สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2566

          ตลาดน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์คประจำสัปดาห์นี้ (29 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2566) ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 22 ของปี 2566 โดยราคาน้ำตาลทรายดิบในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวลดลงอย่างต่อเนื่อง และปิดตลาดครั้งสุดท้ายด้วยราคาที่ลดลง และเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงต้นสัปดาห์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์คปรับลดลงเล็กน้อย โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงกว่า 4 % กระตุ้นให้มีแรงขายเพื่อชำระบัญชีตั๋วซื้อ (Long Liquidation) ในตลาดน้ำตาลล่วงหน้า ด้านราคาน้ำมันดิบที่อ่อนลงทำให้ราคาเอทานอลลดลงตาม ซึ่งทำให้โรงงานน้ำตาลทั่วโลกนำอ้อยไปผลิตน้ำตาลมากขึ้น และลดการผลิตเอทานอลลง จึงส่งผลให้อุปทานน้ำตาลเพิ่มขึ้น ต่อมาช่วงกลางสัปดาห์ราคายังคงลดลง เนื่องจากตลาดได้รับแรงกดดันจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องถึงระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ครึ่ง และค่าเงินเรียลบราซิลที่อ่อนลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน

          จากนั้นในช่วงท้ายสัปดาห์ราคาเคลื่อนไหวลดลงต่อเนื่อง ทำให้ราคาลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน 1 สัปดาห์ โดยผลผลิตน้ำตาลของบราซิลที่เพิ่มขึ้นได้กดดันราคาน้ำตาล อีกทั้ง Conab ได้รายงานคาดการณ์ ผลผลิตน้ำตาลของบราซิลในปี 2566/2567 น่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.7 % เป็น 38.8 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณผลผลิตน้ำตาลที่มากเป็นอันดับสองในประวัติกาล เนื่องมาจากผลผลิตมีการฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนที่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย

          ราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนกรกฎาคม 2566 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 24.57 – 25.83 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 24.73 เซนต์/ปอนด์ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน -0.64 เซนต์/ปอนด์ หรือ -2.52 % และราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนตุลาคม 2566 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 24.31 – 25.46 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 24.51 เซนต์/ปอนด์ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน -0.63 เซนต์/ปอนด์ หรือ -2.51 %

                                                                                 ตลาดน้ำตาลนิวยอร์ค หมายเลข 11 (เซนต์/ปอนด์)

เดือนกำหนดราคา ราคาสูงสุด ราคาต่ำสุด ราคาปิดเมื่อวันที่

2 มิถุนายน 2566

ราคาปิดเมื่อวันที่

26 พฤษภาคม 2566

เปลี่ยนแปลง

เพิ่ม (+), ลด (-)

กรกฎาคม 2566 25.83 24.57 24.73 25.37 -0.64
ตุลาคม 2566 25.46 24.31 24.51 25.14 -0.63
มีนาคม 2567 25.10 24.10 24.33 24.83 -0.50
พฤษภาคม 2567 23.49 22.60 22.94 23.26 -0.32
กรกฎาคม 2567 22.67 21.92 22.44 22.51 -0.07
ตุลาคม 2567 22.07 21.47 22.05 21.95 +0.10
มีนาคม 2568 21.86 21.20 21.84 21.64 +0.20
พฤษภาคม 2568 20.66 20.00 20.64 20.43 +0.21
กรกฎาคม 2568 19.91 19.25 19.90 19.66 +0.24
ตุลาคม 2568 19.55 18.90 19.55 19.32 +0.23
มีนาคม 2569 19.40 18.77 19.40 19.17 +0.23

*หมายเหตุ วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 ตลาดนิวยอร์คปิดทำการเนื่องในวันทหารผ่านศึก (Memorial Day) และ ตลาดลอนดอนปิดทำการเนื่องในวันหยุดธนาคาร (Bank Holiday)

ข่าวที่สำคัญ

          วันที่ 2 มิถุนายน 2566 แหล่งข่าว รายงานว่า ราคาซื้อขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ท่ามกลางตัวเลขการส่งออกน้ำตาลจากบราซิลที่สูงขึ้น และตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ฝนในบราซิลคาดว่าจะลดลง ในขณะที่อินเดีย และไทยพึ่งจะเริ่มมีฝนตก ด้านสถาบัน HEDGEpoint Global Markets กล่าวเสริมว่า ราคาน้ำตาลอาจยังคงลดลงต่อไปจนกว่าสภาพอากาศจะแย่ลงอีก อย่างไรก็ตามจะสังเกตได้ว่าปัจจัยพื้นฐานยังคงส่งสัญญาณว่าอุปทานน้ำตาลนั้นตึงตัว

