สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฎาคม 2566
ตลาดน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์คประจำสัปดาห์นี้ (17 – 21 กรกฏาคม 2566) ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 29 ของปี 2566 โดยราคาน้ำตาลทรายดิบในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวผันผวน และปิดตลาดครั้งสุดท้ายด้วยราคาที่เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงต้นสัปดาห์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์คราคาปรับลดลงมากหลังจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงกว่า 1 % ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงจะกดดันราคาเอทานอล โดยจะทำให้โรงงานน้ำตาลทั่วโลกหันไปใช้อ้อยในการผลิตเอทานอลลดลง และเพิ่มการผลิตน้ำตาลซึ่งจะทำให้อุปทานน้ำตาลเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นสภาวะอากาศที่ไม่มีฝนในบราซิล ช่วยเร่งการตัดอ้อยส่งเข้าโรงงาน และส่งผลลบต่อราคาน้ำตาล การคาดการณ์สภาพอากาศที่เหมาะสมจะลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายจากน้ำค้างแข็ง ด้านผลผลิตน้ำตาลของบราซิลกำลังออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เมื่อวันอังคารที่แล้ว Unica รายงานผลผลิตน้ำตาลทางภาคกลาง – ใต้ของบราซิล ในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.6 % เป็น 2.695 ล้านตัน และผลผลิตน้ำตาลในปี 2566/2567 ตั้งแต่เมษายนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25.9 % เป็น 25.228 ล้านตัน นอกจากนั้น สัดส่วนอ้อยใช้ผลิตน้ำตาล 47.68 % เพิ่มขึ้นจาก 42.56 % ในปีก่อน
ต่อมาช่วงกลางสัปดาห์ราคาน้ำตาลตลาดนิวยอร์คเคลื่อนไหวสูงขึ้น ตลาดได้รับแรงหนุนจากความแห้งแล้งที่มากเกินไปในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทำให้ผลผลิตน้ำตาลภายในประเทศของไทยลดลง โดยปีการผลิตล่าสุดนี้ไทยมีฝนตกน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 28 % และสภาพอากาศแบบเอลนีโญ (El Nino) จะทำให้ฝนลดลงต่อเนื่องไปอีก 2 ปีข้างหน้า
จากนั้นในช่วงท้ายสัปดาห์ราคาน้ำตาลเคลื่อนไหวถึงระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือน และปิดเพิ่มขึ้นพอประมาณ โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากค่าเงินเรียลบราซิลที่แข็งสุดในรอบ 2 สัปดาห์ครึ่ง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนั้นยังได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1 %
ราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนตุลาคม 2566 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 23.59 – 25.10 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 25.01 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.69 เซนต์/ปอนด์ หรือ 2.84 % และราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนมีนาคม 2567 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 23.75 – 25.18 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 25.09 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.63 เซนต์/ปอนด์ หรือ 2.58 %
ตลาดน้ำตาลนิวยอร์ค หมายเลข 11 (เซนต์/ปอนด์)
เดือนกำหนดราคา | ราคาสูงสุด | ราคาต่ำสุด | ราคาปิดเมื่อวันที่
21 กรกฎาคม 2566 |
ราคาปิดเมื่อวันที่
14 กรกฎาคม 2566 |
เปลี่ยนแปลง
เพิ่ม (+), ลด (-) |
|
ตุลาคม | 2566 | 25.10 | 23.59 | 25.01 | 24.32 | +0.69 |
มีนาคม | 2567 | 25.18 | 23.75 | 25.09 | 24.46 | +0.63 |
พฤษภาคม | 2567 | 23.65 | 22.39 | 23.59 | 23.04 | +0.55 |
กรกฎาคม | 2567 | 22.75 | 21.62 | 22.70 | 22.24 | +0.46 |
ตุลาคม | 2567 | 22.12 | 21.16 | 22.09 | 21.72 | +0.37 |
มีนาคม | 2568 | 21.75 | 20.93 | 21.74 | 21.41 | +0.33 |
พฤษภาคม | 2568 | 20.30 | 19.69 | 20.28 | 20.06 | +0.22 |
กรกฎาคม | 2568 | 19.42 | 18.95 | 19.40 | 19.24 | +0.16 |
ตุลาคม | 2568 | 19.11 | 18.74 | 19.09 | 18.98 | +0.11 |
