สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 1 – 5 พฤษภาคม 2566

                                       สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์

                                                 ระหว่างวันที่ 1 – 5 พฤษภาคม 2566

          ตลาดน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์คประจำสัปดาห์นี้ (1 – 5 พฤษภาคม 2566) ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 18 ของ ปี 2566 โดยราคาน้ำตาลทรายดิบในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวผันผวน และปิดตลาดครั้งสุดท้ายด้วยราคาที่ลดลงจากสัปดาห์ที่  ผ่านมา ในช่วงต้นสัปดาห์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์คปรับลดลงมากตามน้ำตาลที่ส่งมอบต่อตลาดจำนวนมากเมื่อสัญญาเดือนพฤษภาคม 2566 สิ้นสุดระยะเวลาในการซื้อขายลงเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีการขายน้ำตาลจริงอย่างหนักหน่วง ประกอบกับการเริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ของบราซิลในปีนี้ดีกว่าปีก่อน ต่อมาราคาน้ำตาลได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงกว่า 5 % สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์

          จากนั้นในช่วงท้ายสัปดาห์ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นพอประมาณตามค่าเงินเรียลบราซิลที่แข็งสุดในรอบ 2 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยค่าเงินที่แข็งขึ้นทำให้ผู้ผลิตน้ำตาลในบราซิลไม่อยากขายน้ำตาลเนื่องจากได้รับรายได้จากการส่งออกที่เป็นเงินเรียลบราซิล น้อยลง รวมถึงตลาดได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 4 %

          ราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนกรกฎาคม 2566 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 24.88 – 26.50 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 26.32 เซนต์/ปอนด์ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน -0.03 เซนต์/ปอนด์ หรือ -0.11 % และราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนตุลาคม 2566 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 24.57 – 26.17 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 25.97 เซนต์/ปอนด์ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน -0.04 เซนต์/ปอนด์ หรือ -0.15 %

                                                                                    ตลาดน้ำตาลนิวยอร์ค หมายเลข 11 (เซนต์/ปอนด์)

เดือนกำหนดราคา ราคาสูงสุด ราคาต่ำสุด ราคาปิดเมื่อวันที่

5 พฤษภาคม 2566

ราคาปิดเมื่อวันที่

28 เมษายน 2566

เปลี่ยนแปลง

เพิ่ม (+), ลด (-)

กรกฎาคม 2566 26.50 24.88 26.32 26.35 -0.03
ตุลาคม 2566 26.17 24.57 25.97 26.01 -0.04
มีนาคม 2567 25.72 24.17 25.53 25.56 -0.03
พฤษภาคม 2567 23.86 22.60 23.76 23.72 +0.04
กรกฎาคม 2567 22.90 21.69 22.65 22.63 +0.02
ตุลาคม 2567 22.05 21.00 21.78 21.82 -0.04
มีนาคม 2568 21.43 20.63 21.28 21.39 -0.11
พฤษภาคม 2568 20.13 19.42 19.99 20.11 -0.12
กรกฎาคม 2568 19.24 18.62 19.14 19.20 -0.06
ตุลาคม 2568 18.80 18.22 18.70 18.76 -0.06
มีนาคม 2569 18.57 17.99 18.47 18.55 -0.08

*หมายเหตุ วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ตลาดลอนดอนปิดทำการเนื่องในวันหยุดธนาคาร (Bank Holiday)

