วันที่ 15 กันยายน 2565 สอน. มอบ 213 รางวัล เชิดชูเกียรติเกษตรกรชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี 2564 – 2565

     กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จัดงานพิธีมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น
ประจำปี
2564 – 2565 เพื่อเชิดชูเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้บริหารโรงงานน้ำตาล ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างสม่ำเสมอ โดยในปี 2564 – 2565 ได้คัดเลือกเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ที่มีผลงานการ
พัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตดีเด่น รวมทั้งสิ้น
213 รางวัล เพื่อเข้ารับถ้วยเกียรติยศและโล่ประกาศเกียรติคุณจากกระทรวงอุตสาหกรรม

    นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักมีหน้าที่
กำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มีความมุ่งมั่นตั้งใจมาอย่างต่อเนื่องที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้มีความเสถียรภาพ แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศและปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและลดต้นทุนการผลิตในไร่อ้อยของเกษตรกรแล้ว การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตามนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (
Bio Economy) ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนไปสู่การขับเคลื่อนระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการนำอ้อยไปสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม และสร้างเสถียรภาพของราคาอ้อยให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมีการปรับโครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยการส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างจริงจัง และการส่งเสริมให้นำน้ำตาลไปสร้างมูลค่าเพิ่มโดยผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำตาลทรายอีกทางหนึ่ง รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมยกระดับเป็นเกษตรปลอดการเผา

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาประสิทธิภาพ
การผลิตอ้อยของประเทศ เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติที่ได้วางเป้าหมายการสร้างความสามารถในการแข่งขันภายใน
20 ปี ประเทศไทยจะมีเศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น การเกษตรเป็นเกษตรอัจฉริยะที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและยกระดับการผลิตให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย โดยในปีที่ผ่าน ๆ มาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่เกิดจากการเผาอ้อยในช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวอ้อยของเกษตรกรชาวไร่อ้อย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีความพยายามในการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ผลักดันมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างจริงจัง โดยได้วางแนวทางบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น และในปี 2565 ถือเป็นปีแห่งความท้าทายในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย อุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมไปถึงอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ให้มีเสถียรภาพสร้างความเป็นธรรม รักษาผลประโยชน์ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น และยังคงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในฤดูการผลิตปี 2565/2566 จะหาแนวทางเพื่อกำหนดมาตรการจูงใจที่คุ้มค่าเพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด โดยการแก้ไขฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวไร่อ้อยถือเป็นกลุ่มเกษตรกรกลุ่มแรกที่ได้ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันรณรงค์แก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างจริงจังมาโดยตลอด

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับพิธีมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี 2564 – 2565 เป็นเสมือนการยืนยันถึงความรู้ ความสามารถ ความวิริยะอุตสาหะในการพัฒนาตนเอง และการประกอบธุรกิจ เพื่อสรรสร้างสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยอย่างแท้จริง รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีการร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมนี้ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป โดยใน 2564 – 2565 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้คัดเลือกเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีผลงานการพัฒนาด้านอ้อยดีเด่น และโรงงานน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด รวม 213 รางวัล ประกอบด้วย

รางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่น

    ด้านการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต จำนวน 32 รางวัล 
    ด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ จำนวน 13 รางวัล
รางวัลอ้อยรักษ์โลก  จำนวน 16 รางวัล
รางวัลอ้อยรักษ์โลกยอดเยี่ยม  จำนวน 1 รางวัล
รางวัลชาวไร่อ้อยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา จำนวน 12 รางวัล
รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีผลผลิตและคุณภาพอ้อยดีเด่น จำนวน 12 รางวัล

รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพ

ด้านการจัดการพันธุ์อ้อย   จำนวน 12 รางวัล
ด้านการจัดการน้ำ   จำนวน 12 รางวัล
ด้านการจัดการดินและปุ๋ย   จำนวน 11 รางวัล

รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 12 รางวัล
รางวัลชาวไร่อ้อยตัวอย่าง จำนวน 8 รางวัล
รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นของสถาบันชาวไร่อ้อย จำนวน 72 รางวัล   

    โดยการมอบรางวัลดังกล่าว จะเป็นส่วนสำคัญที่สร้างขวัญกำลังใจ และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพของเกษตรกรชาวไร่อ้อยและ
โรงงานน้ำตาล ให้มีผลผลิตที่ดี รักษามาตรฐาน และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมแข่งขันในเวทีสากลต่อไป

                                 

Scroll to Top
Skip to content