สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2566

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2566

          ตลาดน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์คประจำสัปดาห์นี้ (31 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2566) ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 31 ของปี 2566 โดยราคาน้ำตาลทรายดิบในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวผันผวน และปิดตลาดครั้งสุดท้ายด้วยราคาที่ลดลง และเพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงต้นสัปดาห์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์คเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นพอประมาณ ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1 % สู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนครึ่ง และตามค่าเงินเรียลบราซิลเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ยังแข็งแกร่ง ซึ่งเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว แข็งสุดในรอบ 14 เดือน โดยในช่วงแรกราคาน้ำตาลในวันจันทร์ ลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์ ตามสัญญาณผลผลิตน้ำตาลของบราซิลที่เพิ่มขึ้น ต่อมาราคาน้ำตาลตลาดนิวยอร์คปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลของอินเดียที่ลดลง หลังจากผู้ผลิตน้ำตาลของอินเดีย Dalmia Bharat คาดว่าผลผลิตน้ำตาลของอินเดียในปี 2566/2567 จะลดลงจากปีก่อน 3 % เหลือ 31.8 ล้านตัน จากนั้นในช่วงท้ายสัปดาห์ราคาน้ำตาลปิดลดลงพอประมาณ โดยคลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ตลาดได้รับแรงกดดันหลังจากที่กระทรวงอาหารของอินเดีย กล่าวว่า สต็อคน้ำตาลของอินเดียมีเพียงพอ และ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 10.8 ล้านตัน ทำให้ลดการเก็งกำไรที่ว่าอินเดียจะจำกัดการส่งออกน้ำตาล

          ราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนตุลาคม 2566 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 23.57 – 24.61 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 23.69 เซนต์/ปอนด์ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน -0.23 เซนต์/ปอนด์ หรือ 0.96 % และราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนมีนาคม 2567 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 23.77 – 24.75 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 23.88 เซนต์/ปอนด์ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน -0.26 เซนต์/ปอนด์ หรือ 1.08 %

ตลาดน้ำตาลนิวยอร์ค หมายเลข  11  (เซนต์/ปอนด์)
เดือนกำหนดราคา ราคาสูงสุด ราคาต่ำสุด ราคาปิดเมื่อวันที่

4 สิงหาคม 2566

ราคาปิดเมื่อวันที่

28 กรกฎาคม 2566

เปลี่ยนแปลง

เพิ่ม (+), ลด (-)

ตุลาคม 2566 24.61 23.57 23.69 23.92 -0.23
มีนาคม 2567 24.75 23.77 23.88 24.14 -0.26
พฤษภาคม 2567 23.36 22.51 22.60 22.81 -0.21
กรกฎาคม 2567 22.54 21.78 21.86 22.10 -0.24
ตุลาคม 2567 21.97 21.30 21.40 21.63 -0.23
มีนาคม 2568 21.64 21.03 21.12 21.38 -0.26
พฤษภาคม 2568 20.23 19.68 19.77 20.03 -0.26
กรกฎาคม 2568 19.42 18.92 19.02 19.24 -0.22
ตุลาคม 2568 19.18 18.77 18.86 19.01 -0.15
มีนาคม 2569 19.18 18.87 18.99 19.06 -0.07
พฤษภาคม 2569 18.59 18.35 18.49 18.48 +0.01
กรกฎาคม 2569 18.40 18.18 18.32

ข่าวที่สำคัญ

          วันที่ 3 สิงหาคม 2566 แหล่งข่าว กล่าวว่า ราคาซื้อขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าปรับตัวลดลง ท่ามกลางสภาพอากาศที่คงที่ และดีขึ้นทั้งในบราซิล อินเดีย ไทย จีน และยุโรป อย่างไรก็ตามสภาพอากาศอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอีกครั้ง ด้านอุปสงค์น้ำตาลยังคงแข็งแกร่งซึ่งอ้างอิงได้จากราคาซื้อขายน้ำตาลในตลาดล่วงหน้า ในขณะที่ตลาดน้ำตาลโลกมีความกังวลเกี่ยวกับการลดลงของอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ เกี่ยวกับเรื่องสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค ด้าน StoneX ตั้งสังเกตว่า ค่าน้ำตาลในอ้อย (ATR) ของบราซิลอาจจะเริ่มลดลง อย่างไรก็ตาม StoneX ได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลในภาคกลาง – ใต้ของบราซิลจาก 38 ล้านตัน เป็น 39.9 ล้านตัน ตามสัดส่วนของอ้อยที่นำไปผลิตเป็นน้ำตาลที่สูงขึ้น

