 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แม้ว่าจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) และสภาพอากาศแห้งแล้งที่รุนแรงก็ตาม โดยปกติแล้วปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) จะทำให้ในจีนอุณหภูมิสูงขึ้น รวมถึงเกิดภาวะภัยแล้งทางตอนเหนือ และน้ำท่วมทางตอนใต้ของจีน

          วันที่ 7 สิงหาคม 2566 สมาคมน้ำตาลของประเทศจีน รายงานว่า ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมโรงงานน้ำตาลของจีนขายน้ำตาลได้อยู่ที่ 7.38 ล้านตัน สำหรับฤดูกาลปี 2565/2566 เพิ่มขึ้น 620,000 ตัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่การผลิตน้ำตาลลดลง 590,000 ตัน เหลือ 8.97 ล้านตัน โดยเขตกว่างซี (Guangxi) ขายน้ำตาลได้ 4.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 188,000 ตัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รวมถึงในเดือนกรกฎาคมขายได้อยู่ที่ 264,000 ตัน เพิ่มขึ้น 118,000 ตัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่การผลิตลดลง 849,000 ตันเหลือ 5.3 ล้านตัน ส่งผลให้สต็อกน้ำตาลของเขตกว่างซี (Guangxi) ลดลง 1 ล้านตัน เหลืออยู่ที่ 890,000 ล้านตัน

สถานะกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไร

          สำหรับสถานะของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่าง ๆ ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2566 ปรากฏว่าได้ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 111,626 ล็อต หรือประมาณ 5.67 ล้านตัน ซึ่งเป็นการถือตั๋วซื้อลดลง 21,905 ล็อต หรือประมาณ 1.11 ล้านตัน เมื่อเทียบกับที่ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 133,531 ล็อต หรือประมาณ 6.78 ล้านตัน ในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ( 1 สิงหาคม 2566)

วิจารณ์และความเห็น

          ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลเคลื่อนไหวค่อนข้างที่จะผันผวน โดยในวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ราคาน้ำตาลตามสัญญาเดือนมีนาคม 2567 ลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ ที่ 23.56 เซนต์ และในช่วงวันทำการสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ราคาน้ำตาลได้ปรับตัวสูงขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ ที่ 24.65 เซนต์ แม้ว่าในช่วงดังกล่าว Unica จะรายงานผลผลิตอ้อย และน้ำตาลในช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคม 2566 ออกมาเป็นจำนวนมาก แต่เป็นไปตามที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ จึงไม่ส่งผลกระทบทางด้านลบต่อตลาด อย่างไรก็ดี ในช่วงสั้นๆ อุปทานน้ำตาลโลกน่าจะมีพอเพียง เพราะอยู่ในช่วงการผลิตของบราซิล แต่ในระยะปานกลาง/ยาว อุปทานน้ำตาลจะตึงตัว ในขณะที่อุปสงค์ในน้ำตาลจะเพิ่มขึ้น น่าจะส่งผลบวกต่อราคาน้ำตาล ในช่วงนี้คาดว่าราคาจะยังคงเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 23 – 26 เซนต์

ฝ่ายตลาด บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด

15 สิงหาคม 2566

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 7 – 11 สิงหาคม 2566

Scroll to Top
Skip to content