          วันที่ 2 มิถุนายน 2566 แหล่งข่าว กล่าวว่า ราคาซื้อขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าลดลง 7.15 % ในเดือนพฤษภาคม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจมหภาค อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ และคำถามเกี่ยวกับเรื่องฝนในอินเดียน่าจะหยุดยั้งไม่ให้ราคาน้ำตาลตกลงไปมากกว่านี้ ด้าน Czarnikow รายงานว่า ในอนาคตเรื่องราคาน้ำตาลที่สูงนั้นจำเป็นจะต้องใช้เวลาในการกระตุ้นการเติบโตของผลผลิตน้ำตาล เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกบีทในสหภาพยุโรปไม่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกบีทของพวกเขา ถึงแม้ว่าราคาบีทจะเพิ่มขึ้นถึง 50 % เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศ และกฎระเบียบเกี่ยวกับเรื่องสารกำจัดศัตรูพืช โดย Czarnikow แนะนำว่า ผลผลิตน้ำตาลจะสามารถเพิ่มขึ้นได้ด้วยการใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และเรื่องของผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่สูงขึ้น ด้านองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (ISO) ประเมินว่า ผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้น 2 ล้านตัน ในปี 2566/2567 อย่างไรก็ตามการบริโภคก็น่าจะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

          วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ผู้สังเกตการณ์ตลาด กล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์คอ่อนตัวลงกว่า 7 % ในเดือนพฤษภาคม โดยตลาดได้รับแรงกดดันในช่วงปลายเดือนจากค่าเงินเรียลบราซิลที่อ่อนค่าลง และราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของฝนในอินเดียน่าจะช่วยหยุดราคาน้ำตาลไม่ให้ตกลงไปมากกว่านี้

          วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่า น้ำตาลโลกส่วนเกินอยู่ที่ 7.8 ล้านตัน ในปี 2566/2567 เพิ่มขึ้นจากจำนวน 1.27 ล้านตัน ที่เกินดุลในปี 2565/2566 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปริมาณผลผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นของบราซิล และอินเดีย ด้านบริษัทที่ปรึกษา Archer Consulting เตือนว่าผลผลิตอ้อยในปี 2567/2568 ในภาคกลาง – ใต้ของบราซิลอาจฟื้นตัวขึ้นได้ซึ่งสิ่งสำคัญนั้นเนื่องมาจากปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และการลงทุนในการดูแลไร่อ้อยที่ดี

          วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 Czarnikow รายงานการวิเคราะห์ว่า ค่าขนส่งสินค้าผ่านคลองปานามา คาดการณ์ว่า จะสูงขึ้นท่ามกลางภาวะระดับน้ำที่ลดลง ซึ่งเป็นภาวะที่มักเกิดขึ้นในปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) และอธิบายเสริมอีกว่า ภาวะระดับน้ำในคลองปานามาที่ลดลงนั้นส่งผลให้เกิดข้อจำกัดเรื่องอัตรากินน้ำลึกของการเดินเรือซึ่งทำให้เรือบรรทุกสินค้าได้น้อยลง ด้านผู้ให้บริการขนส่งทางเรือบางรายได้ประกาศขึ้นค่าธรรมเนียมตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน และเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือผ่านคลองสุเอซแทน ด้านสถาบันวิจัย Kiel Institute กล่าวว่า การค้าโลกน่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก โดยให้เหตุผลว่าคลองสุเอซมีความสำคัญในการขนส่งสินค้ามากกว่า

อเมริกากลาง-เหนือ

          วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 สมาคมผู้ปลูกอ้อยแห่งชาติของประเทศเม็กซิโก ในรัฐเวรากรูซ (Veracruz) เตือนถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลภายในช่วงสิ้นปีนี้ และต้นปี 2567 เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลที่ลดลงอย่างมากในฤดูกาลนี้ ด้านกลุ่มผู้ผลิตอ้อยอิสระ เสริมว่า ราคาน้ำตาลในรัฐเวรากรูซ (Veracruz) น่าจะสูงขึ้น