          วันที่ 2 สิงหาคม 2566 นักวิเคราะห์ กล่าวว่า สภาพอากาศในภาคกลาง – ใต้ของบราซิล นั้นดีขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนให้การเก็บเกี่ยวเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น แม้ว่าบางพื้นของบราซิลคาดว่าจะมีฝนตกมากขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ถึงช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2566  อีกทั้ง ข้อจำกัดด้านกระบวนการการส่งออกของบราซิลที่ได้ผ่อนคลายลง และส่งผลให้บราซิลสามารถส่งออกน้ำตาลได้อยู่ที่ 3 – 4 ล้านตัน/เดือน ไปจนถึงช่วงเดือนตุลาคม โดยนักวิเคราะห์อีกราย กล่าวว่า ปัจจัยเหล่านี้ของบราซิลน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลเป็นการควบคุมการขึ้นลงของราคาน้ำตาลโลกในช่วงระยะสั้น แต่อย่างไรก็ตามปัญหาด้านสภาพอากาศ และปริมาณอ้อยที่น้อยลงของอินเดีย และไทยอาจจะทำให้อุปทานน้ำตาลตึงตัว และน่าจะช่วยพยุงราคาน้ำตาลในช่วงระยะยาว

          วันที่ 1 สิงหาคม 2566  Rabobank รายงานว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดล่วงหน้าร่วงลงอีกครั้งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 หลังจากที่ลดลง 4.4 % เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และอาจลดลงต่อเนื่องแม้สภาพอากาศจะยังคงปกติดี เนื่องมาจากอุปสงค์น้ำตาลที่ชะลอตัว และตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ราคาน้ำตาลที่สูงเริ่มส่งผลกระทบต่อการบริโภค ในขณะที่บริษัทอาหารจะยังคงลดปริมาณส่วนผสมของน้ำตาลลง ด้าน Archer Consulting ประเมินว่า ตลาดซื้อขายน้ำตาลล่วหน้าน่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนราคา ณ ท่าเรือ (FOB) ที่แข็งแกร่งให้ยืนอยู่ที่ประมาณ 21 เซนต์/ปอนด์ หรือ 2,305 เรียวบราซิล/ตัน เนื่องจากอุปทานตึงตัวและความไม่แน่นอนของนโยบายการส่งออกน้ำตาลของอินเดีย

          วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 Czarnikow รายงานว่า ต้นทุนการผลิตน้ำตาลทรายดิบในประเทศไทย น่าจะลดลงเหลือ 360 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และของประเทศบราซิลน่าจะลดลงเหลือ 351 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน แม้ว่าราคาอ้อยจะสูงขึ้นก็ตาม ในทางกลับกัน ต้นทุนการผลิตน้ำตาลในสหภาพยุโรป และอินเดียน่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เนื่องจากราคาอ้อย และหัวบีทสูงขึ้น

อเมริกาเหนือ

          วันที่ 4 สิงหาคม 2566 Czarnikow รายงานว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) น่าจะนำมาซึ่งสภาพอากาศที่แห้งแล้ง และปริมาณบีทที่ลดลงในรัฐมินนิโซตา (Minnesota) และรัฐมิชิแกน (Michigan) ซึ่งผลผลิตน้ำตาลจากบีทครึ่งหนึ่งของประเทศสหรัฐฯมาจากทั้งสองรัฐนี้เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม รูปแบบสภาพอากาศเอลนีโญ (El Nino) อาจจะทำให้สภาพอากาศในภูมิภาคอื่นๆของสหรัฐฯ ดีขึ้นได้ โดยทำให้มีฝนตกมากขึ้นในรัฐนอร์ทดาโคตา (North Dakota) รัฐไอดาโฮ (Idaho) รัฐมอนทานา (Montana) และรัฐไวโอมิง (Wyoming) ด้านนักวิจัย กล่าวว่า เอลนีโญ (El Nino) อาจจะลดอัตตราการเกิดพายุในพื้นที่ปลูกอ้อยของรัฐหลุยเซียน่า (Louisiana) รัฐฟลอริดา (Florida) และรัฐเท็กซัส (Texas)

