สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 10 – 14 กรกฎาคม 2566
ตลาดน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์คประจำสัปดาห์นี้ (10 – 14 กรกฏาคม 2566) ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 28 ของปี 2566 โดยราคาน้ำตาลทรายดิบในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวผันผวน และปิดตลาดครั้งสุดท้ายด้วยราคาที่เพิ่มขึ้น และลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงต้นสัปดาห์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์คราคาปรับลดลงเล็กน้อย โดยสภาพอากาศที่ไม่มีฝนในบราซิลทำให้การตัดอ้อยส่งเข้าโรงงานทำได้รวดเร็วขึ้น และกดดันต่อราคาน้ำตาล สภาพอากาศในบราซิลที่ดีขึ้นดังกล่าว ทำให้ Czarnikow ได้มีการปรับเพิ่มตัวเลขผลผลิตน้ำตาลทางภาคกลาง – ใต้ของบราซิล ในปี 2566/2567 อีก 500,000 ตัน เป็น 38.2 ล้านตัน ต่อมาช่วงกลางสัปดาห์ราคาน้ำตาลเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นพอประมาณ เนื่องจากราคาน้ำตาลได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1 % สู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง จากนั้นในช่วงท้ายสัปดาห์ราคาน้ำตาลยังคงปรับตัวเคลื่อนไหวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยสัญญาณอุปสงค์ในน้ำตาลที่แข็งแกร่งได้เกื้อหนุนราคาน้ำตาล หลังจากน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอนสัญญาเดือนสิงหาคม 2566 สิ้นสุดระยะเวลาในการซื้อขายลง ปรากฎว่ามีการส่งมอบน้ำตาลต่อตลาดเพียง 124,250 ตัน ลดลงจากปีก่อน 45 % โดยการส่งมอบที่น้อยเป็นสัญญาณบวก ซึ่งขี้ให้เห็นว่ามีผู้ขายเป็นจำนวนไม่มากที่สนใจจะส่งมอบน้ำตาล นอกจากนั้นราคาน้ำตาลยังได้รับแรงหนุนจากค่าเงินเรียลบราซิลที่แข็งค่าสุดในรอบ 1 สัปดาห์ครึ่ง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนตุลาคม 2566 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 23.16 – 24.40 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 24.32 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.79 เซนต์/ปอนด์ หรือ 3.36 % และราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนมีนาคม 2567 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 23.32 – 24.50 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 24.46 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.84 เซนต์/ปอนด์ หรือ 3.56 %
ตลาดน้ำตาลนิวยอร์ค หมายเลข 11 (เซนต์/ปอนด์)
เดือนกำหนดราคา | ราคาสูงสุด | ราคาต่ำสุด | ราคาปิดเมื่อวันที่
14 กรกฎาคม 2566 |
ราคาปิดเมื่อวันที่
7 กรกฎาคม 2566 |
เปลี่ยนแปลง
เพิ่ม (+), ลด (-) |
|
ตุลาคม | 2566 | 24.40 | 23.16 | 24.32 | 23.53 | +0.79 |
มีนาคม | 2567 | 24.50 | 23.32 | 24.46 | 23.62 | +0.84 |
พฤษภาคม | 2567 | 23.08 | 21.98 | 23.04 | 22.26 | +0.78 |
กรกฎาคม | 2567 | 22.28 | 21.24 | 22.24 | 21.49 | +0.75 |
ตุลาคม | 2567 | 21.75 | 20.79 | 21.72 | 20.99 | +0.73 |
มีนาคม | 2568 | 21.49 | 20.55 | 21.41 | 20.76 | +0.65 |
พฤษภาคม | 2568 | 20.15 | 19.49 | 20.06 | 19.71 | +0.35 |
กรกฎาคม | 2568 | 19.39 | 18.92 | 19.24 | 19.15 | +0.09 |
ตุลาคม | 2568 | 19.16 | 18.78 | 18.98 | 19.03 | -0.05 |
มีนาคม | 2569 | 19.13 | 18.87 | 19.02 | 19.10 | -0.08 |
พฤษภาคม | 2569 | 18.56 | 18.36 | 18.47 | 18.57 | -0.10 |
ข่าวที่สำคัญ
วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 สถาบันวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) จัดประเภทสารให้ความหวานใหม่ โดยได้ทำการจัดแอสปาร์แตม (Aspartame) เป็นสารที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งภายใต้กลุ่ม 2B ซึ่งใช้พื้นฐานอ้างอิงค์จากการศึกษาเชิงสังเกตทั้งหมดสามชิ้น ด้านโฆษกของ IARC อธิบายว่า การจัดสรรประเภทสารให้ความหวานดังกล่าวนั้นมีอีกหลายเสียงซึ่งส่วนใหญ่มีการเรียกร้องให้ดำเนินการวิจัยเพิ่มเติมด้านคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตร (JECFA) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า จะยังคงรักษาอัตราแนะนำในการบริโภคแอสปาร์แตม (Aspartame) ที่ปลอดภัยไว้ที่ 40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ต่อวัน ซึ่งหมายความว่าคนส่วนใหญ่สามารถบริโภคเครื่องดื่มไดเอทได้มากกว่าหนึ่งโหลต่อวันอย่างปลอดภัย ด้านสภาสมาคมเครื่องดื่มระหว่างประเทศ (International Council of Beverages Associations) ยินดีให้คำอธิบายรายละเอียดว่าสารให้ความหวานนั้นยังคงถือว่าปลอดภัย
วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 แหล่งข่าว รายงานว่า การเจรจาการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป และประเทศออสเตรเลียยุติลงเนื่องจากออสเตรเลียต้องการเข้าถึงตลาดน้ำตาลของสหภาพยุโรปให้มากขึ้น รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ ด้วย โดยการประชุมหารือในเรื่องนี้ คาดว่า จะดำเนินการต่อในช่วงเดือนสิงหาคม 2566
วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหารขององค์การ อาหารและเกษตร (JECFA) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่า จะมีการออกความเห็นในทิศทางของแต่ละฝ่ายเกี่ยวกับการบริโภคสารแอสปาร์แตม (Aspartame) อย่างปลอดภัยในวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 โดยทางด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบางคน แย้งว่า บทวิเคราะห์ของ JECFA มีความสำคัญมากกว่างานวิจัยของสถานบันวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ด้านบริษัทจำหน่ายส่วนผสมของอาหาร และเครื่องดื่ม ระดับโลก Tate & Lyle ได้เปิดตัว Tasteva ซึ่งเป็นหญ้าหวานชนิดหนึ่งที่ละลายน้ำได้ดี
วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ผู้ค้า คาดว่า สัญญาในเดือนสิงหาคมของตลาดน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอนที่กำลังจะหมดอายุสัญญาลงน่าจะมีการส่งมอบน้ำตาลที่ไม่มากนัก เนื่องจากสถานะคงค้าง (Open Interest) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ซึ่งราคาลดลงอย่างรวดเร็ว เทียบเท่ากับน้ำตาลจำนวน 484,000 ตัน ด้าน Job Economia คาดการณ์ว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์คของปี 2566 น่าจะอยู่ในช่วงราคาระหว่าง 19.00 – 25.80 เซนต์/ปอนด์
วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 Green Pool รายงานว่า ภาคกลาง – ใต้ของประเทศบราซิลพบว่าฝนขาดช่วงไปช่วงหนึ่งในระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน ในขณะที่สัดส่วนของอ้อยที่นำไปผลิตเป็นน้ำตาลยังคงอยู่ในปริมาณที่มาก ด้านแหล่งข่าว กล่าวว่า อัตราการเก็บเกี่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นในภาคกลาง – ใต้ของบราซิลส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ด้าน Czarnikow ปรับลดประมาณการผลผลิตอ้อยของประเทศไทยในปี 2566/2567 เหลือ 66.5 ล้านตัน ลดลงจาก 74 ล้านตัน ในประมาณการณ์คราวก่อน ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 15 ปี ส่งผลให้การคาดการณ์เรื่องภาวะน้ำตาลโลกส่วนขาด (Deficit) เพิ่มขึ้นเป็น 800,000 ตัน เทียบกับจำนวน 500,000 ตัน ที่คาดไว้ก่อนหน้านี้
วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 บริษัทที่ปรึกษา Archer Consulting รายงานว่า การซื้อจากภาคอุตสาหกรรมในสัปดาห์ที่แล้วช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าที่ปรับตัวลดลงเนื่องจากมีการเทขายจากกลุ่มกองทุน ด้านผู้ค้าไม่คาดหวังว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะฟื้นตัวมากนัก เนื่องจากการเก็บเกี่ยวในภาคกลาง – ใต้ของบราซิลดำเนินการได้ด้วยดี ด้าน ICE ตั้งข้อสังเกตว่า สถานะคงค้าง (Open Interest) ของน้ำตาลเพิ่มขึ้น 22 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยมีปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น 30 %
อเมริกาเหนือ
วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ในรายงานเดือนกรกฎาคม 2566 ของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) ได้เพิ่มการนำเข้าน้ำตาลในปี 2566/2567 ของประเทศสหรัฐฯ จาก 3.35 ล้านช็อตตัน (3.04 ล้านตัน) เป็น 3.42 ล้านช็อตตัน (3.1 ล้านตัน) ซึ่งมีความต้องการน้ำตาลลดลง 75,000 ช็อตตัน (68,000 ตัน) และมีผลผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น 70,000 ช็อตตัน (64,000 ตัน) ส่งผลให้อัตราส่วนสต็อกน้ำตาลต่อการปริโภคของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็น 13.5 % จาก 10.6 % ของเดือนมิถุนายน 2566
วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ประเทศสหรัฐฯ ประกาศแผนการปรับเพิ่มโควตาการนำเข้าน้ำตาลทรายดิบภายใต้อัตราภาษาที่ต่ำอีกจำนวน 125,000 ตัน ด้านกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลของสหรัฐฯ American Sugar Alliance กล่าว สหกรณ์ได้ปลูกบีทเพิ่มเติมในพื้นที่เพื่อให้แน่ใจว่ามีผลผลิตที่เพียงพอเนื่องจากมีความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับเรื่องของการปลูกบีทที่ล่าช้า ด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลของสหรัฐฯกำลังรอฟังคำตัดสินของศาลเกี่ยวกับการใช้สารพิษทางการเกษตรคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) โดยทางชาวไร่ต้องพยายามที่จะจัดการดูแลไร่บีทไปก่อนระหว่างนี้
อเมริกาใต้
วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ท่าเรือซานโตส (Santos) ของประเทศบราซิล ปิดท่าเรือ และการขนส่งตั้งแต่เวลา 09.05 น. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เนื่องจากมีลมกระโชกแรงจากพายุไซโคลนที่พัดผ่านในบริเวณท่าเรือ ด้านเจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุแต่อย่างใดว่าจะมีการเปิดท่าเรืออีกครั้งเมื่อไหร่ ด้าน Williams Brasil รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 มีเรือรอรับน้ำตาลน้ำตาลจำนวน 3.924 ล้านตัน สำหรับการส่งออก เพิ่มขึ้นจากจำนวน 3.894 ล้านตัน ในสัปดาห์ก่อน โดย ณ ขณะนี้เรือรอรับน้ำตาลของท่าเรือซานโตส (Santos) มีจำนวนอยู่ที่ 3.07 ล้านตัน
วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 สำนักงานเลขาธิการกระทรวงการค้าต่างประเทศ (SECEX) ของประเทศบราซิล รายงานว่า บราซิลส่งออกน้ำตาล 2.87 ล้านตัน ในช่วงเดือนมิถุนายน 2566 เพิ่มขึ้น 19 % เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว และ 23 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทำให้การส่งออกในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2566ของบราซิลอยู่ที่ 11.25 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 16 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยบราซิลดำเนินการส่งออกเอทานอลอยู่ที่ 73 ล้านลิตร ในช่วงเดือนมิถุนายน 2566 ลดลง 21 % เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว และลดลง 65 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่งผลให้การส่งออกเอทานอลของบราซิลในเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 934 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 25 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้านสมาคมผู้ส่งออกธัญพืชแห่งชาติ (Anec) ของบราซิล ได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์การส่งออกข้าวโพดในเดือนกรกฎาคม 2566 จาก 6.34 ล้านตัน เป็น 6.91 ล้านตัน
วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 UNICA รายงานข้อมูลว่า โรงงานในภาคกลาง – ใต้ของประเทศบราซิลหีบอ้อยได้อยู่ที่ 43 ล้านตัน ในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายน ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.2 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และผลิตน้ำตาลได้ 2.69 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และผลิตเอทานอลได้ 1.92 พันล้านลิตร ซึ่งลดลง 5.6 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยผลสำรวจของ S&P Global Commodity Insights คาดการณ์ว่า ในภาคกลาง – ใต้ของบราซิลจะหีบอ้อยได้อ้อย 44.4 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 2.88 ล้านตัน และผลิตเอทานอลได้ 2.08 พันล้านลิตร ซึ่งส่งผลให้ราคาซื้อขายน้ำตาลในตลาดล่วงหน้าพุ่งสูงขึ้น โดยปริมาณอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 91.2 ล้านตัน/เฮกตาร์ เพิ่มขึ้น 16 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และ ค่าน้ำตาลในอ้อย (ATR) อยู่ที่ 133.04 ตัน/เฮกตาร์ ลดลง 3 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 UNICA รายงานว่า โรงงานในภาคกลาง – ใต้ของประเทศบราซิลขายไฮดรัสได้ 681 ล้านลิตร ในตลาดภายในประเทศช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 3 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้วด้านยอดขายเอทานอลรวมในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายนของบราซิลเพิ่มขึ้น 1 % แม้ยอดขายเอทานอลทั้งเดือนของเดือนมิถุนายนจะลดลงเหลือ 1.3 พันล้านลิตร จาก 1.35 พันล้านลิตร ในช่วงเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ด้านยอดขายน้ำมันเบนซินของ Petrobras เพิ่มขึ้น 26 % ในเดือนมิถุนายน โดยมีการผลิตสูงถึง 2 พันล้านลิตร ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 โดยทางบริษัทรายงานอัตราการใช้กำลังการผลิตของเครื่องจักร (Total Utilization Factor) อยู่ที่ 93 % ในไตรมาสที่สองซึ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี
วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 สำนักงานเลขาธิการกระทรวงการค้าต่างประเทศ (SECEX) ของประเทศบราซิล รายงานว่า บราซิลส่งออกน้ำตาล 728,000 ตัน ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นอัตราการส่งออกรายวันที่สูงกว่าช่วงเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว 6 % ที่มีการส่งออกน้ำตาลทั้งหมด 2.88 ล้านตัน ด้านบริษัท Williams Brasil รายงานว่า เรือรอรับน้ำตาลของบราซิลมีอัตราการนำน้ำตาลลงเรือลดลงจาก 4.077 ล้านตัน เหลือ 3.89 ล้านตัน เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ (วันที่ 5 กรกฎาคม 2566)
วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 Czarnikow เพิ่มประมาณการผลผลิตอ้อยในภาคกลาง – ใต้ของบราซิลของปี 2566/2567 เป็น 600.5 ล้านตัน และผลผลิตน้ำตาลเป็น 38.2 ล้านตัน และเอทานอลจากอ้อย 25.6 พันล้านลิตร โดย Czarnikow ตั้งข้อสังเกตว่า ผลผลิตน้ำตาลของภาคกลาง – ใต้ของบราซิลอาจสูงกว่านี้หากสภาพอากาศนั้นไม่มีฝนซึ่งส่งผลต่อเก็บเกี่ยวอ้อยให้ดำเนินการได้รวดเร็ว และมากขึ้น ด้านบริษัทที่ปรึกษา Safras & Mercado ได้เพิ่มประมาณการผลผลิตอ้อยของภาคกลาง – ใต้ของบราซิลจาก 545 ล้านตัน เป็น 585 ล้านตัน และของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิลได้ปรับเพิ่มประมาณการผลผลิตอ้อยจาก 55.3 ล้านตัน เป็น 56.1 ล้านตัน
วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ANP รายงานข้อมูลว่า ราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซินของประเทศบราซิลเพิ่มขึ้น 5.8 % ในช่วงสุดสัปดาห์เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม เทียบกับราคาไฮดรัสที่เพิ่มขึ้น 5.1 % โดยส่งผลให้เมื่อเปรียบเทียบราคาไฮดรัสกับราคาน้ำมันเบนซินจะอยู่ที่ 69.3 % ลดลงจาก 69.8 % ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว
วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 รายงานผลผลิตน้ำตาลและอ้อยเข้าหีบภาคกลาง – ใต้บราซิล ของ Unica ฤดูการผลิตปี 2566/2567 (เมษายน – มีนาคม) ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ดังนี้
รายการ | ในช่วงครึ่งหลังเดือนมิถุนายน 2566 | ยอดสะสม | ||||
ปี | ปี | เปลี่ยนแปลง | ปี | ปี | เปลี่ยนแปลง | |
2565/66 | 2566/67 | (%) | 2565/66 | 2566/67 | (%) | |
ผลผลิตอ้อย (พันตัน) | 42,082 | 43,003 | +2.19 | 188,139 | 209,788 | +11.51 |
ผลผลิตน้ำตาล (พันตัน) | 2,505 | 2,695 | +7.57 | 9,716 | 12,228 | +25.85 |
ผลผลิตเอทานอล (ล้านลิตร) | 2,031 | 1,917 | -5.59 | 9,045 | 9,603 | +6.17 |
ATR (กก/ตันอ้อย) | 137.19 | 133.04 | -3.02 | 127.35 | 128.29 | +0.74 |
สัดส่วนอ้อยนำไปผลิตน้ำตาล (%) | 45.54 | 49.43 | +8.54 | 42.56 | 47.68 | +12.03 |
สัดส่วนอ้อยนำไปผลิตเอทานอล (%) | 54.46 | 50.57 | -7.14 | 57.44 | 52.32 | -8.91 |
กก. น้ำตาลต่อตันอ้อย | 59.53 | 62.66 | +5.26 | 51.64 | 58.29 | +12.87 |
ยุโรป
วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 Sugar.ru. รายงานว่า ราคาขายส่งน้ำตาลของประเทศรัสเซียเริ่มปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกังวลเกี่ยวกับการขนส่ง และความต้องการน้ำตาลที่ลดลง และเสริมอีกว่าผู้ซื้อกำลังรอฤดูกาลผลิตใหม่ที่กำลังจะมาถึง ด้าน Soyuzrossakhar รายงานว่า การทดสอบบีทรูทที่ดำเนินการเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 แสดงให้เห็นว่า น้ำหนักหัวบีทเฉลี่ยอยู่ที่ 173 กรัม เพิ่มขึ้น 29 กรัม เมื่อเทียบกับน้ำหนักหัวบีทของปีที่แล้ว
เอเชีย
วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 Czarnikow รายงานว่า ประเทศอินเดียมีฝนตกไม่เพียงพอในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) และรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ซึ่งไม่น่าส่งผลกระทบต่อผลผลิตน้ำตาลในปี 2566/2567 ของอินเดียเนื่องจากความชื้นในดินที่ดี และระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำที่เพียงพอ โดยอย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่ไม่มีฝนอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกในปี 2567/2568 ด้านสื่อท้องถิ่นของอินเดีย รายงานว่า ชาวไร่อ้อยบางรายในรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) กำลังมองหาที่จะเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนเนื่องจากฝนที่ลดลง นั้นอาจส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกอ้อย
วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (IMD) คาดการณ์ว่า ในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) จะเริ่มกลับมามีฝนในวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 และน่าจะเพียงพอที่จะสามารถชดเชยปริมาณน้ำตาลโลกส่วนขาด (Deficit) ด้านภาพรวมอากาศของอินเดียนั้นมีปริมาณฝนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 2.3 % (วันที่ 10 กรกฎาคม 2566)
วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 สมาคมผู้ค้าน้ำตาลบอมเบย์ เขียนจดหมายร้องเรียนถึงรัฐบาลประเทศอินเดียให้ดำเนินการปรับเพิ่มราคาน้ำตาลให้สูงขึ้น แม้ว่าโรงงานจะมีโควตาการขายน้ำตาลที่สูงอยู่แล้วก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำตาลสูงขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ด้านสมาคมผู้ค้าน้ำตาลบอมเบย์ ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาราคาน้ำตาลค่อนข้างมีความคงที่
วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 สมาคมโรงงานน้ำตาลอินเดียตะวันตก (WISMA) เตือนว่า รัฐมหาราษฏระ(Maharashtra) อาจจะมีผลผลิตน้ำตาลในปี 2566/2567 น้อยกว่าฤดูกาลที่แล้ว เนื่องจากปริมาณฝนที่ไม่เพียงพอซึ่งฝนจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับมรสุมฤดูฝนที่จะมาถึง ด้านรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) มีรายงานว่า โรคพกกระบอง (Pokka boing) ที่กำลังระบาดจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh)
วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 รัฐบาลของประเทศอินเดียกำหนดโควตาการขายน้ำตาลของโรงงานในเดือนกรกฎาคมไว้ที่ 2.4 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าจำนวน 2.35 ล้านตัน ในเดือนมิถุนายน และมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ด้านผู้ค้า กล่าวว่า ราคาขายส่งน้ำตาลในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ลดลงหลังจากมีข่าวเรื่องการกำหนดโควตาการขายน้ำตาลของโรงงานที่เพิ่มขึ้น ด้านแหล่งข่าวของอินเดีย กล่าวว่า ราคาน้ำตาลได้เพิ่มขึ้นอีกครั้ง และเพิ่มขึ้นถึง 35,000 – 36,000 รูปีอินเดีย/ตัน (431 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน) โดยแหล่งข่าว อธิบายว่า ความต้องการน้ำตาลของอินเดียยังคงแข็งแกร่ง ในขณะที่น้ำตาลในสต๊อกของอินเดียมีจำนวนจำกัดเนื่องจากการผลิตน้ำตาลที่ลดลง และมีการเปลี่ยนแปลงการผลิตน้ำตาลไปผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น ด้านแหล่งข่าว เสริมอีกว่า ในช่วงเทศกาลดิวาลี (Diwali) ราคาน้ำตาลของอินเดียอาจเพิ่มสูงถึง 38,000 รูปีอินเดีย/ตัน (461 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน)
วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 เจ้าหน้าที่ในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ของประเทศอินเดีย คาดว่า พื้นที่ปลูกอ้อยของรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) จะเพิ่มขึ้น 40,000 เฮกตาร์ ในฤดูกาลนี้ แต่ทางแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมน้ำตาลของอินเดียยืนยันว่าการที่ฝนตกล่าช้ากว่าปกติทำให้ชาวไร่หมดกำลังใจในการปลูกอ้อยด้านข้อมูลการปลูกอ้อยแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ปลูกอ้อยของรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ลดลงกว่าปีที่แล้วแต่ยังคงสูงกว่าในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh)
วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 นักวิเคราะห์ของประเทศจีน รายงานว่า มีการประมาณการเบื้องต้นของจีนที่ชี้ให้เห็นว่าการนำเข้าน้ำตาลในเดือนมิถุนายน 2566 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 100,000 – 150,000 ตัน ซึ่งใกล้เคียงกับการนำเข้าน้ำตาลจำนวน 140,000 ตัน ของเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ด้านข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของจีน แสดงให้เห็นว่า ไม่มีการนำเข้าน้ำตาลนอกโควตาในเดือนมิถุนายน 2566 โดยมีการคาดการณ์ว่าในเดือนกรกฎาคม 2566 จีนน่าจะมีการนำเข้าน้ำตาลเพิ่มขึ้น 64,000 ตัน
วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 บริษัทที่ปรึกษา Shangpu Consulting รายงานว่า ประเทศจีนน่าจะผลิตสารทดแทนน้ำตาลได้อยู่ที่ 295,000 ตัน ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 7 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นสัดส่วนของน้ำตาลเทียมที่ 112,000 ตัน และสารทดแทนความหวานจากธรรมชาติ 183,000 ตัน นักวิเคราะห์ท้องถิ่นของจีน เสริมว่า ยอดขายน้ำตาลของโรงงานในเดือนมิถุนายนลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสารให้ความหวานทางเลือกอื่นๆ เข้ามาแย่งส่วนแบ่งในตลาดจากน้ำตาล
วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 แผนของรัฐบาลประเทศฟิลิปปินส์ในการที่จะปรับภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลให้เท่ากันอาจจะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลของฟิลิปปินส์ ทั้งนี้เพื่อต้องการสนับสนุนน้ำเชื่อมฟรักโทส (HFCS) ด้านสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลแห่งฟิลิปปินส์ กล่าวว่า อัตราภาษีปัจจุบันสำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลอยู่ที่ 6 เปโซฟิลิปปินส์/ลิตร (0.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ลิตร) เทียบกับอัตราภาษีสำหรับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของ HFCS อยู่ที่ 12 เปโซฟิลิปปินส์ /ลิตร (0.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ลิตร)
สถานะกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไร
สำหรับสถานะของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่าง ๆ ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ปรากฏว่าได้ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 114,608 ล็อต หรือประมาณ 5.82 ล้านตัน ซึ่งเป็นการถือตั๋วซื้อลดลง 5,479 ล็อต หรือประมาณ 0.28 ล้านตัน เมื่อเทียบกับที่ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 120,087 ล็อต หรือประมาณ 6.10 ล้านตัน ในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น (3 กรกฎาคม 2566)
วิจารณ์และความเห็น
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลขับเคลื่อนจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนลง ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น และราคาน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดี ราคาน้ำตาลได้รับอานิสงส์จากน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอน สัญญาเดือนสิงหาคม 2566 ที่สิ้นสุดระยะเวลาในการซื้อขายลง ปรากฎว่ามีการส่งมอบน้ำตาลต่อตลาดเพียง 124,250 เมตริกตัน ลดลงจากปีก่อน 45 % แสดงถึงการที่ผู้ขายไม่ประสงค์จะส่งมอบน้ำตาล ในขณะที่ฝนเริ่มตกในอินเดีย และไทย ซึ่งส่งผลทำให้อ้อยเจริญเติบโตดีขึ้น ด้าน Czarnikow คาดการณ์ว่า ผลผลิตน้ำตาลทางภาคกลาง – ใต้ของบราซิล ปี2566/2567 จะเพิ่มขึ้น 500,000 ตัน เป็น 38.2 ล้านตัน ทำให้ในระยะสั้น อุปทานน้ำตาลจะยังคงไม่ขาดแคลน ดังนั้นกรอบการเคลื่อนไหวของราคาน้ำตาลตามสัญญาเดือนมีนาคม 2567 น่าจะยังคงอยู่ระหว่าง 22 – 25 เซนต์/ปอนด์ จนกว่าปัจจัยพื้นฐานต่างๆของตลาดจะเปลี่ยนแปลง
ฝ่ายตลาด
บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด
17 กรกฎาคม 2566
สรุปสถานการณ์ตลาดน้าตาลโลกประจ้าสัปดาห์ระหว่างวันที่ 10 – 14 กรกฎาคม 2566