ข่าวที่สำคัญ

          วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ผู้สังเกตการณ์ตลาดส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการประชุมด้านน้ำตาลที่นิวยอร์คเชื่อว่าราคาน้ำตาลเป็นขาขึ้น อย่างไรก็ตามมีผู้สังเกตการณ์ตลาดบางส่วนเตือนว่าราคาน้ำตาลอาจปรับตัวลดลง ด้านตัวแทนผู้ค้าจาก Sucden ตั้งข้อสังเกตว่า 85 % ของจำนวนน้ำตาลที่ส่งออกของบราซิลได้ทำราคาขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งไม่น่าจะมีการขายน้ำตาลเพิ่มเติมมากนัก ด้านการขนส่งน้ำตาลขอบราซิลที่ท่าเรือมีความแออัดน่าจะส่งผลให้การส่งออกน้ำตาลถูกจำกัด และส่งออกได้มากสุดที่ 2.8 ล้านตัน/เดือน ด้าน ED&F Man เสริมว่า ผลกระทบในด้านลบต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตของบราซิลนั้นจะสนับสนุนราคาน้ำตาลในตลาดโลก ด้านประธานของ Paragon Global Markets เตือนว่า ราคาน้ำตาลอาจจะลดต่ำลงถ้าหากมีฝนในช่วงฤดูมรสุมตามปกติ และไม่เกิดผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ (El Nino) อย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้ ด้านดัชนีราคาอาหารของ FAO เพิ่มสูงขึ้นในเดือนเมษายน เนื่องจากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.6 % จากเดือนที่แล้ว และแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554

          วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ประธาน Datagro กล่าวว่า โรงงานในภาคกลาง – ใต้ของบราซิล น่าจะดำเนินการหีบอ้อยอยู่ที่ 598 ล้านตัน เพื่อผลิตเป็นน้ำตาลที่ 38.3 ล้านตัน ในปี 2566/2567 เพิ่มขึ้น 13.6 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้านนักวิเคราะห์ เชื่อว่า ปริมาณผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นน่าจะสามารถรักษาระดับราคาน้ำตาลไว้ได้ ด้าน Marex ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาจากสภาพอากาศที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ เอลนีโญ่ (El Nino) หรือปัญหาด้านการขนส่งในบราซิล อาจจะส่งผลทำให้อุปทานน้ำตาลทั่วโลกตึงตัวมากขึ้น โดย ISO ระบุว่า การเติบโตของอุปสงค์น้ำตาลทั่วโลกอยู่ที่ 1.2 % ในปี 2566/2567 เพิ่มขึ้นจาก 0.8 % ในปี 2565/2566

          วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 แหล่งข่าว รายงานว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดซื้อขายล่วงหน้าทรงตัว เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม หลังจากที่ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากราคาน้ำตาลพบแนวรับที่ราคาประมาณ 25 เซนต์/ปอนด์ เนื่องจากอุปทานน้ำตาลโลกที่ตึงตัว ด้านประธาน Louis Dreyfus กล่าวว่า ราคาน้ำตาลจะต้องยังคงสูงเพื่อเป็นการกระตุ้นการเติบโตของการผลิตน้ำตาล และคาดการณ์เพิ่มเติมอีกว่า หากไม่มีการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นอาจจะส่งผลให้ตลาดน้ำตาลโลกต้องเผชิญกับน้ำตาลโลกส่วนขาด (Deficit) ที่ 6 ล้านตัน ในปี 2567/2568 และ ที่ 8 ล้านตันในปี 2568/2569

          วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 แหล่งข่าว รายงานว่า ราคาน้ำตาลซื้อขายล่วงหน้าลดลงในวันที่ 1 พฤษภาคม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคามีการปรับฐานหลังจากเพิ่มขึ้นโดยตลอดในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา และอีกส่วนหนึ่งคือการที่ราคาน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการน้ำตาลของผู้ซื้อ เช่น จีน ด้านนักวิเคราะห์ ยังกล่าวอีกว่า การส่งมอบน้ำตาลตามสัญญาเดือนพฤษภาคมจำนวนมากจากบราซิลนั้นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าการเก็บเกี่ยวของบราซิลเริ่มต้นได้ดี ด้าน Czarnikow กล่าวเสริมว่า ในระยะยาวผลผลิตน้ำตาลของโลกแทบไม่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ราคาน้ำตาลมีความเปราะบางต่อปัจจัยด้านสภาพอากาศ หรือการหยุดชะงักของอุปทานจากผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ อีกทั้งการที่อินเดียเปลี่ยนไปใช้น้ำมัน E20 จะเป็นการกำจัดแหล่งที่มาของน้ำตาลส่วนเกินราคาถูกที่ล้นตลาดโลก

          วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 StoneX ลดประมาณการน้ำตาลโลกส่วนเกินปี 2565/2566 ลงเหลือ 1.1 ล้านตัน ลดลงจาก 2.5 ล้านตัน ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนมีนาคม เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลที่ลดลงในอินเดีย เม็กซิโก และสหภาพยุโรป โดยน้ำตาลโลกส่วนเกินน่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.3 ล้านตัน ในปี 2566/2567 เนื่องจาก StoneX ตั้งข้อสังเกตว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ไม่น่าจะทำให้ผลผลิตน้ำตาลในบราซิลลดลง แม้ว่าการขนส่งจะยังคงเป็นปัญหาอยู่ก็ตาม ด้านสมาคมชาวไร่อ้อย Canaoeste กล่าวว่า ปริมาณผลผลิตอ้อยในภาคกลาง – ใต้ของบราซิลน่าจะเกิน 600 ล้านตัน ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 548 ล้านตัน เนื่องจากสภาพอากาศที่ดี ด้าน SIAMIG เชื่อว่าปริมาณผลผลิตอ้อยในรัฐมีนัสเชไรส์ (Minas Gerais) ปี 2565/2566 จะสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 72.5 ล้านตัน

          วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 แหล่งข่าวจากผู้ค้า รายงานว่า COFCO ส่งมอบน้ำตาลทรายดิบซึ่งมาจากบราซิลจำนวน 900,000 ตัน ตามสัญญาซื้อขายน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์คเดือนพฤษภาคม จากทั้งหมด 940,000 ตัน ที่ส่งมอบทั้งหมด โดย Wilmar ได้รับน้ำตาลจำนวน 620,000 ตัน ด้าน Archer Consulting รายงานว่า โรงงานน้ำตาลในบราซิลขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงของน้ำตาลจำนวน 16 ล้านตัน ของน้ำตาลปี 2566/2567 ที่ราคาเฉลี่ย 17.75 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามีการเรียกเงินประกันเพิ่มสำหรับตั๋วขายที่ถืออยู่ (Margin call) และส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำตาลได้เลือกทำการซื้อสัญญาสิทธิ ทำให้เกิดความผันผวนอย่างมาก และเสริมอีกว่า จำเป็นต้องมีการกระตุ้นจากปัจจัยพื้นฐานเพื่อผลักดันราคาน้ำตาลให้เพิ่มขึ้นต่อ

อเมริกากลาง-เหนือ

          วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 Zafranet รายงานว่า ประเทศเม็กซิโกมีผลผลิตน้ำตาลลดลงทำให้ราคาน้ำตาลของเมืองหลวงเม็กซิโกซิตี้ (Mexico City) ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยสภาอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งชาติประเทศเม็กซิโก รายงานว่า เม็กซิโกน่าจะผลิตน้ำตาลได้เพียง 5.4 ล้านตัน ลดลงจาก 6.1 ล้านตัน ที่คาดไว้ในตอนแรก และลดลง 11 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเสริมอีกว่า ปริมาณอ้อยลดลงในแถบพื้นที่ติดอ่าว เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง และปุ๋ยที่มีราคาสูง

          วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ประเทศเม็กซิโกน่าจะมีผลผลิตน้ำตาลในปี 2566/2567 ที่ 6.25 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 6.05 ล้านตัน ในปี 2565/2566 แต่ลดลงเล็กน้อยจากค่าเฉลี่ยรวมเจ็ดปีย้อนหลังที่ 6.26 ล้านตัน ด้านการส่งออกน้ำตาลของเม็กซิโกน่าจะฟื้นตัวเป็น 1.37 ล้านตัน ในปีหน้าเทียบกับค่าเฉลี่ยการส่งออกน้ำตาลในระยะยาวที่ 1.219 ล้านตัน