อเมริกาใต้

          วันที่ 2 มิถุนายน 2566  Pecege รายงานผลสำรวจว่า ตั้งแต่เริ่มฤดูกาล 2566/2567 ผลผลิตอ้อย ในภาคกลาง – ใต้ของประเทศบราซิลเฉลี่ย 93.39 ตัน/เฮกตาร์ ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว 17.5 % และเหนือกว่าความคาดหมาย โดย Pecege ระบุว่า เปอร์เซ็นต์น้ำตาลเฉลี่ยของอ้อยยังคงสูงอยู่แม้ว่าจะมีความชื้นเพิ่มขึ้นก็ตาม นอกจากนั้น สถานการณ์ของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) อาจเปลี่ยนแปลงได้ในช่วงปลายปีนี้ ด้าน Itau BBA คาดการณ์ว่า ผลผลิตน้ำตาลในภาคกลาง – ใต้ของประเทศบราซิลในปีนี้จะอยู่ที่ 36.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.4 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

          วันที่ 2 มิถุนายน 2566 สำนักเลขาธิการกระทรวงการค้าต่างประเทศ (Secex) ของประเทศบราซิลรายงานว่า บราซิลมีการส่งออกน้ำตาลที่ 2.471 ล้านตัน ในเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 57.62 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้าน Williams Brasil รายงานว่า บราซิลมีเรือ 72 ลำรอการบรรทุกน้ำตาลที่ 3.054 ล้านตัน สำหรับการส่งออก ณ วันที่ 31 พฤษภาคม โดยจำนวนเรือลดลงจาก 85 ลำ และน้ำตาลลดลงจากจำนวน 3.49 ล้านตัน ในสัปดาห์ที่แล้ว

          วันที่ 1 มิถุนายน 2566 Canal Rural ของประเทศบราซิล รายงานว่า ภาคกลาง – ใต้ของบราซิลเผชิญกับพายุ และมีฝนตกในวันสุดท้ายของเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะในรัฐปารานา (Parana) รัฐมาตูโกรสซูโดซูล (Mato Grosso do Sul) และรัฐเซาเปาโล (Sao Paulo) โดยคาดการณ์ว่า จะมีฝนตกมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนมิถุนายนในรัฐปารานา (Parana) และรัฐมาตูโกรสซูโดซูล (Mato Grosso do Sul) และทางตะวันตกของรัฐมาตูโกรสโซ (Mato Grosso)

          วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 Pecege ของประเทศบราซิล รายงานว่า ในปี 2566/2567 คาดการณ์ว่าบราซิลจะมีต้นทุนการผลิตอ้อยจะเพิ่มสูงถึง 16,857 เรียลบราซิล/เฮกตาร์ (3,347 ดอลลาร์สหรัฐฯ/เฮกตาร์) ซึ่งสูงขึ้นอย่างมากกว่าต้นทุนการผลิตในปี 2561/2562 ซึ่งอยู่ที่ 9,808 เรียวบราซิล/เฮกตาร์ (1,947 ดอลลาร์สหรัฐฯ/เฮกตาร์) ในขณะที่ปริมาณอ้อยนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักจากในช่วงปี 2561/2562 ด้าน Santander คาดการณ์ว่า ผู้ผลิตน้ำตาลของบราซิลน่าจะได้รับผลประโยชน์จากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ซึ่งน่าจะมีส่วนในการเพิ่มอัตรากำไรเนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกนั้นจะสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่อุปทานน้ำตาลที่ลดลง

          วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 Novacana ของประเทศบราซิล ตั้งข้อสังเกตว่า การคาดการณ์ของ Conab ที่คาดการณ์ไว้ว่า ผลผลิตอ้อยของภาคกลาง – ใต้ของบราซิล ในปี 2566/2567 อยู่ที่ 577 ล้านตัน นั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่สถาบันอื่นๆมีการแสดงเอาไว้จากผลการสำรวจซึ่งประมาณการเอาไว้อยู่ที่ 592 ล้านตัน ด้าน StoneX คาดการณ์ว่าจะมีการหีบอ้อยอยู่ที่ 595.9 ล้านตัน ในปี 2566/2567

          วันที่ 30 พฤษภาคม 2566  ANP ของประเทศบราซิล รายงานข้อมูลว่า บราซิลราคาขายปลีกของไฮดรัสลดลงที่ 3.8 % และราคาขายปลีกน้ำมันลดลงที่ 3.7 % ในวันที่ 29 พฤษภาคม โดยส่งผลให้ในสัปดาห์ที่แล้วไฮดรัสอยู่ที่ 73 % เทียบกับราคาน้ำมันเบนซิน ซึ่งปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจาก 73.1 % ด้านสถาบันวิจัย Cepea/Esalq รายงานว่า ระดับราคาไฮดรัสหน้าโรงงาน ของรัฐเซาเปาโล (Sao Paulo) เพิ่มขึ้นที่ 2.69 % ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ในขณะที่ราคาแอนไฮดรัสลดลงที่ 0.59 %

