บีโอไอโชว์ไตรมาสแรกลงทุนโต 14% กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครองแชมป์
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การลงทุนในช่วงไตรมาสแรกปี 2564 (มกราคม-มีนาคม) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 401 โครงการ หรือเพิ่มขึ้น14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและ มีมูลค่าลงทุนรวม 123,360 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 74,830 ล้านบาทซึ่ง 2 อันดับแรกที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุดได้แก่
1. อุตสาหกรรมการแพทย์ มูลค่า 18,430 ล้านบาทเติบโตขึ้นมากกว่า 100 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
2. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 17,410 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์เติบโตอย่างต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด ทำให้ความต้องการสินค้าในหมวดการแพทย์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการขยายการลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอุตสาหกรรมในกลุ่มS-Curve ขยายตัวต่อเนื่องจากผลของ Work fromHome ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการทำงานในยุคเชื้อโควิด-19 ระบาด และการย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ยังมีอย่างต่อเนื่อง” นางสาวดวงใจ กล่าว
ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม 191 โครงการ มูลค่าลงทุน 61,979 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 143% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยอันดับประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และสิงคโปร์ ซึ่งมีขนาดการลงทุนใกล้เคียงกันทั้งนี้ การลงทุนของเกาหลีใต้ปรับสูงขึ้นในไตรมาสนี้เนื่องจากมีการร่วมทุนในโครงการขนาดใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์
สำหรับพื้นที่เป้าหมายที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมมูลค่า 64,410 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็นระยอง มูลค่าลงทุน 29,430ล้านบาท, ชลบุรี 24,970 ล้านบาท และฉะเชิงเทรา 10,010 ล้านบาท
นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาก โดยมี 39 โครงการ เงินลงทุน 8,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนแบ่งเป็นมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านประหยัดพลังงาน พลังงานทดแทน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม21 โครงการ เงินลงทุน 5,630 ล้านบาท มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร 16 โครงการ เงินลงทุน 2,470 ล้านบาทและมาตรการวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ 2 โครงการ เงินลงทุน 300 ล้านบาท
จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 5 พฤษภาคม 2564