สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 8 – 12 พฤษภาคม 2566
สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 8 – 12 พฤษภาคม 2566
ตลาดน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์คประจำสัปดาห์นี้ (8 – 12 พฤษภาคม 2566) ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 19 ของ ปี 2566 โดยราคาน้ำตาลทรายดิบในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวผันผวน และปิดตลาดครั้งสุดท้ายด้วยราคาที่ลดลง และเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงต้นสัปดาห์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์คปรับลดลงพอประมาณ ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กระตุ้นให้มีแรงขายเพื่อชำระบัญชีตั๋วซื้อ (Long Liquidation) ในตลาดน้ำตาลล่วงหน้า นอกจากนั้นราคาน้ำตาลอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการขายเพื่อประกันความเสี่ยงก่อนที่บราซิลจะเริ่มต้นฤดูกาลหีบใหม่
ต่อมาช่วงกลางสัปดาห์ราคาน้ำตาลเคลื่อนไหวถึงระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ครึ่ง และปิดเพิ่มขึ้นพอประมาณ ตลาดได้รับแรงหนุนจากความกังวลต่อผลผลิตน้ำตาลโลกที่ลดลง จากนั้นในช่วงท้ายสัปดาห์ราคาเคลื่อนไหวสูงขึ้นพอประมาณ ตามค่าเงินเรียลบราซิลที่แข็งค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนั้น ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศที่อาจจะทำให้ผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกลดลง โดยศูนย์พยากรณ์อากาศของสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม เป็น 94 % จากเดิม 75 % ในประมาณการเมื่อเดือนก่อน
ราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนกรกฎาคม 2566 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 25.59 – 26.74 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 26.22 เซนต์/ปอนด์ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน -0.10 เซนต์/ปอนด์ หรือ -0.38 % และราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนตุลาคม 2566 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 25.24 – 26.39 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 25.86 เซนต์/ปอนด์ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน -0.11 เซนต์/ปอนด์ หรือ -0.42 %
ตลาดน้ำตาลนิวยอร์ค หมายเลข 11 (เซนต์/ปอนด์)
เดือนกำหนดราคา | ราคาสูงสุด | ราคาต่ำสุด | ราคาปิดเมื่อวันที่
12 พฤษภาคม 2566 |
ราคาปิดเมื่อวันที่
5 พฤษภาคม 2566 |
เปลี่ยนแปลง
เพิ่ม (+), ลด (-) |
|
กรกฎาคม | 2566 | 26.74 | 25.59 | 26.22 | 26.32 | -0.10 |
ตุลาคม | 2566 | 26.39 | 25.24 | 25.86 | 25.97 | -0.11 |
มีนาคม | 2567 | 25.94 | 24.85 | 25.43 | 25.53 | -0.10 |
พฤษภาคม | 2567 | 24.12 | 23.27 | 23.73 | 23.76 | -0.03 |
กรกฎาคม | 2567 | 23.00 | 22.31 | 22.70 | 22.65 | +0.05 |
ตุลาคม | 2567 | 22.14 | 21.51 | 21.87 | 21.78 | +0.09 |
มีนาคม | 2568 | 21.66 | 20.99 | 21.41 | 21.28 | +0.13 |
พฤษภาคม | 2568 | 20.45 | 19.71 | 20.21 | 19.99 | +0.22 |
กรกฎาคม | 2568 | 19.65 | 18.82 | 19.42 | 19.14 | +0.28 |
ตุลาคม | 2568 | 19.28 | 18.40 | 19.09 | 18.70 | +0.39 |
มีนาคม | 2569 | 19.09 | 18.15 | 18.95 | 18.47 | +0.48 |
*หมายเหตุ วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ตลาดลอนดอนปิดทำการเนื่องในวันหยุดธนาคาร (Bank Holiday)