มีนาคม | 2569 | 19.14 | 18.81 | 19.12 | 19.02 | +0.10 |
พฤษภาคม | 2569 | 18.56 | 18.26 | 18.56 | 18.47 | +0.09 |
ข่าวที่สำคัญ
วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 สถาบัน HEDGEPOINT เตือนว่า มีโอกาสที่ปริมาณอ้อยในภาคกลาง – ใต้ของบราซิล และอินเดียจะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2566/2567 ซึ่งปัจจุบันคาดว่าภาคกลาง – ใต้ของบราซิลจะมีปริมาณอ้อยอยู่ที่ 595 ล้านตัน และผลผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 37.6 ล้านตัน แต่อาจมีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 610 ล้านตัน และผลผลิตน้ำตาลเพิ่มเป็น 38.5 ล้านตัน ซึ่งปริมาณผลผลิตในภาคกลาง – ใต้ของบราซิลอาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำตาลโลกในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 และอาจส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าต่ำกว่า 20 เซนต์/ปอนด์ ได้ ด้านนักวิเคราะห์รายอื่นแย้งว่าสภาพอากาศที่มีฝนในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2566 อาจจะทำให้ผลผลิตในภาคกลาง – ใต้ของบราซิล ลดลง นอกจากนี้ปริมาณอ้อยในประเทศไทย และอินเดียอาจมีปริมาณลดลงอีก ทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบขั้นต่ำยืนพื้นอยู่ที่ 21 – 22 เซนต์/ปอนด์
วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) ประกาศการจัดสรรโควตานำเข้าน้ำตาลทรายดิบของสหรัฐฯ (US quota) เพิ่มเติมล่าสุดที่ 125,000 ตัน โดยบราซิลได้รับส่วนแบ่งโควตามากที่สุดอยู่ที่จำนวน 34,000 ตัน รองลงมาคือออสเตรเลียได้รับการจัดสรรโควตาจำนวนประมาณ 19,000 ตัน และกัวเตมาลาจำนวน 11,000 ตัน เป็นต้น
วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 แหล่งข่าว รายงานว่า ราคาซื้อขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าพุ่งสูงขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ต่อผลผลิตน้ำตาล ด้าน Smart Cube ประมาณการว่า ผลผลิตอ้อยทั่วโลกอาจลดลง 10 – 15 % เนื่องจากเรื่องของสภาพอากาศ ซึ่งจะผลักดันราคาให้สูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ด้านสถาบัน HedgePoint เสนอเสริมว่า ปริมาณอ้อยที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากภาคกลาง – ใต้ของบราซิลอยู่ที่ 610 ล้านตัน และผลผลิตน้ำตาลของอินเดียอยู่ที่ 33.5 ล้านตัน ซึ่งส่งผลให้อินเดียอาจมีการส่งออกได้อยู่ที่ 1.5 ล้านตัน และอาจกดราคาน้ำตาลในตลาดโลกให้ต่ำกว่า 20 เซนต์/ปอนด์ อย่างไรก็ตาม สถาบัน HedgePoint กล่าวว่า โอกาสที่จะเกิดสถานการณ์ดังกล่าวยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก
วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 น้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอนสัญญาเดือนสิงหาคม 2566 สิ้นสุดระยะเวลาซื้อขายลงเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 โดยปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ราคา 700.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ปรากฏว่ามีการส่งมอบน้ำตาลต่อตลาดจำนวน 2,485 ล็อต หรือ 124,250 ตัน เป็นน้ำตาลจากบราซิลจำนวน 1,452 ล็อต หรือ 72,600 ตัน และน้ำตาลจากอินเดีย จำนวน 1,033 ล็อต หรือ 51,650 ตัน
วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 แหล่งข่าว รายงานว่า ราคาซื้อขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว ท่ามกลางความกังวลว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตน้ำตาลจากไทย และอินเดีย ด้านศูนย์พยากรณ์อากาศของสหรัฐฯ (NOAA) เชื่อว่า โอกาสเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ในช่วงฤดูหนาวที่มีกำลังแรงกว่าระดับปานกลางอยู่ที่ 84 % และอัตราความเป็นไปได้ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่มีกำลังแรงอยู่ที่ 56 % ด้านบริษัทที่ปรึกษา Archer Consulting เสนอเสริมว่า ตลาดน้ำตาลโลกอาจต้องการปัจจัยอื่น ๆ เพื่อผลักดันราคาซื้อขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้า เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และราคาน้ำมันที่สูงกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล
อเมริกาใต้
วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 Valor รายงานว่า ร่างพระราชบัญญัติเชื้อเพลิง (Fuel of the Future) ของประเทศบราซิลนั้นได้รวมถึงการเพิ่มส่วนผสมของเอทานอลจาก 18 – 27.5 % เป็น 22 – 30 % และเพิ่มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซสำหรับสายการบินจาก 1 % ในปี 2570 เป็น 10 % ในปี 2580 ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้น่าจะถูกส่งไปยังรัฐสภาของบราซิลในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และคาดว่าจะได้รับการอนุมัติ ด้านสถาบันวิจัย Citi Research คำนวณออกมาว่า การเพิ่มส่วนผสมของเอทานอลจะผลักดันความต้องการเอทานอลของบราซิลจะเพิ่มขึ้น 1.2 พันล้านลิตร เป็น 36 พันล้านลิตร ในปี 2567/2568 และค่าน้ำตาลในอ้อย (ATR) จำเป็นต้องเพิ่มขึ้น 3.5 % ซึ่งคิดเป็น 62 ล้านตัน
วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 สำนักงานเลขาธิการกระทรวงการค้าต่างประเทศ (SECEX) ของ ประเทศบราซิล รายงานว่า ในช่วงสองสัปดาห์แรกเดือนกรกฎาคมบราซิลมีการส่งออกน้ำตาลที่ 1.42 ล้านตัน ซึ่งเป็นอัตราการนำน้ำตาลลงเรือเฉลี่ยรายวันที่เพิ่มขึ้น 4 % โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว ซึ่งบราซิลดำเนินการส่งออกน้ำตาลทั้งหมดอยู่ 2.88 ล้านตัน
วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 บริษัทที่ปรึกษา Archer Consulting รายงานว่า ผู้สังเกตการณ์ตลาดบางคนคาดหวังว่าผลผลิตอ้อยในภาคกลาง – ใต้ของประเทศบราซิลจะสูงถึง 620 ล้านตัน และตั้งข้อสังเกตว่า โรงงานอาจมีอ้อยคงค้างในไร่จำนวน 15 ล้านตัน ที่รอหีบในฤดูกาลหน้า ด้านบริษัท Tereos ปรับเพิ่มการคาดการณ์การหีบอ้อยในปี 2566/2567 ของบริษัทที่ดำเนินการอยู่ในบราซิลเป็น 20 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 19 ล้านตัน ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน แม้ว่าจะมีปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) และฝนตกชุกที่อาจทำให้ฤดูกาลผลิตเกิดความล่าช้า และขยายไปถึงช่วงเดือนธันวาคมก็ตาม โดยบริษัท Tereos ได้ทำการขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงไปกว่า 93 % ของการส่งออกในปี 2566/2567 และอีก 50 % ในปี 2567/2568
วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ANP รายงานว่า ราคาขายปลีกของไฮดรัสในประเทศบราซิลลดลง 1.5 % ในสุดสัปดาห์วันที่ 15 กรกฎาคม 2566 ขณะที่ราคาน้ำมันปรับลดลงที่ 0.7 % ส่งผลให้ไฮดรัสอยู่ที่ 68.7 % เทียบกับราคาน้ำมัน และเทียบกับเมื่อสัปดาห์ที่แล้วอยู่ที่ 69.3 % ด้านรัฐบาลบราซิลกำลังต้องหาวิธีการที่จะบังคับให้สถานีบริการน้ำมันทุกแห่งรายงานราคาน้ำมันทุกวัน เพื่อพยายามที่จะเพิ่มความโปร่งใส และพยายามที่จะปรับลดราคาน้ำมัน โดยบราซิลมีปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่า 40,000 แห่ง ในขณะที่ปัจจุบัน ANP รายงานราคาโดยอิงจากการสำรวจใน 440 เมือง ของบราซิลซึ่งคิดเป็น 8 % จากจำนวนเมืองทั่วประเทศ
ยุโรป
วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 Czarnikow รายงานว่า ความชื้นของดินในพื้นที่ปลูกบีทของยุโรปเหนือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก และการเติบโตของอ้อยอาจใกล้เคียงกับฤดูกาลปี 2565 โดย Czarnikow เตือนว่า ปริมาณบีทของสหภาพยุโรปอาจจะหดตัวลงอีกซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ
วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นักวิเคราะห์ รายงานว่า ในขณะนี้สหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะยังคงนำเข้าน้ำตาลต่อไป เนื่องจากต้นทุนการผลิตน้ำตาลในสหภาพยุโรปที่สูง โดยมีต้นทุนการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ อยู่ที่ประมาณ 23 – 26 เซ็นต์/ปอนด์ เทียบกับราคา 18.50 เซ็นต์/ปอนด์ สำหรับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ของไทย นอกจากนี้ โดยภายใต้กรอบข้อบังคับปัจจุบันเกี่ยวนโยบายทางเกษตรของสหภาพยุโรปนั้นยังคงต้องหาทางออกจนกว่าจะพบทางเลือกอื่นนอกจากการใช้สารนีโอนิโคตินอยด์ (Neonicotinoids) ซึ่งคาดว่า จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี
วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 แหล่งข่าว รายงานว่า ราคาน้ำตาลของสหภาพยุโรปสำหรับปี 2566/2567 กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาให้อยู่ที่มากกว่า 1,000 ยูโร/ตัน (1,124 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน) ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับเมื่อกลางปีที่แล้ว ท่ามกลางความกังวลว่าจะมีน้ำตาลไม่เพียงพอ ด้าน DNEXT Intelligence รายงานว่า สภาพอากาศ และฝนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะประเมินปริมาณผลผลิตบีทของสหภาพยุโรป ด้าน Green Pool เสนอว่า ผลผลิตน้ำตาลของสหภาพยุโรปอาจลดลงเหลือ 14.8 ล้านตัน แทนที่จะเป็น 15.5 ล้านตัน ตามที่คณะกรรมาธิการของสหภาพยุโรปคาดการณ์ไว้ เนื่องจากโรคใบเหลือง (Yellows disease) จะเริ่มมีการแพร่ระบาดให้เห็นในเดือนนี้ ด้านกลุ่มผู้ใช้น้ำตาลของคณะกรรมการสหภาพยุโรป (CIUS) กล่าวว่า คาดการณ์ว่าราคาน้ำตาลน่าจะปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้
วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 Soyuzrossahar รายงานว่า โรงงานน้ำตาลบางแห่งในประเทศรัสเซียกำลังวางแผนที่จะเลื่อนการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตออกไป เนื่องจากสภาพอากาศที่ฝนตกชุก และเพื่อให้ผลผลิตบีทได้มีเวลาเติบโต และระบุเพิ่มเติมอีกว่าปริมาณน้ำตาลของรัสเซียอาจลดลงในปีนี้ ด้าน Sugar.ru ระบุผลว่าผลผลิตบีทของรัสเซียน่าจะอยู่ที่ 6.1 ล้านตัน ซึ่งรวมถึงน้ำตาลจากน้ำเชื่อม ด้านนักวิเคราะห์ของ IKAR ระบุว่า สภาพอากาศดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดการณ์การผลิตบีทของรัสเซียไว้ที่ประมาณ 6.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 6.2 ล้านตัน ในปีก่อนหน้า
เอเชีย
วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 Czarnikow รายงานว่า ณ ขณะนี้ในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ของประเทศอินเดียมีฝนตกสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 % ด้านรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) และรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ยังคงมีฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาว และรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ปริมาณน้ำฝนนั้นยังคงสามารถฟื้นตัวได้ในอีกในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยภาวะที่อินเดียขาดฝนน่าจะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกของอินเดียในปี 2567/2568 มากกว่าฤดูกาล 2566/2567
วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 สื่อท้องถิ่นของประเทศอินเดีย รายงานว่า พื้นที่ปลูกอ้อยในเขตสหรัญปุระของรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ลดลงเหลือ 119,000 เฮกตาร์ จาก 122,000 เฮกตาร์ ในปีที่แล้ว ขณะที่โรงงานใหม่ 2 แห่ง กำลังจะเปิดดำเนินการ ดังนั้นโรงงานจะต้องแข่งขันกันเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีอ้อยเพียงพอต่อการผลิต โดยในพื้นที่ของรัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) ชาวไร่อ้อย รายงานว่า ในขณะนี้อ้อยกำลังได้รับผลกระทบจาก โรคพกกระบอง (Pokka Boing)
วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 แหล่งข่าวของประเทศอินเดีย รายงานว่า การที่รัฐบาลอินเดียขอให้โรงงานส่งข้อมูลการขายน้ำตาลภายในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 เป็นสัญญาณของความกังวล เนื่องจากรัฐบาลอินเดียมีความกังวลว่า ราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นนั้นเป็นสัญญาณว่าโรงงานกำลังขายน้ำตาลนอกโควตา และรายงานเสริมอีกว่า รัฐบาลอินเดียต้องการให้แน่ใจว่าจะมีสต๊อกน้ำตาลภายในประเทศเพียงพอก่อนการเลือกตั้งของอินเดียที่กำลังจะมาถึง
วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (IMD) รายงานว่า ปริมาณฝนของประเทศอินเดียสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1.4 % เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 และปริมาณฝนในช่วงกลางสัปดาห์เมื่อ วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยเช่นเดียวกัน ด้านนักวิเคราะห์ระบุว่าการที่ฝนตกไม่สม่ำเสมอ นั้นน่าจะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกอ้อย และการเติบโตของอ้อย ด้านระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำของอินเดียอยู่ที่ 33 % จากปริมาณความจุสูงสุดของอ่างเก็บน้ำ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ซึ่งดีขึ้นจาก 29 % ในสัปดาห์ก่อน แต่ยังคงต่ำกว่าปีที่แล้วที่มีปริมาณความจุ 40 % นอกจากนี้ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่มีกำลังแรงขึ้นในช่วงเดือน สิงหาคม – กันยายน อาจจะทำให้อินเดียมีฝนลดลง
วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 สื่อท้องถิ่นของประเทศอินเดีย รายงานว่า แม้ว่าในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) จะมีฝนตกดีขึ้น แต่แหล่งปลูกอ้อยของเขตโซลาเปอร์ (Solapur) และเขตสางคลี (Sangli) นั้นยังคงไม่ได้รับฝนเพียงพอ ซึ่งส่งผลให้มีการปลูกอ้อยลดลง และมีรายงานว่าเกษตรกรขายอ้อยที่ประสบภัยแล้งเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งสถานการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางข่าวที่ว่าโรงงานบางแห่งจะเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบในฤดูกาลผลิตที่กำลังจะมาถึง
วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 สมาคมผู้ค้าน้ำตาลบอมเบย์ คาดการณ์ว่า ราคาน้ำตาลในประเทศของประเทศอินเดีย น่าจะปรับตัวลดลงเร็วๆ นี้ เนื่องจากความต้องการน้ำตาลที่ลดลง นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียได้ขอให้โรงงานน้ำตาลจัดเตรียมข้อมูลการขายเพื่อที่จะดำเนินการจัดสรรโควตาการขายสำหรับเดือนสิงหาคมอย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 นักวิเคราะห์ได้อ้างถึงข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของประเทศจีน รายงานว่า ความแตกต่างของราคาภายในประเทศ และจากการนำเข้าน้ำตาลนอกโควตาลดลงเหลือ 800 หยวนจีน/ตัน (112 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งความแตกต่างของราคานี้ได้ลดลงมาแล้วครึ่งหนึ่งจากระดับสูงสุด และการนำเข้านอกโควตาของจีนในเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ประมาณ 64,000 ล้านตัน และเสริมอีกว่า โรงงานละลายน้ำตาลได้ดำเนินการผลิตน้ำตาลสำรองในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ด้านโรงงาน Guangxi Sugar รายงานรายได้ 7 พันล้านหยวนจีน (976 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2566 เพิ่มขึ้น 30 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 กรมศุลกากรของประเทศจีน รายงานข้อมูลว่า ในเดือนมิถุนายนจีนมีการนำเข้าน้ำเชื่อม และน้ำตาลที่ผสมอยู่ในแป้งจำนวน 214,000 ตัน เพิ่มขึ้น 96,000 ตัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทำให้จีนมีการนำเข้าน้ำเชื่อม และน้ำตาลที่ผสมอยู่ในแป้งช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 อยู่ที่ 849,000 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 267,000 ตัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 กรมศุลกากรของประเทศจีน รายงานข้อมูลว่า จีนมีการนำเข้าน้ำตาลจำนวน 40,000 ตัน ในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งมีจำนวนเท่ากับการนำเข้าในเดือนพฤษภาคม แต่ลดลง 71 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้านการนำเข้าข้าวโพดของจีนลดลง 16 % ในเดือนกรกฎาคมเหลือ 1.85 ล้านตัน ทำให้การนำเข้าในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน อยู่ที่ 12 ล้านตัน ลดลง 12 %
วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ (NMC) ของประเทศจีน รายงานว่า พายุไต้ฝุ่นตาลิม (Talim) พัดถล่มมณฑลกวางตุ้ง (Guangdong) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 และอาจจะพัดเข้าสู่เขตกว่างซี (Guangxi) ด้านนักวิเคราะห์ท้องถิ่น เตือนว่า พายุไต้ฝุ่นตาลิม (Talim) อาจจะทำให้อ้อยเสียหายได้
วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ผู้ร่างกฎหมายจากจังหวัดคันลูรังเนโกรส (Negros Occidental) ของประเทศฟิลิปปินส์ เข้าร่วมกับสมาคมผู้ผลิตน้ำตาล และโรงงานละลายน้ำตาล ซึ่งเป็นการแสดงความกังวลว่าข้อเสนอที่จะปรับเพิ่มภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นสองเท่าเป็น 12 เปโซฟิลิปปินส์/ลิตร (0.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ลิตร) ซึ่งเป็นอัตราภาษีเดียวกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำเชื่อมฟรักโทสจากข้าวโพด (HFCS) จะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปใช้ HFCS เพิ่มขึ้น โดยฟิลิปปินส์อาจเผชิญกับภาวะน้ำตาลส่วนเกิน และราคาอ้อยที่ตกต่ำ ด้านสมาคมผู้บริการจัดเลี้ยงอาหารแห่งฟิลิปปินส์ (FCAP) กล่าวว่า อัตราภาษีที่สูงขึ้นจะผลักดันราคาเครื่องดื่มให้สูงขึ้นตามไปด้วย
วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 สมาคมเศรษฐกิจการเมืองของอินโดนีเซีย (AEPI) เสนอให้มีการเพิ่มราคาอ้างอิงการซื้อขายน้ำตาล (HAP) จาก 12,500 รูเปียห์อินโดฯ/กิโลกรัม (0.83 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) เป็น 15,000 – 16,000 รูเปียห์อินโดฯ/กิโลกรัม (1.03 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) เพื่อให้แน่ใจว่าราคาการนำเข้าน้ำตาลจะสามารถแข่งขันกับราคาน้ำตาลในประเทศได้ และเสริมว่า ด้วยสต็อกน้ำตาลของอินโดนีเซียที่มีอยู่น่าจะเพียงพอจนถึงช่วงสิ้นเดือนกันยายนเท่านั้น จึงอาจต้องนำเข้าน้ำตาลทรายดิบเพิ่มเติม โดยในที่ประชุมของสหภาพแรงงานเพื่อการเกษตร และการเพาะปลูกของอินโดนีเซีย แสดงความไม่เห็นด้วย เรื่องการนำเข้าน้ำตาลที่อาจจะกำลังคุกคาม และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลของอินโดนีเซีย
สถานะกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไร
สำหรับสถานะของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่าง ๆ ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ปรากฏว่าได้ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 119,144 ล็อต หรือประมาณ 6.05 ล้านตัน ซึ่งเป็นการถือตั๋วซื้อเพิ่มขึ้น 4,536 ล็อต หรือประมาณ 0.23 ล้านตัน เมื่อเทียบกับที่ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 114,608 ล็อต หรือประมาณ 5.82 ล้านตัน ในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น (11 กรกฎาคม 2566)
วิจารณ์และความเห็น
ในช่วงที่ผ่านมา ราคายังคงขับเคลื่อนจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบปรับปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนลง และเงินเรียลบราซิลที่แข็งค่าขึ้น นอกจากนั้นยังได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ผลผลิตอ้อย/น้ำตาลของไทยในปี 2566/2567 จะลดลงมากเนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้ง สำหรับในระยะถัดไป ตลาดน่าจะได้รับผลกระทบจากรายงานผลผลิตอ้อย น้ำตาล และเอทานอล ในภาคกลาง-ใต้ของบราซิล ในช่วงครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมาก ทำให้ปริมาณน้ำตาลในระยะสั้น ไม่ขาดแคลนส่วนปัจจัยทางด้านเทคนิค ตัวเลข RSI = 61.13 ชี้ให้เห็นว่า ราคาน้ำตาลตามสัญญาเดือนมีนาคม 2567 น่าจะสูงขึ้นได้อีก แต่ไม่มากนัก โดยแนวต้านน่าจะอยู่ที่ 25.20, 26.00 เซนต์/ปอนด์ และในส่วนของแนวรับน่าจะอยู่ที่ 24.76, 23.96, 23.52, 22.72, 22.28 เซนต์/ปอนด์
ฝ่ายตลาด
บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด
24 กรกฎาคม 2566
สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฎาคม 2566