อเมริกาใต้

          วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 สหภาพผู้นำเข้าน้ำมัน (Union Abicom) ของประเทศบราซิล รายงานว่าราคาน้ำมันที่ Petrobras กำหนดต่ำกว่าระดับราคาการนำเข้า 24 % เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 โดย Union Abicom เตือนว่า บราซิลอาจประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของเดือนสิงหาคม 2566 เนื่องจากขาดโอกาสในการนำเข้าน้ำมัน ด้าน Petrobras ได้ออกมาตอบโต้ โดยปฏิเสธเรื่องความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำมัน อย่างไรก็ตาม Petrobras ได้ประกาศนโยบายการจ่ายเงินปันผลใหม่เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 ซึ่งจะจำกัดการจ่ายที่ 45 % ของกระแสเงินสดอิสระ เทียบกับก่อนหน้านี้อยู่ที่ 60 % อย่างไรก็ตามการแบ่งจ่ายขั้นต่ำได้ถูกเก็บสำรองไว้ที่ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี

          วันที่ 3 สิงหาคม 2566 Czarnikow รายงานว่า ประเทศโคลอมเบียน่าจะผลิตน้ำตาลได้อยู่ที่ 2.1 ล้านตันในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านตัน เมื่อ 2 ฤดูกาลที่แล้ว เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่อาจจะทำให้สภาพอากาศแห้งมากขึ้น หลังจากที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) 2 ครั้งติดต่อกันซึ่งส่งผลให้เกิดการชะลอการเก็บเกี่ยวอ้อยเนื่องจากมีฝนที่ตกมาก โดยส่งผลให้การส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้นเป็น 640,000 ตัน มากกว่าปีที่แล้ว แต่ก็ยังต่ำกว่าปริมาณการส่งออกปกติ

ยุโรป

          วันที่ 4 สิงหาคม 2566 Soyuzrossakhar รายงานข้อมูลว่า ประเทศรัสเซียน้ำหนักหัวบีทเฉลี่ย ณ วันที่ 1 สิงหาคมอยู่ที่ 370 กรัม เพิ่มขึ้น 42 กรัม เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่เปอร์เซ็นต์น้ำตาลเฉลี่ยของบีทอยู่ที่ 13.16 % เพิ่มขึ้นจาก 12.86 % เมื่อปีที่แล้ว ด้าน Sugar.ru รายงานว่า ราคาขายส่งน้ำตาลของรัสเซียยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์นี้

          วันที่ 4 สิงหาคม 2566 โรงงานน้ำตาลในครัสโนดาร์ (Krasnodar Territory) ของประเทศรัสเซียขายน้ำตาลล็อตแรกของปี 2566/2567 ในตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (SPMTSS) โดยขายน้ำตาลทรายขาว 400 ตัน ในราคา 24.2 ล้านรูเบิลรัสเซีย (256,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยก่อนหน้านี้ผู้ผลิตได้ลงนามในสัญญาว่าจะขายผลผลิตน้ำตาล 10 % ในการแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์

เอเชีย

          วันที่ 4 สิงหาคม 2566 แหล่งข่าวในท้องถิ่นของประเทศอินเดีย กล่าวว่า ราคาขายส่งน้ำตาลในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) พุ่งขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 3 หลังจากรัฐบาลอินเดียประกาศลดโควตาการขายน้ำตาลในเดือนสิงหาคม ด้านผู้ค้า เสริมว่า ราคาน้ำตาลไม่น่าจะสูงขึ้นมาก เนื่องจากราคาน้ำตาลของอินเดียขณะนี้ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว

          วันที่ 2 สิงหาคม 2566 สมาคมโรงงานน้ำตาลของอินเดีย (ISMA) คาดการณ์ว่า ประเทศอินเดียน่าจะสามารถผลิตน้ำตาลได้ 31.68 ล้านตันในปี 2566/2567 ซึ่งลดลง 3.41 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 2565/2566 อยู่ที่ 32.8 ล้านตัน โดยอินเดียจะเหลือน้ำตาลในสต็อกปลายปีอยู่ที่ประมาณ 4.2 ล้านตัน ด้านผู้ค้า รายงานว่า ปริมาณฝนในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) และรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ในปีนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 39 % ในขณะที่อัตราการนำน้ำตาลไปผลิตเป็นเอทานอลอาจจะสูงถึง 5.1 ล้านตัน เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำตาลของฤดูกาลใหม่ที่ดีขึ้น

          วันที่ 1 สิงหาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (IMD) รายงานว่า ประเทศอินเดียมีแนวโน้มที่จะได้รับฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งน่าจะอยู่ที่ 92 % ของค่าเฉลี่ยระยะยาว แม้ว่าฝนในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2566 อินเดียจะมีฝนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยก็ตาม โดย IMD ระบุเพิ่มเติมว่า ปริมาณฝนจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 % แม้ว่าบางพื้นที่ของอินเดียจะได้รับความเดือดร้อนจากการขาดฝน

          วันที่ 1 สิงหาคม 2566 รัฐบาลของประเทศอินเดียได้สั่งการให้ทางโรงงานน้ำตาลจัดทำข้อมูลการผลิตและสต็อกน้ำตาล ของวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 เพื่อจัดสรรโควตาการขายน้ำตาลสำหรับเดือนกันยายน 2566 ด้านผู้ค้า กล่าวว่า ราคาขายส่งน้ำตาลในภาคเหนือของอินเดียกำลังเพิ่มขึ้นตามการที่โควตาการขายน้ำตาลที่น้อยลงในเดือนสิงหาคม 2566 ที่ 2.35 ล้านตัน และลดลง 50,000 ตัน จากเดือนก่อนหน้า

          วันที่ 1 สิงหาคม 2566 สมาคมโรงงานน้ำตาลแห่งอินเดีย (ISMA) เรียกร้องให้รัฐพิหาร (Bihar) และรัฐมัธยประเทศ (Madhya Pradesh) ทบทวนนโยบายเอทานอลของแต่ละรัฐ ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับเอทานอลจากเมล็ดพืช และส่งผลเป็นการกีดกันการลงทุนซึ่งกำลังต้องการเพื่อเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากอ้อย โดย ISMA ระบุเพิ่มเติมอีกว่า โรงงานน้ำตาลในทั้งสองรัฐถูกบังคับให้ขายเอทานอลให้กับรัฐทางตอนใต้ของอินเดีย

          วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 รัฐบาลอินเดียได้มีการกำหนดโควตาการขายน้ำตาลในเดือนสิงหาคม 2566 ที่ 2.35 ล้านตัน ลดลงจาก 2.4 ล้านตัน ในเดือนกรกฎาคม 2566 แต่เพิ่มขึ้น 150,000 ตัน เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2565 นอกจากนี้แหล่งข่าว รายงานว่า โควตาการขายที่เหลือสำหรับเดือนกรกฎาคม 2566 ได้ขยายไปถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ซึ่งคิดเป็นน้ำตาลจำนวน 150,000 – 200,000 ตัน ซึ่งน่าจะสามารถช่วยรักษาระดับราคาน้ำตาลของอินเดียให้คงที่ได้ โดยมีโรงงานน้ำตาลประมาณ 91 แห่ง ที่ไม่ได้รับโควตาการขายน้ำตาลนี้ เนื่องจากไม่สามารถให้ข้อมูลการขายน้ำตาล และสต๊อกน้ำตาลกับทางรัฐบาลอินเดียได้

          วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 การตัดสินใจของประเทศอินเดียที่จะระงับการส่งออกน้ำตาล และข้าวทำให้เกิดการลักลอบส่งออกน้ำตาลไปยังบังกลาเทศ และเจ้าหน้าที่ศุลกากรถูกเรียกร้องขอให้รักษาความปลอดภัยบริเวณชายแดน ด้านแหล่งข่าวประเมินว่า น่าจะมีการลักลอบส่งออกน้ำตาลสูงสุดที่ประมาณ 300,000 – 400,000 ตัน ซึ่งจำนวนนี้ไม่เพียงพอที่จะส่งผลกระทบแต่อย่างใดต่อสต็อก และราคาน้ำตาลในประเทศของอินเดีย

          วันที่ 2 สิงหาคม 2566 นักวิเคราะห์ท้องถิ่นของประเทศจีน กล่าวว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ไร่อ้อยในเขตกว่างซี (Guangxi) และมณฑลยูนนาน (Yunnan) ประสบปัญหาขาดน้ำ แต่ปริมาณฝนที่ดีขึ้นในช่วงนี้ช่วยให้อ้อยฟื้นตัวได้ดีขึ้นส่งผลให้น้ำตาลในปี 2566/2567 ของจีนสามารถกลับสู่ระดับปกติมากขึ้นที่ประมาณ 10 ล้านตัน หลังจากที่ลดลงในปี 2565/2566 ด้านนักวิเคราะห์อีกรายหนึ่ง กล่าวว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) น่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลของจีน แต่อย่างไรก็ตามเอลนีโญ (El Nino) ที่มีกำลังรุนแรงอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะสภาพอากาศที่แห้งแล้งในเขตกว่างซี (Guangxi) และในมณฑลยูนนาน (Yunnan) ด้าน Meierya Futures ตั้งข้อสังเกตว่าการเกินปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ทั้ง 11 ครั้ง ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณอ้อยของจีนลดลง 5 ครั้ง และส่งผลให้ปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้น 6 ครั้ง

          วันที่ 2 สิงหาคม 2566 ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดน้ำตาลของประเทศจีน กล่าวว่า ราคาการนำเข้าน้ำตาลของจีนนั้นใกล้เคียงกับราคาน้ำตาลที่ส่งออกมาระยะหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตามในที่สุดราคาส่งออกน้ำตาลน่าจะต้องเพิ่มขึ้นภายในช่วงสิ้นปีนี้ เนื่องจากอุปทานน้ำตาลในประเทศของจีนที่ตึงตัว และการบริโภคน้ำตาลที่เริ่มฟื้นตัว ด้านนักวิเคราะห์อีกราย แนะนำว่า คำตัดสินขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อเร็วๆ นี้ที่ต่อต้านสารแอสปาร์แตม (Aspartame) อาจจะกระตุ้นให้ผู้ผลิตเปลี่ยนกลับไปใช้สารให้ความหวานตามธรรมชาติ ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ความต้องการน้ำตาลเพิ่มขึ้นได้

           วันที่ 4 สิงหาคม 2566 เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ร้านค้า Kadiwa ภายใต้การดูแลของกรมวิชาการเกษตร (DA) ประเทศฟิลิปปินส์จะเริ่มขายน้ำตาลที่ลักลอบนำเข้าในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ในราคา 70 เปโซฟิลิปปินส์/กิโลกรัม (1.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) เทียบกับราคาตลาดที่ 110 เปโซฟิลิปปินส์/กิโลกรัม (2 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) สำหรับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์

           วันที่ 2 สิงหาคม 2566 สำนักงานกำกับดูแลน้ำตาลแห่งชาติฟิลิปปินส์ (SRA) กล่าวว่า ผลผลิตอ้อยของประเทศฟิลิปปินส์ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นอีเกย์ (Egay) ในทางกลับกัน SRA ได้ประเมินว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) อาจส่งผลกระทบทำให้ปริมาณผลผลิตอ้อยของฟิลิปปินส์ลดลง 10 – 15 % ในปีหน้า ซึ่งคิดเป็นปริมาณน้ำตาลจำนวน 180,000 – 200,000 ตัน เนื่องจากมีสภาพอากาศที่แห้งแล้งเป็นระยะเวลานาน

           วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ประธานหน่วยงานกำกับดูแลน้ำตาล (SRA) ของประเทศฟิลิปปินส์กำลังผลักดันงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านเปโซฟิลิปปินส์ (36.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี 2567 ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติน้ำตาลของฟิลิปปินส์ปี 2558 แทนที่น่าจะเป็น 1 พันล้านเปโซฟิลิปปินส์ (18.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ที่กำลังดำเนินการจัดสรรอยู่ ณ ปัจจุบัน โดย SRA ยืนยันว่าฤดูการผลิตจะเริ่มในวันที่ 1 กันยายน 2566 ไม่ใช่ในเดือนสิงหาคม 2566 ตามที่เกษตรกรบางรายเรียกร้อง

           วันที่ 3 สิงหาคม 2566 Topline Securities รายงานว่า ผู้ผลิตน้ำตาลที่จดทะเบียนในประเทศปากีสถานมีรายได้รวม 1.4 หมื่นล้านรูปีปากีสถาน (49 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในช่วงระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา จนถึงเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด และเพิ่มขึ้น 23 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากราคา และปริมาณน้ำตาลของปากีสถานที่เพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลให้การส่งออกน้ำตาลของปากีสถานสูงถึง 216,000 ตัน ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำตาลพุ่งขึ้น 40 % ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 จนถึงเดือนมิถุนายน 2566

ทวีปออสเตรเลีย

           วันที่ 3 สิงหาคม 2566 ชาวไรอ้อยท้องถิ่นของประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า ปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรัฐควีนส์แลนด์ (Queensland) ทำให้การเพาะปลูกอ้อยดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณอ้อยในปี 2567 และเสริมว่า โรงงาน MSF Sugar Mulgrave Mill สามารถนำอ้อยเข้าหีบได้เพียง 20 % เท่านั้นเนื่องจากฝนตก ซึ่งลดลงจากปกติ 30 %

           วันที่ 1 สิงหาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศออสเตรเลีย รายงานว่า ฝนตกหนักทำให้การเก็บเกี่ยวอ้อยทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ล่าช้า และเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียง 10 % เท่านั้น โดยประเทศออสเตรเลียน่าจะมีฝนเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้

สถานะกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไร

           สำหรับสถานะของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่าง ๆ ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2566 ปรากฏว่าได้ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 133,531 ล็อต หรือประมาณ 6.78 ล้านตัน ซึ่งเป็นการถือตั๋วซื้อลดลง 10,767 ล็อต หรือประมาณ 0.55 ล้านตัน เมื่อเทียบกับที่ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 144,298 ล็อต หรือประมาณ 7.33 ล้านตัน ในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น (25 กรกฎาคม 2566)

วิจารณ์และความเห็น 

           ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์คหมายเลข 11 สัญญาเดือนมีนาคม 2567 ยังคงปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน แม้ว่าตลาดจะได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลที่ลดลงของอินเดีย และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ตลาดได้รับแรงกดดันจากข่าวสต็อกน้ำตาลของอินเดีย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 มีจำนวนเพียงพอ และค่าเงินเรียลบราซิลที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนั้นในสัปดาห์นี้จะมีรายงานการผลิตอ้อย น้ำตาล และเอทานอล ทางภาคกลาง – ใต้ของบราซิล ในช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคม 2566 คาดว่าจะมีจำนวนที่สูงสุดตั้งแต่เปิดหีบ ประกอบกับฝนตกในอินเดีย และไทย เป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของอ้อย ในระยะสั้นๆ น้ำตาลยังไม่ขาดแคลน แต่ในระยะปานกลาง และระยะยาว สภาวะเอลนีโญ (El Nino) อาจจะกระทบต่อผลผลิตน้ำตาล และทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำตาล (Deficit) ราคาน้ำตาลมีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก แนวโน้มราคาน้ำตาลในช่วงนี้ จะยังคงอยู่ในกรอบ 23 – 26 เซนต์/ปอนด์

 

ฝ่ายตลาด บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด

7 สิงหาคม 2566

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2566

Scroll to Top
Skip to content