อเมริกาใต้

          วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 Sindalcool-PB รายงานว่า รัฐปาไรบา (Paraiba) ประเทศบราซิลทำสถิติใหม่ในการหีบอ้อยได้ที่ 7.3 ล้านตัน ในปีนี้ เพิ่มขึ้น 30 % จากปีที่แล้ว เนื่องจากฝนตกชุกตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยปริมาณอ้อยยังมีแนวโน้มที่ดีในปี 2566/2567 และอุตสาหกรรมน้ำตาลคาดว่าจะมีราคาที่สูงขึ้น ด้าน Carlos Lyra group กล่าวว่า ในรัฐอะลาโกอาส (Alagoas) กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลสองแห่งทำลายสถิติการผลิตน้ำตาล เพราะสภาพอากาศที่ดีมีฝนตก

          วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 ในเดือนเมษายนประเทศบราซิลมีการส่งออกน้ำตาล 971,592 ตัน ลดลงจาก 1.32 ล้านตัน ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว  ด้านนักวิเคราะห์จาก Louis Dreyfus รายงานว่า ระยะเวลาในการรอน้ำตาลลงเรือในบราซิลต้องใช้เวลาถึง 30 วัน เพราะความแออัดในท่าเรือ และอธิบายเพิ่มเติมว่า บราซิลคาดการณ์ว่าจะส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 20 % ในปีนี้ เนื่องจากมีผลผลิตที่ดีของถั่วเหลือง ข้าวโพด และน้ำตาล

          วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 สถาบัน Cepea ประเทศบราซิล รายงานว่า ราคาน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงานในรัฐเซาเปาโล (Sao Paulo) ปรับเพิ่มสูงขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องมาจากมีฝนตกส่งผลกระทบทำให้การผลิต และการขนส่งล่าช้าในช่วงเริ่มต้นของฤดูกาลหีบปี 2566/2567

          วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ANP รายงานว่า ประเทศบราซิลราคาเฉลี่ยหน้าปั๊มน้ำมันของไฮดรัสเพิ่มขึ้น 3 % ในสุดสัปดาห์วันที่ 29 เมษายน ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่สองที่ราคามีการปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาน้ำมันทรงตัวเป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน โดยแหล่งข่าวอธิบายว่า Petrobras ไม่มีการปรับเปลี่ยนอัตราน้ำมันในช่วง 60 วันที่ผ่านมา ในขณะที่ราคาน้ำมันทรงตัวต่อเนื่องหลังจากการที่ราคาได้เคยพุ่งสูงขึ้นจากการกลับมาเก็บภาษีเชื้อเพลิงของรัฐบาลกลางบราซิล โดยส่งผลให้ราคาไฮดรัสอยู่ที่ 74.4 % ของราคาน้ำมัน เทียบกับที่ 72.2 % ในสัปดาห์ที่แล้ว ด้านสถาบัน Cepea รายงานว่า ในรัฐเซาเปาโล (Sao Paulo) ราคาของไฮดรัสหน้าโรงงานลดลง 4.19 % ในขณะที่ราคาแอนไฮดรัสลดลง 3.44 % ในช่วงวันที่ 29 เมษายน

          วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานประเทศบราซิล กล่าวว่า จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการศึกษาในเรื่องการเพิ่มส่วนผสมของเอทานอลในน้ำมันเบนซินจาก 27 % เป็น 30 % ด้านรองประธานาธิบดีของประเทศบราซิล กล่าวว่า บราซิลน่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากยานยนต์เชื้อเพลิงไฮบริดที่ยืดหยุ่นขับเคลื่อนโดยใช้ได้ทั้งน้ำมัน และเอทานอล รวมถึงจะใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเอทานอลเพื่อลดคาร์บอนจากการขนส่ง และลดการนำเข้าน้ำมัน