ยุโรป

          วันที่ 2 มิถุนายน 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของประเทศรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียน่าจะเก็บเกี่ยวบีทได้อยู่ที่ 41 ล้านตัน ในปี 2566 ซึ่งลดลงต่ำกว่าตัวเลข 48.9 ล้านตัน ของปีที่แล้ว ด้านรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า การหว่านเมล็ดบีทของรัสเซียก็เกือบจะสิ้นสุดลงแล้ว เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน โดยมีการหว่านไปแล้ว 1.036 ล้านเฮกตาร์

          วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 บริษัทที่ปรึกษา IKAR ของประเทศรัสเซีย คาดการณ์ว่า พื้นที่บีทของรัสเซียจะสูงขึ้นถึง 1.06 ล้านเฮกตาร์ ในปีนี้ ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1.04 ล้านเฮกตาร์ จากสภาพอากาศโดยรวมดีต่อการเจริญเติบโตของบีทนั้นน่าจะส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 6.0 – 6.5 ล้านตัน ด้าน IKAR ตั้งข้อสังเกตว่า ราคาน้ำตาลในประเทศของรัสเซียนั้นสูงขึ้น แต่น่าจะปรับตัวลดลงอีกครั้งในเร็วๆ นี้ เนื่องจากมีอุปทานน้ำตาลที่เพียงพอ

เอเชีย

          วันที่ 1 มิถุนายน 2566 สมาคมการค้าน้ำตาลของอินเดีย (AISTA) กล่าวว่า ผลผลิตน้ำตาลของประเทศอินเดียในปี 2565/2466 น่าจะลดลง 3.63 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งจะเหลืออยู่ที่ 34.5 ล้านตัน โดยส่งผลให้การส่งออกน้ำตาลของอินเดียน่าจะลดลงเหลือ 7 ล้านตัน ซึ่งลดลงจากจำนวน 11.2 ล้านตัน ในปีที่แล้ว

          วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 สมาพันธ์สหกรณ์โรงงานน้ำตาลแห่งชาติ (National Federation of Cooperative Sugar Factorys) ของประเทศอินเดีย รายงานว่า โรงงานน้ำตาลของอินเดียส่งออกน้ำตาลภายใต้โควตาส่งออกทั้งหมด 6.1 ล้านตัน ตามที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกสำหรับปี 2565/2566 ด้านแหล่งข่าว กล่าวว่าราคาน้ำตาลที่ส่งออกนั้นสูงถึง 50,000 รูปีอินเดีย/ตัน (605 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน) เพิ่มขึ้นจากราคา 36,500 รูปีอินเดีย/ตัน (441 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน) ที่เป็นราคาน้ำตาลในประเทศของอินเดีย

          วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ผู้ค้า รายงานว่า รัฐบาลของประเทศอินเดีย คาดการณ์ว่า จะประกาศโควตาการขายน้ำตาลของโรงงานที่ 2.3 ล้านตัน ในเดือนมิถุนายน ซึ่งลดลงจาก 2.4 ล้านตัน ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากความต้องการซื้อน้ำตาลที่ลดลง และตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ราคาน้ำตาลในประเทศของอินเดียทรงตัว ด้านกระทรวงเกษตรอินเดีย เปิดเผยประมาณการผลผลิตอ้อยครั้งที่สามสำหรับปี 2565/2566 อยู่ที่ 494 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 55 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

          วันที่ 1 มิถุนายน 2566 Czarnikow คาดการณ์ว่า ประเทศจีนน่าจะมีผลผลิตน้ำตาลที่ 9.6 ล้านตัน ในปี 2566/2567 เพิ่มขึ้น 900,000 ตัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ท่ามกลางปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนยังคงพยายามที่จะให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย โดย Czarnikow เชื่อว่าการบริโภคของจีนน่าจะอยู่ที่ที่ 16 ล้านตัน ซึ่งหมายความว่าน่าจะมีความต้องการนำเข้าน้ำตาลประมาณ 6 ล้านตัน ด้านบริษัท COFCO Sugar เชื่อว่าความต้องการน้ำตาลภายในประเทศของจีนน่าจะอยู่ที่ 15 ล้านตัน โดยบริษัท COFCO Sugar มีรายงานข้อมูลของบริษัทเปิดเผยว่า สินค้าคงคลังของบริษัทที่เพิ่มขึ้น 50 % ในไตรมาสแรกของปีนั้นเป็นผลมาจากที่มีการนำเข้าน้ำตาลทรายดิบเพิ่ม รวมถึงสต็อกน้ำตาลในประเทศที่มีอยู่เดิมของบริษัท

          วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นักวิเคราะห์ท้องถิ่นของประเทศจีน กล่าวว่า ราคาน้ำตาลในประเทศของจีนกำลังปรับลดลงตามราคาน้ำตาลโลกที่ลดลงในเดือนนี้ และเสริมอีกว่า ไม่มีข่าวเกี่ยวกับการนำน้ำตาลสำรองของรัฐปล่อยออกสู่ตลาด ด้านนักวิเคราะห์อีกท่านหนึ่ง กล่าวว่า ราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้ลดความต้องการซื้อน้ำตาลจากบริษัทอาหาร และเครื่องดื่มลง และมีการเปลี่ยนไปใช้สารให้ความหวานอื่นทดแทน อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วตลาดน้ำตาลโลกยังคงตึงตัว และการนำเข้าน้ำตาลช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ

          วันที่ 1 มิถุนายน 2566 องค์กรกำกับดูแลน้ำตาลแห่งชาติฟิลิปปินส์ (SRA) รายงานว่า โรงงานในประเทศฟิลิปปินส์ผลิตน้ำตาลได้เพียง 1.9 ล้านตัน ณ กลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งหากเปรียบเทียบกับจำนวนที่จะเรียกว่าเพียงพอได้นั้นจะต้องอยู่ที่ 2.4 – 2.5 ล้านตัน ด้าน SRA กำลังดำเนินการสร้างไร่อ้อยในลักษณะที่เป็นแบบบล็อกเพื่อช่วยเพิ่มขนาดเฉลี่ยของไร่อ้อยจาก 2 เฮกตาร์ เพิ่มขึ้นเป็น 30 เฮกตาร์ เพื่อให้สามารถใช้เครื่องจักร และเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก

สถานะกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไร

สำหรับสถานะของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่าง ๆ ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ปรากฏว่าได้ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 189,286 ล็อต หรือประมาณ 9.62 ล้านตัน ซึ่งเป็นการถือตั๋วซื้อลดลง 28,696 ล็อต หรือประมาณ 1.45 ล้านตัน เมื่อเทียบกับที่ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 217,982 ล็อต หรือประมาณ 11.07 ล้านตัน ในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น (23 พฤษภาคม 2566)

วิจารณ์และความเห็น

ตลาดน้ำตาลในภาพรวมของเทคนิคเกิดการปรับฐานหลังจากที่ตลาดได้ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากราคาช่วง 19.00 เซนต์/ปอนด์ ขึ้นมาถึง 26.00 เซนต์/ปอนด์ ประกอบกับการเข้าสู่เดือนสุดท้ายของการซื้อขายของสัญญางวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม 2566 ทำให้คาดว่า จะมีการขายเพื่อทำกำไร และปิดสัญญาจากกองทุน และกลุ่มนักเก็งกำไร ที่ได้กำไรอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาทั้งนี้จะต้องดูข้อมูลทางด้านเทคนิคประกอบในช่วงระยะสั้นไปก่อนแต่เชื่อว่า ในระยะยาวปัจจัยพื้นฐานยังเป็นตัวกำหนดทิศทางราคาน้ำตาลให้ยังเป็นขาขึ้น เนื่องจากหลายสถาบันวิเคราะห์ ว่าน้ำตาลปีนี้ และปีหน้าทั่วโลกจะยังเป็นส่วนขาด (Deficit) อยู่ และเรื่องสภาพอากาศที่จะเข้ามามีผลทำให้ผลผลิตน้ำตาลในประเทศผู้ผลิตหลักหลายประเทศยังไม่สามารถที่จะเพิ่มปริมาณผลผลิตน้ำตาลขึ้นมาปิดช่องว่างของน้ำตาลส่วนขาด (Deficit) ลงได้

ฝ่ายตลาด

บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด

6 มิถุนายน 2566

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2566

Scroll to Top
Skip to content