ราคาซื้อขายน้ำตาล ตลาดล่วงหน้า




รง.น้ำตาลแห่ยื่นตั้ง-ขยาย
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว. อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโรงงานยื่นเรื่องขอโยกย้าย, ขยาย และ ตั้งโรงงานน้ำตาลเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาเรื่องการโยกย้าย และขยายโรงงานน้ำตาล พิจารณาตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องรอให้การศึกษาปรับโครงสร้างระบบอ้อยและน้ำตาลทรายเสร็จก่อน เพราะจะช้าเกินไป เนื่องจากตอนนี้ในบางพื้นที่มีปริมาณอ้อยมาก โรงงานที่มีอยู่ผลิตไม่ทัน
“ตั้งแต่มีการอนุมัติไปในสมัยรัฐมนตรีคนก่อน ก็ยังไม่มีการอนุมัติเพิ่มอีกเลย และตอนนี้ก็มีคนยื่นเรื่องเข้ามาเยอะจึงไม่จำเป็นต้องรอเรื่องการปรับโครงสร้างน้ำตาลใหม่ ใครที่ขอเข้ามาแล้วมีเหตุผลที่สมควรก็ต้องเร่งพิจารณา”
นายจีระพงษ์ ทันวงศ์ษา รองประธานสหกรณ์ชาวไร่อ้อย จังหวัดเลย กล่าวว่า ในส่วนของชาวไร่ต้องการให้มีการเปิดโรงงานน้ำตาลเพิ่ม เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดเลยมีอ้อยมากแต่ไม่มีโรงงานเข้าไปตั้งอยู่เลย ทำให้ต้องขนอ้อยเข้าโรงงานที่จังหวัดชัยภูมิระยะทางกว่า 130 กิโลเมตร ซึ่งเป็นภาระค่าขนส่งของชาวไร่ รวมถึงต้องเอาอ้อยไปเข้าคิวเป็นเวลานาน กระทบต่อการนำเงินไปหมุนเวียนอย่างมาก
สำหรับปริมาณอ้อยในจังหวัดเลยมีมากพอที่จะเปิดโรงงานใหม่ได้ โดยในฤดูกาลผลิตนี้มีปริมาณอ้อยกว่า 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 120% มีพื้นที่ปลูกอ้อย 2 แสนไร่ เพราะราคาอ้อยดีคนแห่มาปลูกอ้อยมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย จึงไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาล
นายณัฏฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการบริหารบริษัทเกษตรไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล กลุ่มน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ กล่าวว่า จากการที่มีตัวแทนชาวไร่อ้อยไปพบนายชัยวุฒิ เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา เพราะชาวไร่อ้อยต้องการให้โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ย้ายไปตั้งอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย จากเดิมที่อยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพราะว่าที่ผ่านมาต้องจ่ายค่าขนส่งอ้อยจากสุโขทัยไปยังโรงงานที่อุตรดิตถ์มากกว่า 100 ล้านบาทต่อฤดูกาลผลิต โดยโรงงานที่จังหวัดอุตรดิตถ์หีบอ้อยปีละ 2 ล้านตัน อ้อย 90% มาจากสุโขทัย หรือคิดเป็น 1.6-1.8 ล้านตัน ที่ต้องขนมาจากสุโขทัย
ทั้งนี้ ทางไทยเอกลักษณ์ได้ยื่นเรื่องขอย้ายโรงงานไปนานกว่า 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณา โดยนายชัยวุฒิ ก็รับจะเร่งพิจารณาให้ส่วนการย้ายโรงงานหรือตั้งโรงงานใหม่ในภาพรวมที่มีการยื่นเรื่องเข้ามาเยอะ เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำตาลมีแนวโน้มที่ดี ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องพิจารณาเรื่องการเพิ่มผลผลิตอ้อยควบคู่ไปด้วย รวมถึงการใช้ระบบน้ำ ให้มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12-13 ตันต่อไร่ จากปัจจุบันอยู่ที่ 9.5 ตันต่อไร่ เพื่อป้องกันปัญหาการแย่งอ้อยในอนาคต.
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554