ยุโรป

          วันที่ 5 พฤษภาคม 2566  Sugar.ru. รายงานว่า ประเทศรัสเซียราคาขายส่งน้ำตาลยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่สูงขึ้น รวมถึงค่าเงินรูเบิลรัสเซียที่อ่อนค่าลง และการที่ถูกโจมตีเพิ่มขึ้นทำให้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานของรัสเซียที่อยู่ติดกับชายแดนยูเครน ด้านรัฐบาลรัสเซียได้มีกำหนดการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับราคาน้ำตาล แต่การตัดสินใจที่จะทำการจำกัดราคาน้ำตาลภายในประเทศอาจเป็นการสนับสนุนการส่งออกน้ำตาล และส่งผลให้อุปทานน้ำตาลลดลง Sugar.ru. ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การส่งออกน้ำตาลของรัสเซียในเดือนเมษายนน่าจะเพิ่มขึ้น 20 % เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม

          วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 โรงงานน้ำตาล Cygnet ของประเทศยูเครน กล่าวว่า จะกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งในปีนี้ หลังจากปิดดำเนินการไปในปี 2565 เนื่องจากการรุกรานของรัสเซีย โดยโรงงานน้ำตาล Cygnet สามารถเริ่มดำเนินการซ่อมแซม และหว่านเมล็ดบีทได้แล้วอยู่ที่ 4,000 เฮกตาร์ ในปีนี้มีเป้าหมายในการหีบบีทอยู่ที่ 220,000 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 143,000 ตัน ในปี 2564 ด้านกระทรวงเกษตรประเทศยูเครน รายงานว่า ณ วันที่ 27 เมษายน เกษตรกรได้หว่านเมล็ดบีทไปแล้ว 96,100 เฮกตาร์

          วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 สื่อท้องถิ่น รายงานว่า ประเทศฝรั่งเศสราคาขายปลีกน้ำตาลพุ่งขึ้น 55 % ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น และผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกที่ลดลง ด้านสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลฝรั่งเศส กล่าวว่า ราคาน้ำตาลที่พุ่งสูงขึ้นไม่น่าจะปรับลดลงในเร็วๆ นี้

เอเชีย

          วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 แหล่งข่าว รายงานว่า รัฐบาลของประเทศอินเดียอาจจะไม่จำเป็นต้องออกคำสั่งห้ามการส่งออกน้ำตาล เนื่องจากน้ำตาลส่วนใหญ่ภายใต้โควตาการส่งออก 6.1 ล้านตัน ได้ถูกส่งออกไปเกือบทั้งหมดแล้ว โดยโรงงานได้ทำการส่งมอบน้ำตาลจำนวน 6.05 ล้านตัน สำหรับการส่งออกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในขณะนี้ได้มีการส่งน้ำตาลออกจากอินเดียไปแล้ว 5.7 – 5.8 ล้านตัน ด้าน MEIR Commodities คาดการณ์ว่า อินเดียอาจไม่สามารถส่งออกน้ำตาลได้ในปี 2566/2567 และรัฐบาลอินเดียน่าจะรอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปริมาณผลผลิตเพื่อประกอบการตัดสินใจอีกครั้ง ซึ่งอาจจะประมาณช่วงเดือนมกราคม

          วันที่ 4 พฤษภาคม 2566  คณะกรรมาธิการน้ำตาลของประเทศอินเดีย รายงานว่า ในรัฐมหาราษฏระ(Maharashtra) มีโรงงานน้ำตาลจำนวน 210 โรง ที่เปิดดำเนินการในปี 2565/2566 เพิ่มขึ้นจากจำนวน 173 โรง ในฤดูกาลที่แล้ว ด้านผลผลิตน้ำตาลลดลงเหลือ 10.5 ล้านตัน เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตามโรงงานน้ำตาลในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) สามารถชำระเงินให้เกษตรกรแล้ว 95.74 % โดยในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) มีรายงานข้อมูลอย่างเป็นทางการว่า โรงงานน้ำตาลผลิตน้ำตาลได้อยู่ที่ 10.2 ล้านตัน ณ วันที่ 3 พฤษภาคม และคาดว่าฤดูกาลนี้น่าจะผลิตน้ำตาลได้ทั้งหมด 10.5 ล้านตัน ด้านโรงงานในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ขณะนี้ชำระเงินให้เกษตรกรแล้ว 75.43 %

          วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 สมาคมโรงงานน้ำตาลอินเดีย (ISMA) เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศอินเดียขึ้นราคาสนับสนุนน้ำตาลขั้นต่ำ (MSP) จาก 31 รูปีอินเดีย/กิโลกรัม (0.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) เป็น 38 รูปีอินเดีย/กิโลกรัม (0.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) โดยสมาคมโรงงานน้ำตาลอินเดีย (ISMA) เน้นย้ำว่า ราคาสนับสนุนน้ำตาลขั้นต่ำ (MSP) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2561/2562 ในขณะที่ต้นทุนการผลิต และราคาอ้อยเพิ่มขึ้น

          วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 เจ้าหน้าฝ่ายอ้อย และสรรพสามิตประเทศอินเดีย รายงานว่า ในขณะนี้โรงงานน้ำตาลในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ผลิตน้ำตาลได้อยู่ที่ 10 ล้านตัน และเอทานอลได้ที่ 1 พันล้านลิตร และเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลผลผลิตน้ำตาลอาจสูงถึง 11 ล้านตัน และเอทานอลอาจสูงถึง 1.58 พันล้านลิตร ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการซื้อ โดยรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) มีความสามารถในการผลิต เอทานอลรวมแล้วอยู่ที่ 2.45 พันล้านลิตร

          วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 แหล่งข่าวของประเทศอินเดีย รายงานว่า รัฐบาลอินเดียกำลังวางแผนในการที่จะตัดสินใจห้ามการส่งออกน้ำตาลเพิ่มเติม โดยจะมีข้อสรุปหลังจากการประชุมวันที่ 27 เมษายน รวมถึงอาจจะลดการส่งออกน้ำตาลที่ได้รับอนุญาตก่อนหน้านี้ภายใต้โควตา 6 ล้านตัน โดยรัฐบาลอินเดียมีความจำเป็นที่จะต้องทำการตัดสินใจครั้งนี้เนื่องจากต้องการลดแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศก่อนการเลือกตั้งระดับรัฐที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ และการเลือกตั้งสมาชิกสภา Lok Sabha ในปีหน้า ด้านสื่อของเนปาล เตือนว่า การตัดสินใจห้ามส่งออกน้ำตาลของอินเดียอาจจะนำไปสู่การขึ้นราคาน้ำตาลในท้องถิ่น และการลักลอบนำเข้าน้ำตาลของเนปาล เนื่องจากปกติแล้วเนปาลจะนำเข้าน้ำตาลครึ่งหนึ่งจากอินเดีย โดยเนปาลมีความต้องการน้ำตาลอยู่ปีละ 300,000 ตัน

          วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการน้ำตาลประเทศอินเดีย รายงานว่า ผลผลิตน้ำตาลของรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ในปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 10.527 ล้านตัน เนื่องจากปริมาณอ้อยลดลงเหลือ 80 – 85 ตัน/เฮกตาร์ เทียบกับปริมาณตามปกติอยู่ที่ 115 ตัน/เฮกตาร์ เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่ดีนัก ด้านธนาคารโลกได้ลงนามในข้อตกลงกับทางสมาคมโรงงานน้ำตาลของอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) เพื่อช่วยเหลือในโครงการเครื่องจักรกล และโครงการชลประทานขนาดเล็ก

          วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 องค์กรกำกับดูแลน้ำตาลแห่งชาติฟิลิปปินส์ (SRA) รายงานว่า ปัจจุบันประเทศฟิลิปปินส์มีน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ในสต็อกประมาณ 385,000 ตัน เพิ่มขึ้น 132 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่สต็อกน้ำตาลทรายดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่จำนวน 476,000 ตัน เพิ่มขึ้น 19 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้วด้านประธาน SRA กล่าวว่า จะทำการพิจารณาเปิดการสอบสวนเพื่อประเมินว่าทำไมราคาน้ำตาลยังคงสูงอยู่ ในขณะที่สมาชิกผู้ร่างกฎหมาย แย้งว่า เป็นเพราะมีเพียงสามบริษัทเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าน้ำตาล ด้าน SRA รายงานว่า จะพยายามขายน้ำตาลที่ยึดได้จากการลักลอบนำเข้าทั้งหมด 10,000 ตัน ในราคาที่ต่ำ

           วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 อดีตประธาน องค์กรกำกับดูแลน้ำตาลแห่งชาติฟิลิปปินส์ (SRA) ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดราคาขายปลีกน้ำตาลของประเทศฟิลิปปินส์จึงพุ่งสูงขึ้นถึง 136 เปโซฟิลิปปินส์/กิโลกรัม (2.5 เหรียญสหรัฐฯ/กิโลกรัม) ทั้งที่ล่าสุดน้ำตาลที่สั่งให้มีการนำเข้าจำนวน 179,000 ตัน นั้นได้มาถึงแล้วก็ตาม ด้านสหพันธ์ผู้ผลิตน้ำตาลแห่งฟิลิปปินส์เรียกร้องให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ดำเนินการตรวจสอบสาเหตุที่ราคาน้ำตาลยังคงสูง ด้านประธาน SRA คนปัจจุบันกล่าวว่า เป้าหมายคือลดราคาน้ำตาลให้เหลือ 85 เปโซฟิลิปปินส์/กิโลกรัม (1.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) และเขาอ้างว่าฟิลิปปินส์มีน้ำตาลอยู่จำนวนมาก

สถานะกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไร

          สำหรับสถานะของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่าง ๆ ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ปรากฏว่าได้ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 208,876 ล็อต หรือประมาณ 10.61 ล้านตัน ซึ่งเป็นการถือตั๋วซื้อลดลง 9,031 ล็อต หรือประมาณ 458,774 ตัน เมื่อเทียบกับที่ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 217,907 ล็อต หรือประมาณ 11.07 ล้านตัน ในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น (25 เมษายน 2566)

วิจารณ์และความเห็น

          ราคาน้ำตาลตลาดโลกได้มีการปรับฐานหลังจากที่ขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอด และรวมถึงการสิ้นสุดการชื้อขายของสัญญาส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2566 โดยราคาได้ปรับลดลงมาหยุดที่แนวรับประมาณ 25.00 เซนต์ ก่อนที่จะปรับขึ้นไปอยู่ในระดับ 26.00 เซนต์ ได้ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เชื่อว่าทิศทางของราคาน้ำตาลยังคงที่จะสามารถปรับขึ้นได้อีก เนื่องจากปัจจัยพื้นฐาน และราคาน้ำตาลภายในของหลายประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศรัสเซีย ฟิลิปปินส์ และเม็กซิโก ซึ่ง 2 ประเทศหลังเป็นประเทศหลักที่มีการส่งน้ำตาลไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาฯ ซึ่งอาจจะส่งผลเป็นลูกโซ่มาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาฯ ให้จำเป็นที่จะต้องนำเข้าน้ำตาลจากตลาดโลกแทน ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นปัจจัยที่หนุนให้ราคาน้ำตาลตลาดโลกจะยังอยู่ในช่วงขาขึ้นได้ต่อไป

ฝ่ายตลาด บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด

8 พฤษภาคม 2566

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 1 – 5 พฤษภาคม 2566

Scroll to Top
Skip to content