ข่าวที่สำคัญ
วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดซื้อขายล่วงหน้าปรับตัวลดลงเล็กน้อยในวันที่ 11 พฤษภาคม แม้ว่าผลผลิตน้ำตาลในภาคกลาง – ใต้ของประเทศบราซิลจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็ตาม โดยแหล่งข่าวในตลาด อธิบายว่า การหีบของบราซิลกำลังคืบหน้าไปได้ด้วยดีเมื่อพิจารณาจากการที่ต้องสูญเสียวันดำเนินงานไป 10 วัน ด้วยผลกระทบจากฝน ในขณะที่การดำเนินการนั้นคาดว่าจะเริ่มปรับตัวคืบหน้าเร็วขึ้นเมื่อมีสภาพอากาศที่ดีขึ้น ด้านผลผลิตน้ำตาลของภาคกลาง – ใต้บราซิลในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 43.7 % จากปีที่แล้ว อยู่ที่ 1.531 ล้านตัน เนื่องจากสัดส่วนอ้อยที่ใช้ผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นจาก 35.3 % ในปีที่แล้ว เป็น 41.6 % ด้าน JSG Commodities ตั้งข้อสังเกตว่า ราคาน้ำตาลโลกยังคงมีความเปราะบางต่อปัจจัยด้านการผลิตของบราซิล ด้าน Marex Spectron กล่าวว่า ในระยะยาวนั้นตลาดน้ำตาลโลกอาจจะเผชิญกับภาวะน้ำตาลโลกส่วนขาด (Deficit) ที่ 6 – 7 ล้านตัน ในอีกสามปีข้างหน้า
วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ศูนย์พยากรณ์อากาศองค์การบริหารมหาสมุทร และชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมว่า ขณะนี้มีโอกาส 80 % ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม และมีโอกาสถึง 90 % ที่ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) จะเกิดขึ้นยาวไปจนถึงฤดูหนาว และได้ระบุเพิ่มเติมว่า เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่มีกำลังอ่อนในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม อยู่ที่ 80 % และโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่มีกำลังรุนแรงอยู่ที่ 55 % ด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานเสริมว่า ในทวีปเอเชียการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) นั้นจะส่งผลกระทบทำให้ฝนที่ตกในช่วงฤดูมรสุมต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่อย่างไรก็ตามมรสุมฝนจะยังคงเกิดขึ้นในช่วงเวลาตามปกติ
วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 Czarnikow ปรับคาดการณ์ปริมาณน้ำตาลทั่วโลกส่วนขาดใน ปี 2566/2567 มาอยู่ที่ 100,000 ตัน เทียบกับที่คาดการณ์ในเดือนที่แล้วว่าจะเกินดุลที่ 2.7 ล้านตัน เนื่องมาจากผลผลิตน้ำตาลของไทยที่ลดลง ด้าน Rabobank เห็นด้วยว่าอุปทานน้ำตาลนั้นตึงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากปัญหาการขนส่งที่มีข้อจำกัดส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลของบราซิลในไตรมาสที่สอง และไตรมาสที่สาม
วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ผู้สังเกตการณ์ตลาด คาดว่า ในขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์คน่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 25.0 – 26.5 เซนต์/ปอนด์ เนื่องจากเรื่องการขนส่งของบราซิลที่มีอย่างจำกัดน่าจะสนับสนุนราคาน้ำตาลในขณะที่ข่าวส่วนใหญ่เกี่ยวกับการที่ราคาน้ำตาลมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นนั้นได้มีการสะท้อนออกมาผ่านราคาน้ำตาลในขณะนี้แล้ว ด้านกองทุนได้เริ่มมีการขายเพื่อชำระบัญชีตั๋วซื้อบางส่วนแล้ว และไม่น่าจะทำการซื้อเพิ่มในระยะนี้
วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 นักวิเคราะห์จาก Czarnikow ตั้งข้อสังเกตว่า ราคาน้ำตาลในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่พุ่งสูงขึ้นมากในปี 2552/2553 เริ่มต้นโดยมีเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันกับที่เกิดขึ้นกับตลาดในปัจจุบัน ได้แก่ ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) และปัญหาด้านการขนส่งของบราซิล อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาราคาน้ำตาลได้ลดลงอย่างกระทันหันจาก 30 เซนต์/ปอนด์ เป็น 13 เซนต์/ปอนด์ ในปีเดียวกัน ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 36 เซนต์/ปอนด์ อีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ความผันผวนจึงอาจเกิดขึ้นได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ราคาน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงต่อไปอีกสักระยะหนึ่งเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างด้านอุปทานน้ำตาลโลก
วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ผู้ผลิตน้ำตาลใช้ประโยชน์จากการที่ราคาน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นทำการขายน้ำตาลล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงเพิ่มเติมอีก ผู้ซื้อยังคงเข้าซื้อน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกันมีรายงานว่า จีนทำการซื้อน้ำตาลบางส่วนในช่วงที่ราคาเริ่มปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นการสนับสนุนข้อโต้แย้งเรื่องของอุปสงค์น้ำตาลที่แข็งแกร่ง และอุปทานน้ำตาลที่จำกัด ด้าน Czarnikow ตั้งข้อสังเกตว่า ค่าพรีเมี่ยมของน้ำตาลทรายขาวเดือนใกล้นั้นอาจสูงกว่า 130 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน เล็กน้อย และอาจต่ำกว่านั้นอีกเล็กน้อยสำหรับสัญญาซื้อขายเดือนไกล และได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า โรงงานละลายน้ำตาลต้องการราคาที่ประมาณ 130 – 145 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน จึงจะสามารถดำเนินการผลิตได้แบบมีกำไร
วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 เกษตรกรชาวไร่อ้อยของประเทศออสเตรเลียยินดีกับข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศของออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักรที่จะเริ่มต้นบังคับใช้ในวันที่ 31 พฤษภาคม โดยจะส่งผลให้มีการอนุญาตในการนำเข้าน้ำตาลจากออสเตรเลียเข้าสู่สหราชอาณาจักร 80,000 ตัน แบบปลอดภาษี และมีรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้น้ำตาลที่จะมีนำเข้ามานั้นเริ่มได้รับความต้องการจากผู้ซื้อในสหราชอาณาจักรแล้ว
อเมริกาใต้
วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ประธานของ Petrobras กล่าวว่า นโยบายการกำหนดราคาใหม่น่าจะทำให้ราคาเชื้อเพลิงในประเทศของประเทศบราซิลลดลงอย่างมาก และกล่าวเสริมว่า สูตรการคำนวณราคาเชื้อเพลิงใหม่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาออกแบบ และจะดำเนินการอย่างรอบคอบ ด้าน Abicom รายงานว่า Petrobras ไม่ได้มีการปรับอัตราราคาเชื้อเพลิงเป็นเวลา 72 วัน และราคาน้ำมันของบราซิลสูงกว่าอัตราน้ำมันโลกอยู่ที่ 13 % ณ วันที่ 10 พฤษภาคม
วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 UNICA ของประเทศบราซิล รายงานว่า โรงงานในภาคกลาง – ใต้ของบราซิลหีบอ้อยได้ 21 ล้านตัน ในช่วงครึ่งหลังของเดือนเมษายน ซึ่งลดลง 12.54 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดย UNICA ระบุว่าการที่ต้องสูญเสียวันในการดำเนินงานไป 10 วัน นั้นเป็นเพราะการที่มีฝนตกในเดือนเมษายน ขณะที่โรงงาน 209 โรง เปิดดำเนินการในช่วงครึ่งหลังของเดือนเมษายน เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วมีโรงงานเปิดดำเนินการอยู่ที่ 184 แห่ง โดยในภาคกลาง – ใต้ของบราซิลมีผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น 5.85 % เป็น 988,970 ตัน และการผลิตเอทานอลอยู่ที่ 977.91 ล้านลิตร ซึ่งลดลง 11.19 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้านผลการสำรวจโดย S&P Global Commodity Insights คาดการณ์ว่า ในภาคกลาง – ใต้ของบราซิลผลผลิตน่าจะมากขึ้นโดยน่าจะหีบอ้อยได้ที่ 25.59 ล้านตัน และน่าจะมีผลผลิตน้ำตาลที่ 1.24 ล้านตัน โดยคาดว่าในภาคกลาง – ใต้ของบราซิลน่าจะมีฝนน้อยลงในช่วงครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่จะสูญเสียวันดำเนินงานอย่างน้อย 2 วัน ในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคม
วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 Novacana รายงานว่า ตลาดน้ำตาลโลก คาดการณ์ว่า ในปี 2566/2567 ในภาคกลาง – ใต้ของบราซิลน่าจะหีบอ้อยได้ถึง 591 ล้านตัน โดยมีการประมาณการไว้ระหว่าง 573 ล้านตัน ถึง 600 ล้านตัน ด้านสถาบัน hEDGEpoint Global เตือนว่า ยังคงมีความกังวลว่าผลกระทบจากปรากฏการณ์ เอลนีโญ (El Nino) ในภาคกลาง – ใต้ของบราซิลอาจจะนำไปสู่ภาวะสภาพอากาศที่เปียกชื้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเก็บเกี่ยว และทำให้น้ำตาลในอ้อยเจือจางลง
วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ผู้สังเกตการณ์ตลาดของประเทศบราซิล รายงานว่า มีการคาดการณ์สภาพอากาศที่แห้งในอีก 10 วันข้างหน้าน่าจะช่วยให้การเก็บเกี่ยวของภาคกลาง – ใต้ของบราซิล ดำเนินการได้เต็มกำลังมากขึ้น ด้าน Sindacucar-AL รายงานว่า โรงงานในรัฐอะลาโกอาส (Alagoas) หีบอ้อยได้อยู่ที่ 20.3 ล้านตัน ณ สิ้นเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 12 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งมีการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น 7 % หรือมากกว่า 1.5 ล้านตัน และ เอทานอลเพิ่มขึ้น 4 % หรือ 465 ล้านลิตร
วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ANP รายงานข้อมูลว่า ราคาขายปลีกไฮดรัสประเทศบราซิลอยู่ที่ 75.2 % ของราคาน้ำมัน ณ วันที่ 6 พฤษภาคม เพิ่มขึ้นจาก 74.4 % ในสัปดาห์ก่อน ด้านสถาบัน Cepea ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อมองย้อนกลับไปช่วงเดือนเมษายน 2565 – มีนาคม 2566 ราคาแอนไฮดรัสในรัฐอะลาโกอาส (Alagoas) รัฐเปร์นัมบูกู (Pernambuco) และรัฐปาไรบา (Paraiba) ลดลง 17 – 18 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้านราคาไฮดรัสในรัฐเหล่านี้ลดลง 16 – 18 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 สำนักงานเลขาธิการการค้าต่างประเทศ (Secex) ของประเทศบราซิลรายงานว่า บราซิลได้มีการส่งออกน้ำตาลจำนวน 434,000 ตัน ในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม 2566 โดยมีอัตราการนำน้ำตาลลงเรือต่อวันที่สูงขึ้นกว่าเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วที่ 52 % ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วมีการส่งออกน้ำตาลทั้งหมดอยู่ที่ 1.57 ล้านตัน ด้านท่าเรือรัฐปารานา (Parana) ตั้งข้อสังเกตว่า มีการส่งออกมากขึ้นผ่านเส้นทางเดินเรือทางตะวันออกของท่าเรือเมืองปารานากัว (Paranagua) ด้านท่าเรือเมืองเรซีฟี (Recife) ได้เริ่มส่งออกแอลกอฮอล์เป็นครั้งแรก โดยจัดการขนส่งสินค้าโดย JB Group ซึ่งมักจะส่งออกผ่านท่าเรือ Capixaba
วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 StoneX คาดการณ์ว่า ผลผลิตน้ำตาลในภาคกลาง – ใต้ของประเทศบราซิล ในปี 2566/2567 อยู่ที่ 37.2 ล้านตัน และการผลิตเอทานอล ซึ่งรวมถึงเอทานอลที่ผลิตจากข้าวโพดด้วยอยู่ที่ 31.5 พันล้านลิตร และคาดว่าสัดส่วนของอ้อยที่นำไปผลิตเป็นน้ำตาลอยู่ที่ 47 % เมื่อเปรียบเทียบกับทาง Datagro ที่ประมาณการว่า สัดส่วนของอ้อยที่นำไปผลิตเป็นน้ำตาลอยู่ที่ 48.2 % ส่งผลให้มีน้ำตาล 38.2 ล้านตัน และเอทานอลอยู่ที่ 30.71 พันล้านลิตร ซึ่งรวมถึงเอทานอลที่ผลิตจากข้าวโพด
วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 รายงานผลผลิตน้ำตาลและอ้อยเข้าหีบภาคกลาง – ใต้บราซิล ของ Unica ฤดูการผลิตปี 2565/2566 (เมษายน – มีนาคม) ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ดังนี้
รายการ | ในช่วงครึ่งหลังเดือนเมษายน 2566 | ยอดสะสม | ||||
ปี | ปี | เปลี่ยนแปลง | ปี | ปี | เปลี่ยนแปลง | |
2565/66 | 2566/67 | (%) | 2565/66 | 2566/67 | (%) | |
ผลผลิตอ้อย (พันตัน) | 24,015 | 21,003 | -12.54 | 29,303 | 34,818 | +18.82 |
ผลผลิตน้ำตาล (พันตัน) | 934 | 989 | 5.85 | 1,066 | 1,531 | +43.65 |
ผลผลิตเอทานอล (ล้านลิตร) | 1,101 | 978 | -11.19 | 1,495 | 1,756 | +17.45 |
ATR (กก/ตันอ้อย) | 110.22 | 112.79 | 2.34 | 108.13 | 110.88 | +2.54 |
สัดส่วนอ้อยนำไปผลิตน้ำตาล (%) | 37.05 | 43.81 | 18.25 | 35.3 | 41.61 | +17.88 |
สัดส่วนอ้อยนำไปผลิตเอทานอล (%) | 62.95 | 56.19 | -10.74 | 64.7 | 58.39 | -9.75 |
กก. น้ำตาลต่อตันอ้อย | 38.90 | 47.09 | 21.03 | 36.37 | 43.96 | +20.89 |
ยุโรป
วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 Czarnikow รายงานว่า ประเทศเยอรมนี และสหราชอาณาจักรประสบปัญหาฝนตกสูงกว่าปกติ รวมทั้งบางพื้นที่ของประเทศฝรั่งเศส และประเทศโปแลนด์ ซึ่งทำให้การดำเนินการหว่านเมล็ดบีทล่าช้า ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ผลผลิตบีทอาจจะมีความเสี่ยงต่อเพลี้ย และโรคเกี่ยวกับพืช รวมถึงการหว่านเมล็ดที่ล่าช้าอาจเสี่ยงต่อปริมาณผลผลิตที่ลดลง ด้านสถาบัน IRBAB เตือนเกษตรกรในประเทศเบลเยียมว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพลี้ยได้เริ่มมีการแพร่กระจายไปยังพื้นที่เพาะปลูกต่างๆ
เอเชีย
วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) คาดการณ์ว่า ประเทศอินเดียจะส่งออกน้ำตาลดิบจำนวน 7 ล้านตัน ในปี 2566/2567 เพิ่มขึ้นจากจำนวน 6.5 ล้านตัน ในปี 2565/2566 โดยอินเดียมีการผลิตน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 33.6 ล้านตัน ด้านสถาบัน hEDGEpoint ตั้งข้อสังเกตว่า ขึ้นอยู่กับผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ต่อมรสุมในฤดูฝนของอินเดียว่าจะมีผลอย่างไร ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทำให้ปริมาณความหวานของน้ำตาลในอ้อยลดลง หรืออาจส่งผลในแง่บวกโดยที่จะทำให้ปริมาณความหวานของน้ำตาลในอ้อยเพิ่มขึ้นก็ได้ และมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า อย่างไรก็ตาม มรสุมฝนที่ลดลงน่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อปริมาณอ้อยในฤดูกาล 2567/2568 ซึ่งอาจส่งผลกระทบมากกว่าในปี 2566/2567
วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 สมาพันธ์สหกรณ์น้ำตาลแห่งชาติ (NFCSF) ของประเทศอินเดีย รายงานว่า อินเดียผลิตน้ำตาลได้จำนวน 32.03 ล้านตัน ณ สิ้นเดือนเมษายน และคาดว่าจะสิ้นสุดฤดูกาลหีบในสิ้นเดือนพฤษภาคม โดยทาง NFCSF ได้ทำการปรับลดประมาณการผลิตของอินเดียในปี 2565/2566 เหลือ 32.7 ล้านตัน ลดลงจาก 35.5 ล้านตัน ที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ด้านเจ้าของโรงงานในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) เตือนว่า แผนในการเพิ่มกำลังการผลิตจะไม่สัมพันธ์กันกับการเติบโตของอ้อย โดยรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการหีบอ้อยขึ้นเป็น 1.066 ล้านตัน/วัน ในปี 2566/2567 เทียบกับ 882,550 ตัน/วัน ในปีนี้ ในขณะที่ปัญหาอ้อยไม่เพียงพอจะทำให้ฤดูกาลผลิตสั้นลง และทำให้ทางโรงงานมีกำไรลดลง
วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ราคาขายปลีกน้ำตาลในประเทศอินเดียพุ่งขึ้นแตะราคา 42.30 รูปีอินเดีย/กิโลกรัม (0.52 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม เพิ่มขึ้นจากราคา 41.05 รูปีอินเดีย/กิโลกรัม (0.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) เมื่อวันที่ 2 เมษายน เนื่องจากการเก็บเกี่ยวไม่เป็นไปตามคาด และนักวิเคราะห์เตือนว่าราคาน้ำตาลอาจสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยราคาน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มบริษัทน้ำตาลซึ่งทาง Kotak Mahindra AMC กล่าวว่า อย่างไรก็ตามรัฐบาลอินเดียคาดการณ์ว่าจะเพิ่มโควตาน้ำตาลในเร็วๆ นี้ เพื่อกระตุ้นอุปทาน และควบคุมราคาน้ำตาลของอินเดีย
วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 สมาคมน้ำตาลของประเทศจีน รายงานว่า จีนมีผลผลิตน้ำตาลที่ 8.96 ล้านตัน ณ สิ้นเดือนเมษายน ซึ่งลดลง 390,000 ตัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยยอดขายน้ำตาลของโรงงานเพิ่มขึ้น 710,000 ตัน เป็น 5.15 ล้านตัน โดยขณะนี้มีเพียงไม่กี่โรงงานที่ยังคงเปิดดำเนินการอยู่ ด้านนักวิเคราะห์ท้องถิ่น ตั้งข้อสังเกตว่า ปริมาณผลผลิตน้ำตาลที่ลดลงนั้นสูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ และราคาน้ำตาลหน้าโรงงานของจีนนั้นสูงกว่าราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้า โดยในมณฑลยูนนาน (Yunnan) ทางบริษัท Yuanyang Yingmao ช่วยเกษตรกรรับมือกับภัยแล้งด้วยการปลูกอ้อยทดแทนใหม่ลงในพื้นที่บางส่วน และออกมาตรการในการรับมือภัยแล้ง
วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ประเทศจีนราคาซื้อขายน้ำตาลหน้าโรงงานในเขตกว่างซี (Guangxi) ณ ขณะนี้อยู่ที่ราคาสูงกว่า 7,000 หยวนจีน/ตัน (1,012 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน) ด้านสื่อท้องถิ่น รายงานว่า น้ำตาลของบริษัทเอกชน Shandong Xingguang Sugar Industry ที่ผลิตจากน้ำตาลทรายดิบที่มีการนำเข้าราคาอยู่ที่ 7,350 หยวนจีน/ตัน (1,063 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน) โดยเมื่อเปรียบเทียบกันต้นทุนของราคาในการนำเข้าน้ำตาลจากบราซิล และไทยอยู่ที่สูงกว่า 8,000 หยวนจีน/ตัน (1,157 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน) ซึ่งน่าจะส่งผลให้การนำเข้าน้ำตาลในเดือนเมษายนลดลง
วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 สมาคมน้ำตาลของประเทศจีน รายงานว่า โรงงานน้ำตาลในเขตกว่างซี (Guangxi) ขายน้ำตาลได้ 372,000 ตัน ในเดือนเมษายน ลดลง 90,000 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว โดยในเดือนเมษายนโรงงานน้ำตาลในมณฑลยูนนาน (Yunnan) ขายน้ำตาลได้เพิ่มขึ้นจำนวน 72,000 ตัน เป็น 237,000 ตัน ในช่วงสิ้นเดือนเมษายนเขตกว่างซี (Guangxi) ปิดหีบโดยมีผลผลิตน้ำตาลที่ 5.27 ล้านตัน ซึ่งลดลง 849,000 ตัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ยอดขายสะสมของโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น 282,000 ตัน เป็น 3 ล้านตัน โดยส่งผลให้สต็อกน้ำตาลของจีนลดลงจำนวน 1.1 ล้านตัน เหลืออยู่ที่ 2.2 ล้านตัน ด้านมณฑลยูนนาน (Yunnan) ผลิตได้ทั้งหมดที่ 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.7 ล้านตัน ในปีที่แล้ว ทำให้สต็อกน้ำตาลของบริษัทเอกชนในมณฑลยูนนาน (Yunnan) เพิ่มขึ้นจำนวน 200,000 ตัน เป็น 1.1 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยสต็อกน้ำตาล ในหนานหนิง (Nanning) กุ้ยกัง (Guigang) ฉินโจว (Qinzhou) นั้นมีต่ำกว่าสต็อกน้ำตาลในพื้นที่อื่นๆ และลดลงต่ำกว่าปีที่แล้ว
วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 สำนักงานอาหารแห่งชาติของประเทศอินโดนีเชีย รายงานว่า อินโดนีเซียน่าจะมีผลผลิตน้ำตาลที่ 2.6 ล้านตัน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 2.4 ล้านตัน ในปี 2565 ซึ่งส่งผลให้การนำเข้าน้ำตาลของอินโดนีเชียน่าจะน้อยลงกว่าปีที่แล้วแต่มากกว่า 1 ล้านตัน ด้านสมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำตาล (Ikagi) แย้งว่าผลผลิตน้ำตาลน่าจะมากสุดที่ 2.55 ล้านตัน ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศวิทยา และธรณีฟิสิกส์ (BMKG) คาดการณ์ว่า น่าจะเกิดภาวะสภาพอากาศที่แห้งแล้งในอินโดนีเชีย
สถานะกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไร
สำหรับสถานะของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่าง ๆ ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ปรากฏว่าได้ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 218,289 ล็อต หรือประมาณ 11.09 ล้านตัน ซึ่งเป็นการถือตั๋วซื้อเพิ่มขึ้น 9,413 ล็อต หรือประมาณ 478,180 ตัน เมื่อเทียบกับที่ถือตั๋วซื้อน้ำตาลสุทธิ (Net Long) จำนวน 208,876 ล็อต หรือประมาณ 10.61 ล้านตัน ในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น (2 พฤษภาคม 2566)
วิจารณ์และความเห็น
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำตาลตลาดโลกภาพรวมถือว่าเคลื่อนไหวอยู่ในระดับทรงตัว เชื่อว่าตลาดกำลังปรับตัวกับตัวเลขต่างๆทางเทคนิคหลังจากที่ราคาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และมีการรอดูปัจจัยเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องอีกครั้งว่าจะสามารถกำหนดทิศทาง และกรอบการเคลื่อนไหวให้กับน้ำตาลอีกครั้ง โดยทุกคนยังคงจับตามองไปที่สภาพอากาศในประเทศบราซิลที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตน้ำตาลของภาคกลาง – ใต้ในช่วงใกล้ และมีการมองถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่จะทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยในเอเชียมีฝนตกน้อย ซึ่งจะทำให้กระทบถึงปริมาณอ้อยที่จะสามารถลดลงได้ และส่งผลไปถึงปริมาณน้ำตาลโลกส่วนขาด (Deficit) ที่จะสามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องในปี 2566/2567
ฝ่ายตลาด
บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด
15 พฤษภาคม 2566